การออกแบบเมืองที่ดี นอกจากถนนหนทางที่พอเหมาะแล้ว พื้นที่สีเขียวก็มีความจำเป็นอย่างมาก มันช่วยลดความเครียดให้กับชาวเมือง เพิ่มสถานที่นัดพบมากกว่าห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะเป็นมากกว่าปอดของเมือง แต่คือสถานที่กระตุ้นสถานที่นัดพบ สร้างปฏิสัมพันธ์ และให้คนเมืองมีความรัก มีสุขภาพจิตที่ดีอย่างมีประสิทธิภาพ
ในพื้นที่สีเขียวกลางกรุง ‘สวนเบญจกิติ’ เปิดให้สาธารณชนเข้าชมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 บนเนื้อที่รวมประมาณ 453 ไร่ ซึ่งแต่เดิมคือที่ตั้งของโรงงานยาสูบ เมื่อโรงงานยาสูบย้ายออกไป จึงทำการปรับปรุงเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพฯ ซึ่งมีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่ามาตรฐานของ WHO ซึ่งกำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน จึงเป็นวาระที่ดีที่มีสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นอีกแห่ง ในพื้นที่กว้างใหญ่นี้มีพื้นที่สาธารณะเป็นสถาปัตยกรรมขนาดเล็กเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ชาวกรุง
งานนี้ HAS design and research รับบทเป็นสถาปนิกออกแบบ ‘หอชมธรรมชาติสวนเบญจกิติ’ ด้วยการสร้างพื้นที่ขนาด 120 ตารางเมตร ประกอบด้วยพื้นชั้น 1 และ 2 โดยชั้น 2 จะเป็นหอชมธรรมชาติ สามารถขึ้นไปได้ด้วยบันไดด้านหน้า พื้นที่ชั้น 1 เป็นเหมือนศาลาเอนกประสงค์ รองรับทั้งกิจกรรมที่มาเป็นครอบครัว โยคะ ออกกำลังกาย พร้อมกับการฉีดละอองน้ำเพื่อสร้างบรรยากาศแบบพื้นที่ชุ่มน้ำและลดความร้อนไปด้วย การออกแบบได้แรงบันดาลใจจากป่าในเกาะพื้นที่ชุ่มน้ำ เปลือกอาคารถูกหุ้มด้วยแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ทาสีเขียวในเฉดต่างๆ 4 ระดับ ชวนสื่อได้ถึงสีเขียวหลากหลายของใบไม้ในป่า ตัวหอชมธรรมชาติตั้งอยู่บนสระน้ำ ให้ความรู้สึกเหมือนว่าเป็นพื้นที่สาธารณะลอยน้ำ เมื่อมองในเวลากลางวันดูคล้ายศาลาที่พรางตัวไปกับธรรมชาติแบบกิ้งก่าป่าเมือง ในเวลายามค่ำคืนเมื่อเปิดไฟจึงดูเป็นโคมไฟให้กับสวนป่าแห่งนี้อีกเช่นกัน ทำให้สถาปัตยกรรมขนาดเล็ก แต่เป็นจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจการสร้างพื้นที่สาธารณะอย่างมีคุณค่าได้
หวังว่ากรุงเทพฯ จะน่ารักและโรแมนติกขึ้นมาก หากหน่วยงานภาครัฐเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอเพื่อเยียวยาความเครียดของคนเมืองที่มากขึ้นทุกวัน
แปลและเรียบเรียงจาก: hasdesignandresearch.com
ที่มา: www.archdaily.com, architizer.com