แล็บด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมในเปรู เสริมการเรียนรู้ท้องถิ่นโบราณ สร้างการเรียนการสอนร่วมสมัย

สิงที่สำคัญต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับชุมชนคือการมีส่วนร่วม ซึ่งต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้งผู้ออกแบบ ชาวบ้าน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้มามีบทบาทในการกำหนดข้อมูลการใช้สอยร่วมกัน การสร้างบทบาทนี้ทำให้เหล่าผู้คนชุมชนนั้นรู้สึกมีความเป็นเจ้าของร่วมกันในสถาปัตยกรรมนั้น ทำให้มีการร่วมกันดูแล เข้ามาใช้งานได้สบายใจ ทำให้งานออกแบบนั้นไม่เงียบเหงาหรือร้างจนเป็นโปรแกรมที่ตายไปจากการใช้งาน

ในพื้นที่กลางป่าของประเทศเปรู ปรากฏโปรเจ็กต์ Mencoriari Technological and Environmental Laboratory หรือสถานที่ปฏิการทางเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเมนโคริอาริ ซึ่งทำหน้าที่ร้องรับกิจกรรมการเรียนเชิงปฏิบัติการและพื้นที่ที่เก็บรักษาความรู้เกี่ยวกับพืชและป่าที่มีอายุนับพันปี ผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการคือนักเรียน 58 คน และ 67 ครอบครัวจากชุมชนในที่ตั้งแล็บ และอีก 3 ครอบครัวจากชุมชนรอบข้าง โดยแล็บนี้ผสมผสานสถาปัตยกรรมเข้ากับพื้นที่การเรียนการสอน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ ให้ส่งเสริมการสอนที่เน้นคุณค่าของป่า คุณค่าทางสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม

แล็บนี้ออกแบบโดย Semillas สำนักงานออกแบบจากเปรู ภายใต้ขั้นตอนการมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการคิด การออกแบบ และการก่อสร้างได้ดำเนินการผ่านการประชุมแบบมีส่วนร่วมกับเหล่านักเรียนและครอบครัวของพวกเขา การประชุมนี้เป็นการประชุมแบบเวิร์กช็อปหรือที่เรียกได้ว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาเหล่านี้มาพัฒนาต่อ ทำให้สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม กิจกรรม และความต้องการของชุมชน ความฝันของชุมชนสะท้อนสู่ทางเลือกในการออกแบบสถาปัตยกรรมและโปรแกรมให้เป็นพื้นที่การศึกษาสำหรับการอบแห้งพืชสมุนไพรและราก ทั้งยังมีห้องเรียนเปิดเพื่อการวิจัยและการศึกษายาธรรมชาติ การเกษตร และป่าไม้ มีการออกแบบขยายพื้นที่ห้องน้ำที่เข้าถึงได้ง่าย โครงสร้างพื้นเป็นคอนกรีต ส่วนโครงสร้างอื่นเป็นไม้ที่หาได้ในท้องถิ่น พื้นที่ภายในที่ต้องการแสงในการเรียนรู้ตรงส่วนหลังคาและหลังคาถูกปิดด้วยโลหะโพลีโพรพิลีนคาลาไมน์ โดยออกแบบให้เป็นหลังคาแบบปีกผีเสื้อ มีรางน้ำตรงกลางเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในอาคาร พื้นที่ตรงกลางอาคารคือส่วนที่สำคัญ เป็นพื้นที่นั่งเรียนพร้อมกับกระดานไวท์บอร์ด สถาปนิกออกแบบให้เป็นห้องเรียนแบบเปิดโล่ง มีผนังคลุมบางส่วน และเปิดโล่งรับธรรมชาติอีก 2 ด้าน ที่ช่วยทั้งในเรื่องการระบายอากาศ พื้นที่กลางอาคารเป็นอ่างซีเมนต์ขนาดใหญ่พร้อมโต๊ะทำงานที่มีระบบเก็บน้ำฝนจากหลังคาปีกผีเสื้อที่เรียกว่า CASA (Ciudades Auto-Sostenibles Amazónicas หรือ Self-Sustaining Amazon Cities) สำหรับรดน้ำและล้างพืช ห้องเรียน

พื้นที่อาคารนี้เป็นแหล่งพบปะของคนหลากรุ่นต่างวัย เป็นที่ให้ปราชญ์ชุมชนและนักศึกษาได้พบปะพูดคุย ทั้งยังเป็นพื้นที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว ก่อการปฏิสัมพันธ์ของความรู้ท้องถิ่นโบราณกับการเรียนการสอนร่วมสมัย เป็นพื้นที่สำหรับการสร้าง ‘มรดกที่มีชีวิต’ เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมอีกทางในชุมชน

  

แปลและเรียบเรียงจาก www.semillasperu.com

ที่มา: www.archdaily.comdivisare.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles