อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง นอกจากจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มในการขยายตัวที่ดีแล้ว สถานการณ์ของแวดวงดังกล่าวก็มีเรื่องให้น่ายินดีกับการได้เห็นผู้ผลิตหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและตระหนักถึงประโยชน์ของสังคมโดยรวมมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ๆ ที่ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ ไปจนถึงการนำบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้งานมากขึ้นเช่นกัน
Elena Amato นักออกแบบจากกัวเตมาลาเองก็เป็นหนึ่งในนักออกแบบที่ทดลองนำแบคทีเรียมาใช้ในการพัฒนาโครงการเพื่อเป็นทางเลือกในการทำบรรจุภัณฑ์เพื่อทดแทนการใช้พลาสติก โดยเธอพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากการนำน้ำและสโคบี้ (SCOBY: Symbiotic Culture of Bacteria and Yeast) หรือแบคทีเรียชนิดดีและยีสต์ที่เหลือจากการทำชาหมักของผู้ผลิตท้องถิ่นมาผสมเข้าด้วยกัน ใช้สีที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น สาหร่ายสไปรูลินา ผงถ่าน และดอกชบา เมื่อส่วนผสมทั้งหมดผสมเข้าด้วยกันอย่างดีแล้ว เธอจะนำมาเทใส่แม่พิมพ์ผิวเรียบจนได้แผ่นแบคทีเรียที่มีลักษณะและคุณสมบัติอยู่ก้ำกึ่งระหว่างกระดาษกับพลาสติก โดยสามารถซีลติดกันได้ด้วยการใช้น้ำ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้กาวในการปิดซีลบรรจุภัณฑ์
Elena ออกแบบบรรจุภัณฑ์ของเธอให้มี 3 ชั้น โดยจำลองเอาลักษณะทางธรรมชาติของชั้นผิวในผลไม้ ที่ประกอบไปด้วยของเหลว เนื้อ และเปลือก มาเป็นต้นแบบ ซึ่งชั้นในสุดจะใช้สำหรับห่อหุ้มตัวผลิตภัณฑ์โดยตรง ชั้นที่สองซึ่งทำจากสบู่ที่มีส่วนผสมธรรมชาติจะทำหน้าที่คล้ายกับแคปซูลครอบทับ โดยมีชั้นนอกสุดซึ่งเป็นแผ่คทีเรียนี้เป็นตัวป้องกันตัวผลิตภัณฑ์เป็นขั้นตอนปิดท้าย
เนื่องจากการเห็นจุดอ่อนของรูปแบบการผลิตผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิมในแบบ Linear Economy ที่ใช้หลักการ Take-Make-Dispose หรือการ ‘ใช้ทรัพยากร การผลิตสินค้า และการย่อยสลาย’ เป็นกระบวนการหลัก ที่ส่งผลต่อจำนวนทรัพยากรที่ต้องถูกใช้ในการผลิต รวมทั้งขยะที่กำจัดเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด Elena จึงมีความคิดว่าเธอน่าจะทำอะไรกับสถานการณ์นี้ได้บ้างในฐานะของการเป็นดีไซเนอร์และมนุษย์คนหนึ่งที่อาศัยในโลกใบนี้ และผลลัพธ์ก็คือโปรเจ็กต์ที่ว่านี้ โดยการพัฒนาของเธออิงเข้ากับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเปลี่ยนวงจรของสิ่งที่เธอทำให้สามารถหมุนเวียนด้วยตัวเอง ตั้งแต่การผลิตจากแหล่งวัตถุดิบซึ่งสามารถหาทดแทนและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่ใช้ผลผลิตที่มาจากสัตว์ ไม่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการผลิต ซึ่งทำให้ปริมาณการใช้พลังงานอยู่ในระดับต่ำ ตลอดจนนำเอาผลิตภัณฑ์จากคนในท้องถิ่นมาเป็นวัตถุดิบหลักเพื่อลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้กระตุ้นให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ เกิดผลกระทบเชิงลบน้อย อีกทั้งยังสามารถรักษาวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชุมชน ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการไม่ไปทำร้ายความเป็นอยู่และสุขภาพของทุกสิ่งมีชีวิตในโลกจนเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ด้วย
ภาพและอ้างอิง: Elena Amato