ในพื้นที่ชุมชนแออัด หรือสลัม เป็นแหล่งรวมผู้คนจากชนบทมาหาโอกาส หางานเลี้ยงชีวิตในเมืองใหญ่ สลัมในประเทศไทยเริ่มจากที่ประเทศไทยสร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จากนั้นได้เกิดการหลั่งไหลของผู้คนจากต่างจังหวัดเข้ามาทำมาหากินในเมืองหลวงที่เติบโตเดี่ยวคือกรุงเทพมหานคร สลัมจึงเป็นแหล่งพักอาศัยที่ตอบโจทย์คนจนเมืองเหล่านี้ และสลัมที่ขึ้นชื่อของกรุงเทพมหานครคือชุมชนคลองเตย
แม้ว่าบ้านจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ แต่ในคลองเตย บ้านหลายหลังไม่อาจเรียกได้ว่าบ้าน มันคล้ายเป็นแหล่งพักพิงสำหรับคนที่รอโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น มันมีสภาพที่แออัด ปลูกสร้างติดกันไม่มีช่องว่างของแต่ละหลัง หลังคาเกยกันไปมาแบบที่เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่กฏหมายควบคุมเข้าไม่ถึง การสร้างบ้านลักษณะนี้ทำให้มีสุขลักษณะไม่ดี แต่ทางเลือกของคนคลองเตยไม่ได้มีมาก มันจึงเป็นสลัมที่ควรถูกพัฒนาอย่างเร่งรีบ
แนวโน้มการพัฒนาเริ่มมีความหวัง เมื่อมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ (CPF) และกองทัพภาคที่ 1 ได้ทำการพัฒนาบ้านในพื้นที่คลองเตย ในโครงการปัจจุบันคือพัฒนาเป็นเฟสที่ 3 อันเป็นโครงการต่อเนื่องจากเฟสที่ 1 ที่ดำเนินการแบบบ้านจากกองทัพบก ส่วนเฟสที่ 2 เป็นการปรับแบบจากเฟสที่ 1 ให้ยืดหยุ่นขึ้น จนเฟสล่าสุดที่ก่อสร้างแล้วเสร็จไปจำนวน 9 หลัง เรียกได้ว่าเป็นบ้านต้นแบบรูปแบบใหม่จากการออกแบบของ Vin Varavarn Architects หรือ VVA
VVA ออกแบบโดยใช้โครงสร้างเดิมจากแบบของเฟสที่ 2 มาปรับแก้รูปทรงภายนอก แต่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยภายใน จากการที่สถาปนิกได้เดินสำรวจปัญหาของบ้านในเฟสที่ 2 โดยแบบเดิมที่เสนอให้กับชาวคลองเตยเป็นบ้านที่มีพื้นที่ภายในโล่งนอนร่วมกัน แบบที่ชาวสลัมเคยใช้สอย แต่ในความต้องการจริงที่พบคือชาวสลัมไม่ได้ต้องการพื้นที่แบบเดิมที่คนภายนอกมองเข้ามา เพราะชาวบ้านต้องการห้องของตัวเองเพื่อความเป็นส่วนตัว ป้องกันปัญการล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยภายในด้วยการซอยห้องส่วนตัวเพิ่ม บ้านบางหลังก็มีความต้องการที่พิเศษเช่น ต้องการทั้งห้องส่วนตัว และห้องน้ำเพิ่ม เพราะปัญหาด้านสุขภาพของสมาชิกในบ้านทำให้บ้าน 9 หลังมีรายละเอียดแตกต่างกันตามผู้อาศัย
นอกจากการแก้ปัญหาพื้นที่ใช้สอยภายใน การแก้ปัญหาเรื่องที่ดินเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดรูปทรงที่ดูโมเดิร์น เนื่องจากชาวคลองเตยให้ความสำคัญกับที่ดินอันมีน้อยอยู่แล้ว ไม่อยากเสียพื้นที่ไปอีก ที่ดินของบ้านแต่ละหลังไม่เหมือนกัน จากแบบเฟสที่ 2 ซึ่งเป็นหลังคาจั่วสร้างปัญหาที่ต้องมีระยะยื่นของชายคา เกิดปัญหาของการสูญเสียที่ดิน การใช้หลังคาเอียงที่มีรูปทรงช่วยให้สร้างชิดเขตมากที่สุดจึงเป็นคำตอบที่สถาปนิกเลือก อีกทั้งปัญหาของหลังคาจั่วแบบเดิมที่แพงกว่าหลังคาเอียง และต้องมีรางน้ำ 2 ฝั่ง จากการลงพื้นที่ สถาปนิกได้พบบ้านในเฟส 2 หลังจากชาวบ้านได้เข้ามาอาศัยแล้วแอบทาสีสด ๆ จัด ๆ แบบที่ชอบ สถาปนิกได้หาวิธีที่เป็นตรงกลางด้วยมองว่าเป็นสิ่งที่ห้ามกันยาก โดยเจรจากับทางชุมชนให้เจอกันตรงกลางให้ทาสีแบบที่ชอบ เฉพาะส่วนทางเข้าบ้าน ตัวบ้านเป็นสีเรียบ เพื่อความกลมกลืนในพื้นที่คลองเตย วัสดุที่ใช้ในโครงการต้องมีราคาถูก ประสิทธิภาพดี ติดตั้งได้รวดเร็ว สถาปนิกเลือกใช้ผนังผนังเบาแบบโครงคร่าวเหล็ก หลังคาเป็นเหล็กรีดลอนแบบแซนวิช มีไส้กลางเป็นฉนวนโฟมชนิดไม่ลามไฟหนา 5 เซนติเมตรที่ช่วยกันความร้อน และเหล็กรีดลอนด้านล่างกลายเป็นฝ้าเหล็กไปพร้อมกัน
การออกแบบคือการแก้ปัญหาจากการพบปัญหาในเฟสก่อนหน้า หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ จาก VVA ได้บอกกับเราว่า “ยากที่สุดคือตัวเราเองในฐานะสถาปนิก เพราะเรามีภาพที่เราอยากจะให้เป็น พอมาทำงานกับชาวบ้านแล้ว สิ่งที่เราต้องการกับสิ่งที่ชาวบ้านต้องการมันไม่ตรงกัน ก็เลยต้องแก้ปัญหาด้วยการไม่เอาตัวเราเองเป็นที่ตั้ง ถ้าเกิดปัญหาที่ชาวบ้านต้องการทาสีสดใสกันเอง มันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราชอบ ถ้าแบบนั้นเราก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องมาปรับแก้ที่ตัวเรา ตรงนี้ละ ที่ค่อนข้างยาก”
เรียบเรียงจาก: Facebook: Vin Varavarn Architects Ltd.