อาคารราชการที่ทำหน้าที่รับใช้ประชาชนในบ้านเราส่วนมาก ที่เรามีประสบการณ์เข้าไปใช้เป็นประจำไม่ว่าจะที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขต ศาลากลางจังหวัด เรามักจะพบได้กับภาพลักษณ์ที่ดูจริงจัง แฝงไว้ซึ่งอำนาจผ่านสถาปัตยกรรม ถึงกับมีเรื่องเล่าในอดีตว่าคุณตาคุณยายที่ไปอาคารราชการเหล่านั้น ถึงกับถอดรองเท้าก่อนเข้าไปติดต่อธุระกันเลยทีเดียว
เพราะนี้คือสิ่งที่อาคารราชการออกแบบด้วยการขาดแนวคิดแสดงความเป็นมิตรกับประชาชน
หากลองเปิดใจให้กว้าง การออกแบบอาคารราชการไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเดิมๆ แต่สามารถออกแบบผ่านแนวคิดใหม่ให้สื่อสารกับประชาชนได้ …ว่าแล้วก็ชวนมาลองดูกรณีศึกษาจากอาคารสำนักงานเขตคะมิเกียว เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น อาคารนี้ถูกออกแบบเพื่อให้รองรับกิจกรรมหลักด้านทะเบียนของทางเขต และงานประกันสุขภาพของประชาชนในเขตด้วย สถาปนิกที่ออกแบบคือ Tohato Architects & Engineers สถาปนิกมีแนวคิด 4 ประการคือ อ่อนน้อมถ่อมตนต่อทุกคน เป็นมิตรกับโลก นำรูปแบบชายคาที่เกิดเงาแบบสถาปัตยกรรมเกียวโต และการใช้ไม้ในท้องถิ่น หลัก 4 ประการนี้ถูกเล่าผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่น่าเข้าใช้ มีสเกลที่เป็นมิตร ดูอบอุ่นจากโทนสีของไม้ตัดกับคอนกรีตเปลือย การออกแบบทุกจุดคำนึงถึงเรื่อง universal design ทั้งทางลาดที่เข้าใช้ส่วนต่างๆ สำหรับคนนั่งรถเข็น ตัวอักษรเบรลล์ที่อยู่ตามป้ายบอกทาง มือจับ ราวบันได ให้เห็นทั้งคนสายตาปรกติ และอ่านได้สำหรับผู้มีปัญหาทางสายตา
นอกจากนี้ในแนวคิดเรื่องเป็นมิตรกับโลกยังปรากฏอยู่ในส่วนต่างๆ ทั้งการออกแบบให้ประหยัดพลังงานจากการดึงแสงธรรมชาติเข้ามาให้งานจากแผงโซลาร์เซลล์ การเก็บน้ำฝนจากดาดฟ้าลงไปยังถังเก็บน้ำเพื่อใช้ในอาคาร การออกแบบให้ส่วนโถงต้อนรับที่ชั้น 1 เป็นโถงสูงทะลุไปถึงชั้น 4 แล้วระบายไปยังภายนอกก่อเกิดเป็นปล่องระบายอากาศช่วยเกิดการไหลเวียนของอากาศภายใน ตรงโถงนี้เป็นส่วนที่น่าใช้ในทุกฤดูเลยทีเดียว เพราะเปิดให้เข้ามานั่งพักผ่อนได้ตามเวลาเปิดทำการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว โถงนี้จะอบอุ่นจากการที่ออกแบบให้ผนังด้านทิศใต้เป็นแผงกระจกแซนวิชสูง 4 ชั้น รับแสงแดดทิศใต้อย่างเต็มที่ พร้อมกับยังมีส่วนถังขยะที่แยกประเภทการทิ้งอย่างเป็นระบบสไตล์ญี่ปุ่นอีกด้วย ส่วนที่ผู้เขียนประทับใจสุดๆ คือ ความใส่ใจในการออกแบบ วัสดุที่ใช้ปูทางเดินภายนอกที่ดูเผินๆ ก็คิดว่าเป็นกระเบื้องกรวดล้าง แต่พอหยุดมองเข้าไปใกล้ มันคือแผ่นกระเบื้องทางเดินภายนอกที่ทำจากแกลบ ซึ่งมันเป็นมิตรในแง่ที่เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ มีความแข็งแรงเพราะแกลบมีซิลิกา และยังเป็นวัสดุที่เหลือใช้จากการทำเกษตร แต่นำมาแปลงเป็นวัสดุก่อสร้างได้อย่างน่าสนใจ
ปัจจุบัน แม้ว่าอาคารราชการบางแห่งในบ้านเรายังมีป้ายติดว่า สถานที่ราชการห้ามเข้า แต่ถ้าลองเปลี่ยนแนวคิดทั้งข้าราชการและการออกแบบ ระยะห่างของประชาชนกับราชการก็ลดลงแล้ว
อ้างอิง: www.obayashi.co.jp, www.tohata.co.jp, www.newxt.co.jp
Photo: Xaroj Pawong