Grant Blvd แบรนด์แฟชั่นสุดเท่โดยอดีตผู้ต้องขังหญิง เพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน

ถ้าลองเข้าไปส่องเว็บไซต์ของ Grant Blvd เราจะเห็นว่าแบรนด์แฟชั่นจากฟิลาเดเฟียแบรนด์นี้มักเลือกใช้นายแบบนางแบบลุคคนเดินถนนธรรมด๊าธรรมดาที่มีความหลากหลายทางรูปร่างหน้าตา เชื้อชาติ และสีผิว จากนั้น เมื่อเลื่อนผ่านลงไปอีกหน่อย เรายังจะพบอีกว่านอกจากในเว็บไซต์จะมีเสื้อผ้าจากหลากหลายคอลเล็กชั่นให้รับชมกันแล้ว ก็ยังมีบทความเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ทางสังคมรวมอยู่ในเว็บอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรณรงค์ให้จัดสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีแก่ผู้ต้องขังหญิงทุกคน และที่เกี่ยวกับแฟชั่นโดยตรงก็คือ ความฟุ่มเฟือยของการใช้ทรัพยากรในอุตสาหกรรมแฟชั่น

เดาได้ไม่ยากเลยใช่มั้ยว่า Grant Blvd ไม่ใช่แบรนด์เสื้อผ้าธรรมดาที่หวังทำกำไรจากแฟชั่นเพียงอย่างเดียวแน่ๆ แต่ Grant Blvd คือแบรนด์ที่ต้องการพูดถึงประเด็นทางสังคม “ผ่านแฟชั่น”

Kimberly McGlonn อดีตครูสอนภาษาอังกฤษที่มาพร้อมดีกรีปริญญาเอกทางด้านการศึกษา คือผู้ก่อตั้ง Grant Blvd เธอมองเห็นโอกาสว่าแฟชั่นสามารถเป็นช่องทางให้เธอรณรงค์และสื่อสารถึงประเด็นสำคัญทางสังคมที่เธอสนใจได้ ซึ่งสองประเด็นหลักๆ ที่ McGlonn เลือกสื่อสารผ่าน Grant Blvd ก็คือ เรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อยที่ด้อยโอกาส อย่าง ผู้ต้องขังในเรือนจำและอดีตผู้ต้องขัง คนผิวสี เป็นต้น

McGlonn เลือกสื่อสารทั้งสองประเด็นง่ายๆ ด้วยวิธีแรกคือ สกรีนข้อความบนเสื้อยืดของแบรนด์ เช่น ข้อความว่า ‘End Mass Incarceration’ ที่หมายถึงการเรียกร้องให้รัฐหยุดไล่จับผู้คนเป็นจำนวนมากเข้าคุกอย่างไม่มีเหตุผลรองรับเพียงพอ ซึ่งการมีนักโทษเป็นจำนวนมากในเรือนจำได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้เกิดอุตสาหกรรมในคุก หรือการหากำไรจากสินค้าและบริการที่ผู้ต้องขังต้องจ่ายให้เรือนจำ ส่วนข้อความรณรงค์อื่นๆ ก็เช่น ‘Sustainability’ หรือความยั่งยืน และ ‘Dear Black Women, I’m Standing With You’ ที่ให้กำลังใจผู้หญิงผิวสีในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

แต่ Grant Blvd ก็ไม่ได้ “พูด” ถึงประเด็นพวกนั้นด้วยถ้อยคำเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขายัง “ลงมือปฏิบัติ” ผ่านกระบวนการผลิตสินค้าอีกด้วย พวกเขาพยายามลดการใช้ทรัพยากรหรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่าที่สุดในการผลิตเครื่องแต่งกาย เช่น เลือกใช้ผ้าฝ้ายออแกนิกที่ใช้การทอแบบเส้นทแยงที่จะทำให้เนื้อผ้ามีความคงทนสามารถใช้งานได้ยาวนานยิ่งขึ้น ผ้าฝ้ายที่ผลิตจากธรรมชาติและสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และผ้าฝ้ายที่ผ่านกระบวนการย้อมแบบยั่งยืนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้น Grant Blvd ยังไปหาซื้อผ้าเก่าและผ้าเหลือใช้จากที่ต่างๆ รวมถึงมีนโยบายไปรับซื้อผ้าที่เรียกว่า Deadstock fabric มาจากแบรนด์อื่นอีกด้วย เรื่องของเรื่องก็คือ แบรนด์แฟชั่นส่วนมากมักซื้อผ้าไว้เป็นปริมาณที่มากกว่าการผลิตจริง และพวกเขาจะเก็บผ้าที่ไม่ได้ใช้นั้นไว้จนหมดซีซั่น จากนั้นจึงจะส่ง Deadstock fabric ที่ยังคงมีคุณภาพดีครบถ้วนทุกประการไปทำลายและฝังกลบ ซึ่ง Grant Blvd มองว่าเป็นกระบวนการที่เสียเปล่าและทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไร้เหตุผล พวกเขาจึงไปรับซื้อต่อและนำมาผลิตเสื้อผ้าของแบรนด์ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำออกมาให้ดูไม่ซ้ำแบรนด์เดิม แถมยังเท่แหวกแนวไปอีก อย่างบางคอลเล็กชั่นที่จงใจแสดงให้เห็นกันชัดๆ เลยว่า ฉันเอาผ้าจากหลายที่มาปะติดปะต่อให้กลายเป็นเสื้อตัวนี้นะ แต่ก็เก๋ไปอีกแบบมั้ยล่ะ!

สุดท้าย เห็นแฟชั่นของ Grant Blvd เปรี้ยวปรี๊ดไม่เหมือนใครอย่างนี้ รู้ไหมว่าผลงานทั้งหมดล้วนเป็นฝีมือของช่างและทีมงานที่ส่วนมากเป็นอดีตผู้ต้องขังทั้งนั้น เพราะนี่คืออีกหนึ่งนโยบายที่ McGlonn ตั้งไว้ว่าแบรนด์ของเธอจะต้องมอบโอกาสในการประกอบอาชีพสุจริตแก่อดีตนักโทษในเรือนจำให้ได้

ที่มา: grantblvd.com , facebook.com/grantblvd , springwise.com

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles