Ecobirdy เฟอร์นิเจอร์พลาสติกรีไซเคิลสำหรับเด็ก ปลอดเคมี ดีไซน์ปลอดภัย

หากย้อนกลับไปเมื่อราวร้อยกว่าปีก่อน พลาสติกคือการคิดค้นที่ถูกยกย่องว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของวงการวิทยาศาสตร์ แต่ในปัจจุบัน จากสิ่งประดิษฐ์ที่น่าทึ่ง พลาสติกได้เปลี่ยนสถานะสู่การเป็นมลพิษซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์

และอย่างที่รู้กันดีว่าพลาสติกใช้เวลาถึง 400 ปีในการย่อยสลาย นั่นแสดงว่าจนถึงตอนนี้ พลาสติกชิ้นแรกยังไม่หายไปจากโลก แต่การจะไปฟูมฟายหรือตีอกชกตัวนั้นย่อมไม่เกิดประโยชน์ และนี่คืออีกหนึ่งโปรเจ็กต์จากสตูดิโอออกแบบจาก Antwerp อย่าง Ecobirdy ที่พยายามเข้าไปเปลี่ยนความหายนะจากพลาสติกสู่ผลงานที่มีประโยชน์ใช้สอยอีกครั้ง

เป้าหมายในการสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็กคอลเล็กชั่นนี้ที่ใช้เวลากว่า 2 ปีในการพัฒนา ก็คือการสร้างความตระหนักเพือให้ผู้คนเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ลืมที่จะรักษาคุณภาพของงานออกแบบที่ดี ทั้งในแง่ความสวยงามและฟังก์ชั่นที่สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมด้วย โดยในคอลเล็กชั่นที่ประกอบไปด้วย ชุดเก้าอี้ ชั้นเก็บของ และโคมไฟ ทั้งหมดผลิตขึ้นจากของเล่นพลาสติกที่ไม่ได้ใช้งานและนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิล

Joris Vanbriel และ Vanessa Yuan ผู้ก่อตั้ง Ecobirdy เล่าถึงงานชุดนี้ไว้ว่า “พวกเราอยากปกป้องระบบนิเวศจากขยะพลาสติก โดยใช้นวัตกรรมและงานออกแบบที่เรามีมาเป็นเครื่องมือ แน่นอนในกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกนั้น ผลลัพธ์ที่ได้คือวัสดุตั้งต้นที่ปลอดจากสารแคมี” พร้อมกันนี้พวกเขายังดีไซน์ให้ฟอร์มของทุกผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานด้วย เป็นต้นว่า การมีขอบมุมโค้งมน พื้นผิวเรียบเนียน มีความเสถียร และง่ายต่อการบำรุงรักษา

จนถึงเวลานี้ เราคงต้องยอมรับว่า แม้พลาสติกจะเป็นอันตรายต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งของเล่นที่ทำจากพลาสติกมักจะได้รับการยกเว้นด้วยเหตุผลที่ว่า เด็กๆ ชอบ หรือของเล่นเหล่านี้มีราคาไม่แพงนัก รวมทั้งผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็มักจะซื้อเป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆ ด้วย ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่าถึงแม้ของเล่นเหล่านี้น่ารักน่าซื้อมากขนาดไหน แต่ก็นำมาซึ่งปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ยังแก้กันไม่ตก และหากปลายทางที่ Ecobirdy ตั้งเป้าไว้อย่างการรีไซเคิลขยะพลาสติกจากของเล่นเก่าให้ได้ 250,000 กิโลกรัม เพื่ดลดจำนวนขยะพลาสติกที่กว่า 80% จะถูกนำไปฝังกลบ เผา ไม่ก็จะถูกทิ้งลงทะเล สามารถทำได้จริงและต่อเนื่อง ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้มลพิษทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลงได้อีกทาง










อ้างอิง: www.ecobirdy.com

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles