‘ดอมินิก ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์’ Precious Plastic พลาสติกไม่ใช่ปัญหา แต่มีคุณค่าที่ต้องรู้จัก

หากดูตามสถิติที่ผ่านมา เราจะพบว่าประเทศไทยติดโผเรื่องปัญหาขยะพลาสติกมากเป็นอันดับ 5 ของโลก พวกเราสร้างขยะจำนวนถึง 27 ล้านตัน แบ่งเป็นขยะพลาสติก 2 ล้านตัน ซึ่งหากเทียบให้เห็นภาพง่ายขึ้น คน 1 คน จะสร้างขยะ 1 กิโลกรัม 1 ขีด ต่อวัน เป็นถุงพลาสติก 8-10 ใบต่อวัน ซึ่งขยะพลาสติกดังกล่าวจะสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ปีละเพียง 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลืออีก 1.5 ล้านตัน จะถูกนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบและเผาทำลาย ขณะที่ยังตกค้างในสิ่งแวดล้อม และไหลลงทะเลแบบมหาศาล

แม้ว่าจะมีการจัดการกับวิกฤติขยะพลาสติก ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  (กก.วล.) ที่ตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณขยะพลาสติกให้ได้ภายในปี พ.ศ.2570 ทว่าปัญหาดังกล่าวนั้นใหญ่กว่านั้นมาก และต้องอาศัยการร่วมมือจากหลายส่วนมาทำงานร่วมกัน Precious Plastic คือหนึ่งในฟังเฟืองดังกล่าวที่ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดย Dave Hakkens พวกเขามีเป้าหมายใหญ่คือการร่วมหาวิธีในการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ผ่านแพลทฟอร์มแบบเปิดที่ใครก็สามารถหยิบข้อมูล วิธีการ ไปจนถึงการดาวน์โหลดพิมพ์เขียวของเครื่องรีไซเคิลพลาสติกไปใช้ได้แบบฟรีๆ Precious Plastic ได้มาเปิดเบสในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Precious Plastic Bangkok ที่มี ดอมินิก ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์ ทำหน้าที่ดำเนินและอำนวยการภารกิจแบบเดียวกันนี้ในบ้านเรา บทสนทนาที่เกิดขึ้นกับเขานอกจากจะทำให้เราเห็นถึงสถานการณ์เรื่องพลาสติกในไทยในมุมกว้างและลึกมากขึ้นแล้ว ก็ยังทำให้เรารู้ในความเป็นจริง พลาสติกก็มีค่าไม่ต่างจากทองหากเราจัดการมันอย่างถูกต้องและเหมาะสม ที่สำคัญคือการตอกย้ำให้เราเห็นว่า ท่ามกลางปัญหา เราจะเห็นโอกาสในนั้นได้เสมอ

ถือกำเนิด Precious Plastic Bangkok

“Precious Plastic Bangkok เริ่มต้นมาได้กว่า 1 ปี แล้ว ซึ่งผมและทีมงานเราต่างคิดว่า ความพยายามและสิ่งที่ภาครัฐของไทยกำลังทำอยู่ยังคงไม่เพียงพอสำหรับปัญหาขยะพลาสติกที่เรากำลังเผชิญอยู่ เพราะนี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของการรีไซเคิลอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของการศึกษาและการให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อประชาชนด้วย เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้อันตรายของขยะพลาสติก ไม่รู้ว่าพลาสติกสามารถรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงพลาสติกเป็นวัสดุที่มีคุณค่าในตัว เพราะฉะนั้น เราเลยคิดว่าแพลทฟอร์มอย่าง Precious Plastic เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นในเมืองไทยเช่นเดียวกัน”

สร้างสรรค์ สื่อสาร ส่งต่อ และสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่าย

“การทำงานของ Precious Plastic เป็นการทำงานผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งการไปเก็บขยะซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำกันเองภายในกลุ่ม การทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่าง Trash Hero Bangkok เราทำนิทรรศการและเวิร์คช็อปภายในงาน Design Week ซึ่งจัดขึ้นโดย TCDC เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา รวมทั้งทำงานกับโรงเรียนต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรม และยังพยายามให้ความรู้ครู นักเรียน ผู้ปกครองเกี่ยวกับพลาสติก พร้อมๆ ไปกับการให้ความรู้แก่ประชาชนว่าเพราะอะไรเราจึงไม่ควรทิ้งขยะพลาสติกและขยะดังกล่าวสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง เรานำเครื่องรีไซเคิลเข้าไปติดตั้งในชุมชน สาธิตว่ามันใช้งานอย่างไร ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บ แยก ล้าง รีไซเคิล และทำให้เห็นว่าจากสิ่งที่เคยเป็นขยะสามารถถูกแปรสภาพกลายเป็นอะไรได้บ้าง”

พิมพ์เขียวเครื่องรีไซเคิลที่ใครก็สามารถดาวน์โหลดได้แบบฟรีๆ

“ถ้าลองเข้าไปในเว็บไซต์ของ Precious Plastic คุณจะสามารถดาวน์โหลดพิมพ์เขียวเพื่อมาสร้างเครื่องรีไซเคิลได้เลยนะ ซึ่งถ้าใครก็ตามมีคำถามเกี่ยวกับการประดิษฐ์เครื่องนี้ เราก็พร้อมจะตอบทุกคำถาม ซึ่งในเว็บไซต์ก็มีแบบฟอร์มที่หากมีข้อสงสัยก็สามารถเขียนถามกันเข้ามาได้ จากนั้นผู้เชี่ยวชาญ หรือคนที่เคยทำเจ้าเครื่องนี้ หรือคนที่เคยทำโปรดักท์จากพลาสติกจะมาตอบคำถามและแบ่งปันประสบการณ์ให้ ผมเชื่อว่า Precious Plastic กำลังทำแพลทฟอร์มที่จะเป็นแหล่งข้อมูลซึ่งง่ายต่อการเข้าถึงและแบ่งปัน ดังนั้น สมาชิกสามารถนำผลงานออกแบบ วิธีการที่พวกเขาเรียนรู้ หรือเคล็ดลับต่างๆ มาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนได้ เช่นว่าวิธีการแบบไหนเวิร์กหรือไม่เวิร์ก วิธีการไหนที่ทำให้เสียเวลา ซึ่งผมคิดว่ามันจะช่วยให้เราสามารถรีไซเคิลพลาสติกได้สะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้นได้

ในอนาคต Precious Plastic เองก็พยายามจะสร้างเครื่องรีไซเคิลดังกล่าวเพื่อนำไปติดตั้งในชุมชนต่างๆ และจะมีการทำกิจกรรม รวมถึงเวิร์คช็อป โดยตอนนี้เรามีเครื่องรีไซเคิลอยู่ 2 เครื่อง ตั้งอยู่ในวังจักรพงษ์ และมีแพลนจะนำ 2 เครื่องนี้ไปติดตั้งในชุมชนแบบถาวรเพื่อให้คนในชุมชนได้ใช้จริง ซึ่งเราก็พยายามจะทำเครื่องดังกล่าวให้มากขึ้นในอนาคตด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ประชาชนได้ประโยชน์จริงๆ ซึ่งนั่นอาจจะต้องเป็นในเรื่องของการขอสปอนเซอร์เพื่อที่จะทำให้เราสามารถผลิตเครื่องรีไซเคิลให้ชุมชนต่างๆ ได้โดยพวกเขาไม่ต้องเสียสตางค์”

ความพร้อมของคนไทยกับการรีไซเคิล

“จากกิจกรรมที่เกิดขึ้น เราได้ผลตอบกลับดีมากเลย ผมคิดว่าความรู้ความเข้าใจของประชาชนทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกและการรีไซเคิลมีมากขึ้นเยอะ และด้วยเครือข่ายของเราที่เติบโตขึ้น ทั้งการที่เราทำงานกับ Trash Hero, TCDC การมีสมาชิกใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการหาพาร์ทเนอร์เข้ามาเสริมทัพ การสร้างเครือข่ายของคนที่ทำงานในแนวทางเดียวกันให้มากขึ้น เพราะฉะนั้น การทำงานในลักษณะของการระดมคน ระดมสมองแบบนี้ สามารถทำให้ Precious Plastic สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและประสบความสำเร็จ ขณะที่ประชาชนเองก็ยอมรับและเข้าใจเห็นว่าเราสามารถทำอะไรกับพลาสติกได้บ้าง หลักฐานที่ชัดเจนคือ จำนวนพัสดุด้านนอกซึ่งเป็นพัสดุที่คนจากทั่วประเทศส่งเข้ามากันอย่างล้นหลาม และนี่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยเริ่มมีความพร้อมแล้วที่จะรีไซเคิล ซึ่งนี่ถือเป็นสัญญาณที่ดีมากๆ เลย”

แม้หนทางจะอีกยาวไกล แต่ถ้าร่วมใจ ความสำเร็จก็ใกล้แค่เอื้อม

“ตอนนี้ แม้คนจะรับรู้มากขึ้น แต่ผมก็คิดว่าเรื่องของการรีไซเคิลยังไม่แพร่หลายมากนักที่ประเทศไทย ซึ่งผมเข้าใจว่าภาครัฐตั้งเป้าที่จะจัดการเรื่องการรีไซเคิลพลาสติกทั้งหมดให้สำเร็จลุล่วงภายในปี 2030 แม้ว่านี่จะเป็นการตั้งความหวังที่สูงมาก แต่มันก็เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น เราอาจจะทำโดยมีภาครัฐเป็นผู้นำ หรืออาจจะขับเคลื่อนจากชุมชนก่อนในลักษณะ top-down หรือ bottom-up หรือคุณอาจจะทำไปทั้งสองทางพร้อมๆ กัน และทำงานร่วมกันในอนาคตก็ได้

ผมคิดว่าปัญหานี้เป็นเรื่องของทุกคนไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว เช่น ถ้าคุณมีขวดน้ำสักขวด และมีตัวเลือกว่าจะโยนมันทิ้งตามถนนหนทาง หรือจะทิ้งลงถังขยะ หรือจะส่งมาให้ Precious Plastic มันขึ้นอยู่กับคุณแล้วล่ะว่าอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นไหม อย่างตอนนี้ องค์กรอย่าง Precious Plastic เกิดขึ้นก็เพื่อเป็นหนึ่งในแพลทฟอร์มที่อยากจะเข้ามาสร้างแรงบันดาลใจ หรือบริษัทผลิตพลาสติกบริสุทธิ์ที่เข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์เรื่องการรีไซเคิลให้ดีขึ้น ไปจนถึงบริษัทรีไซเคิลเองที่พัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ รวมไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น นี่ก็จะเป็นผลดีต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม ช่วยสร้างงานให้คนท้องถิ่น ช่วยให้เขามีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ให้ข้อมูลหรือสร้างสื่อกลางที่บอกว่าถังขยะใบไหนที่เขาจะทิ้งขยะพลาสติกลงไปได้ ผมว่าหนทางยังอีกยาวไกลแหละ แต่สิ่งที่เรามองเห็นตอนนี้คือคนไทยพร้อมแล้วนะที่จะเริ่มทำและเราควรจะทำมันร่วมกัน”

รีไซเคิล ไม่ใช่แค่ทิ้งขยะให้ถูกถัง

“สำหรับอุปสรรคของการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศไทย ความยากก็คือมันมีพลาสติกหลายชนิดมาก ทั้ง PET เช่น ขวดน้ำ HDPE ที่เอามาทำฝาขวด, PP ที่เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารประเภท take away, ขวดนม และขวดแชมพู ซึ่งด้วยความหลากหลายของพลาสติกที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เราไม่สามารถที่จะรีไซเคิลมันได้พร้อมๆ กัน นั่นคือปัญหาที่เราเจออยู่ เราต้องรีไซเคิลพลาสติกประเภทเดียวกัน เช่นว่า ถ้าเป็นฝาก็ต้องฝาหมด ถ้าเป็น PET ก็ต้อง PET ทั้งหมด หรือ PP อย่างเดียวไม่มีการปนพลาสติกชนิดอื่น เพราะถ้าผสมกัน พลาสติกนั้นจะกลายเป็นของมีตำหนิ คุณภาพลดลงทันที ซึ่งไม่เหมาะจะนำกลับไปใช้ใหม่ และบางครั้ง มันก็ยากที่จะแยกประเภทเหมือนกันนะ เช่น ปกติเราจะเห็นเครื่องหมายระบุบนบรรจุภัณฑ์ว่าเป็นพลาสติกแบบไหน เช่น เครื่องหมายสามเหลี่ยมใต้ขวดซึ่งหมายถึง PET แต่บางครั้งก็ไม่มีหรือไม่อยู่ตรงที่มันควรอยู่ นี่เลยกลายเป็นเรื่องท้าทายพอสมควรสำหรับคนทั่วไปที่จะรู้ว่าสิ่งที่เขาใช้เป็นพลาสติกประเภทไหนและควรจะแยกมันอย่างไร นอกจากนี้ พลาสติกที่เราเจอในประเทศไทยค่อนข้างสกปรก ทำให้เราต้องใช้เวลาพอสมควรกับขั้นตอนการทำความสะอาด ดังนั้น เมื่อเรารีไซเคิล เราอยากให้เขาช่วยเราเรื่องการทำความสะอาดและไม่มีสิ่งเจือปน ซึ่งนั่นจะช่วยลดขั้นตอนการทำงานไปได้มากและทำให้มั่นใจได้ว่าพลาสติกที่ได้มาพร้อมเข้าสู่กระบวนการแล้ว”

เริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว

“ในฐานะคนทั่วไป เราเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้หมดนะ แม้แต่การทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เช่น เวลาคุณเดินบนถนนแล้วเห็นเศษขยะ แล้วคุณนำมาทิ้งลงถัง นั่นก็ช่วยแล้ว ซึ่งอาจจะมีคนเห็นสิ่งที่คุณทำแล้วรู้สึกว่าเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากจะทำแบบเดียวกัน หรือการใช้ขวดน้ำซ้ำ หรือใช้ถุงพลาสติกซ้ำ คุณอาจจะเริ่มแค่หนึ่งอย่างที่ทำได้ ลองทำสักอาทิตย์หนึ่งแล้วดูว่ามันเป็นอย่างไร มีคนเคยบอกถึง 50 สิ่งที่คุณควรทำเพื่อลดจำนวนพลาสติก แต่พอมาไล่ดูลิส คนก็จะเริ่มพูดกันแล้วว่า มันเยอะไป มันเหนื่อยนะ มันเครียดไป แน่นอนว่าเจ้าลิสนั่นเป็นสิ่งที่ดีมาก เพียงแค่คุณอาจจะลองเริ่มสักข้อสองข้อก่อน แล้วดูว่าผลเป็นอย่างไร ท้ายที่สุด คุณอาจจะพบว่า โอเค ฉันทำสิ่งนี้ได้นะ หรือฉันน่าจะชวนเพื่อนมาทำได้นะ ลองทำจากสิ่งเล็กๆ สิ่งใกล้ตัว สิ่งที่คุณทำได้ ไม่ยาก ใช้เวลาไม่นาน อาจเป็นสิ่งที่ง่ายและถูกมากๆ ซึ่งผมคิดว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ใครก็สามารถทำได้ หรือถ้าคุณมีขยะพลาสติก ก็สามารถส่งมาให้องก์กรของเราได้เช่นกัน เรามีจุดรับพลาสติกหรือสามารถส่งมาโดยตรงให้เราก็ได้ จากนั้น เราก็จะสามารถรีไซเคิลและทำให้มันกลายเป็นสิ่งใหม่ โปรดักท์ใหม่ ให้ชีวิตใหม่แก่พลาสติกได้”

พลาสติกคือ ‘ผู้ร้าย’ จริงไหม?

“จริงๆ  แล้ว พลาสติกเป็นทรัพยากรที่มีค่ามาก มากเกินกว่าที่จะโยนมันทิ้งไปเลย เหมือนกับชื่อขององค์กร Precious Plastic เราอยากให้คนมองพลาสติกในอีกมุม ที่สามารถเก็บ รีไซเคิล สร้างรายได้ และมีค่าไม่ต่างไปจากแก้วหรืออะลูมีเนียม อย่างเวลาคุณไปตามถนนหนทาง คุณจะไม่เห็นขวดแก้วถูกทิ้งเกลื่อนกลาดเพราะมีตลาดต้องการอยู่ เพราะคนรู้ว่าถ้าขายก็ได้ขวดละ 5 บาท ถ้าเขาเก็บได้ 50 ขวด ก็มีเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอาทิตย์แล้ว ดังนั้น เราอยากให้คนมองพลาสติกในแบบเดียวกันและให้คุณค่ามัน เราไม่จำเป็นที่จะมองว่าพลาสติกเป็นศัตรู แน่นอนมีปัญหาแหละหากเราปล่อยทิ้งไว้ พลาสติกก็จะทำลายธรรมชาติ เป็นอันตรายต่อคน สัตว์ และต้นไม้ แต่ถ้าเราเก็บและรีไซเคิลอย่างถูกวิธี เราก็จะได้ทรัพยากรที่มีค่า มีประโยชน์ และมีความสำคัญมากเชียวล่ะ”

เมื่อความเข้าใจเกิด มุมมองก็เปลี่ยน

“หลังจากทำงานมากว่า 1 ปี ผมเห็นพฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนไปไม่น้อยนะ อย่างการที่คนส่งพลาสติกมาให้ Precious Plastic เราซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เป็นแบบนั้น แล้วพลาสติกเกือบ 500 กิโลกรัม ที่อาจจะถูกนำไปอยู่ตามพื้นที่ฝังกลบ ถนน หรือแม่น้ำ ก็ถูกเรารีไซเคิลไปแล้ว แบบนี้เป็นต้น เราได้เห็นมุมมองของคนมีต่อพลาสติกว่าเปลี่ยนไปเยอะ แม้แต่พนักงานโรงแรมของผมที่ช่วยงาน Precious Plastic เอง ก็นำพลาสติกมาแล้วถามผมว่า “พลาสติกแบบนี้รีไซเคิลได้ไหม?” ซึ่งนี่แสดงให้เห็นเลยว่าพวกเขาเห็นค่าพลาสติกมากกว่ามองว่ามันเป็นแค่ขยะ ก่อนหน้านี้ ถ้าคุณผ่านชุมชนก็จะเห็นพลาสติกอยู่เต็มไปหมด ตัวผมเองยังรู้สึกเลยว่ามันเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม คุณอาจจะคิดว่า โอเค ก็แค่ทิ้งมันลงถังขยะ ไปรวมไว้ในพื้นที่ฝังกลบ แล้วก็ลืมๆ มันไปเสีย แต่ความเป็นจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะพลาสติกก็ยังอยู่ในชุมชนนั่นแหละ แต่ว่าคุณสามารถนำมันไปรีไซเคิลและทำให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ เช่น ชาม กระเบื้อง ถาดรองแก้ว หรืออะไรก็ตามที่มีประโยชน์ ที่ขายและสร้างรายได้ ซึ่งเงินเหล่านั้นก็จะกลับคืนสู่ชุมชนด้วย”

ขอแค่มีความตั้งใจและกำลังใจ งานหินแค่ไหนก็เป็นไปได้เสมอ

“ผมได้กำลังใจและแรงบันดาลใจเยอะเลยจากการที่ได้มาทำ Precious Plastic รวมทั้งได้เห็นว่าผู้คนกระตือรือร้นมากขนาดไหนในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำสิ่งดีๆ เหล่านี้ ผมรู้ว่าปัญหาขยะพลาสติกที่เราเจอเป็นงานช้าง แต่ผมคิดว่าการเริ่มต้นจากการทำงานในสเกลเล็กๆ ในระดับชุนเป็นเรื่องเยี่ยมมากจริงๆ ทำให้เห็นว่าการนำเสนอทางเลือกเพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่และมีสถานภาพทางการเงินที่ดีขึ้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะพลาสติกสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ที่พวกเขานำไปขายได้ แล้วพลาสติกก็มีอยู่ในชุมชนเต็มไปหมด ผมรู้สึกนับถือพวกเขาทั้งในเรื่องการเข้ามามีส่วนร่วมเรื่องการรีไซเคิลพลาสติก รวมทั้งไอเดียต่างๆ ที่จะนำสิ่งที่เคยเป็นขยะมาทำเป็นของใช้ อย่างผมและญาติของผมก็นำพลาสติกมาแปรรูปเป็นชาม จานรองแก้ว ธรรมดาๆ แบบนั้น แต่คุณลองนึกดูสิว่าถ้าชุมชน นักออกแบบ หรือดีไซเนอร์ได้ลองลงมือทำ ใช้เทคโนโลยีที่ว่านี้มาเป็นเครื่องมือ เราคงได้เห็นไอเดียแปลกใหม่และสร้างสรรค์ รวมถึงโปรดักท์ดีๆ เกิดขึ้นอีกไม่น้อยเลยนะ”

ความสุขที่ได้จากการเห็นความเปลี่ยนแปลง

“ตัวผมเองสนใจงานที่เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตลอด และต้องการทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านนี้ คุณแม่ผมก็เคยทำมูลนิธิโลกสีเขียว เพราะฉะนั้น ผมโตขึ้นมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมแบบนี้ ได้เรียนด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ลอนดอน รวมถึงทำงานการกุศลด้านสิ่งแวดล้อมมาด้วย ผมพยายามปกป้องและรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าสิ่งที่พวกเราทำอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มาก ณ เวลานี้ แต่ผมเชื่อว่า Precious Plastic พยายามหาทางออกให้กับการจัดการกับพลาสติกอยู่ และถ้าเราสามารถขยายขอบเขตการทำงานของเราได้มากขึ้น ผมคิดว่าเราคงจะสามารถเข้าไปเปลี่ยนความคิดและมุมมองของผู้คนเกี่ยวกับพลาสติกในภาพที่ใหญ่ขึ้นได้อีกมาก และมันจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับเมืองเท่านั้น แต่ในระดับประเทศได้เลยนะ นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมยังอย่างเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในการขับเคลื่อนนี้”

Precious Plastic Bangkok กับพรุ่งนี้และวันต่อๆ ไป  

“สำหรับในอนาคต เราวางแผนว่าเราจะลงพื้นที่และไปทำเวิร์คช็อปตามชุมชนต่างๆ เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการสำรวจว่าประชาชนตอบรับและนำเทคโนโลยีไปใช้อย่างไร จากนั้นเราจะค่อยๆ ขยายความรู้ออกไป ผมคิดว่าเราสามารถเริ่มได้เร็วถ้าเราเจอผู้สนับสนุนที่เหมาะสมและมีแนวคิดแบบเดียวกัน โดยเวิร์กช็อปที่ว่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าชุมชนเหล่านั้นจะเข้าใจว่าเครื่องรีไซเคิลนี้ใช้งานอย่างไร สามารถผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ในแบบที่เขาต้องการ รวมถึงเป็นประโชน์ต่อพวกเขาได้จริงๆ หลังจากนั้น เราจะค่อยๆ ขยายจากระดับชุมชน ไปสู่ระดับเมือง และประเทศตามลำดับ นอกจากนี้ เรายังต้องการทำงานกับโรงเรียนต่างๆ มากขึ้น และการนำเครื่องรีไซเคิลไปติดตั้งในโรงเรียนเพื่อให้เด็กๆ มีโอกาสได้ใช้ด้วยตัวเขาเอง รีไซเคิลได้ด้วยตัวเอง และทำโปรดักท์ด้วยมือของพวกเขาเอง ผมคิดว่ามันเป็นวิธีการที่ง่ายและได้เห็นกับตาซึ่งจะทำให้เขาเข้าใจในกระบวนการ ปัญหา และมองเห็นทางออกด้วย  ซึ่งนั่นก็จะทำให้เกิดการซึมซับไปที่ตัวเด็ก มุมมองและความคิดของต่อพลาสติกจะเป็นสิ่งที่มีค่าและมีความหมายเกินกว่าจะโยนทิ้ง ซึ่งมี 2 สิ่งที่เราจะทำ คือ ในเชิงองค์กร เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ว่านี้ เรากำลังมองหาเครือข่าย ทั้งองค์กรและกลุ่ม NGO ที่จะเชื่อมโยงไปถึงเด็กและสถาบันการศึกษาต่างๆ หรือกลุ่มคนที่ทำงานในเรื่องการจัดการขยะอย่าง Trash Hero เราอยากเป็นตัวกลางที่เชื่อมพวกเขาให้มาเจอกัน ซึ่งเมื่อเราทำงานในสเกลที่ใหญ่ขึ้นได้ การเข้าไปพูดคุยกับภาครัฐหรือองค์กรขนาดใหญ่ เราก็จะเป็นกระบอกเสียงที่พูดแล้วมีคนฟังมากขึ้นเพื่อสื่อสารว่าพวกเราสามารถทำอะไรกับพลาสติกได้บ้าง”

ภาพ: Sawita Sangnampetch, www.preciousplastic.com, Facebook: Precious Plastic BKK
อ้างอิง: www.preciousplastic.comFacebook: Precious Plastic BKK

Tags

Tags: , , ,

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles