อาคารอเนกประสงค์ในเอกวาดอร์ ชั้นบนเป็นโรงอาหาร ชั้นล่างเป็นพื้นที่สันทนาการ

สำหรับการใช้งานของสถาปัตยกรรมชั่วคราว เมื่อกำเนิดขึ้นแล้ว หน้าที่ของมันคือรับใช้จุดประสงค์อย่างหนึ่งในเวลาสั้น จากนั้นมันก็ต้องถูกรื้อถอนไป แบบที่เราจะได้พบกับสถาปัตยกรรมประเภทศาลาแสดงงาน ซึ่งเมื่อจบงานนิทรรศการนั้นแล้ว ก็จะถูกรื้อทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย แต่ถ้าเราเพิ่มแนวคิดที่จะหาทางให้เศษวัสดุเหล่านี้มันกลับมาเป็นสถาปัตยกรรมอีกครั้ง การออกแบบมันจะช่วยให้เป็นไปแบบไหนได้บ้าง

คำตอบของคำถาม ต้องพามาที่ย่านชานเมืองของประเทศเอกวาดอร์ เมื่อสถาปนิกเจ้าถิ่นของประเทศเอกวาดอร์ Al Borde + Taller General เสนอให้สร้างสถาปัตยกรรมขนาดเล็กเพื่อรองรับกิจกรรมของเหล่าเด็กในชุมชนด้วยวัสดุที่รื้อจากศาลาแสดงงาน โครงการนี้เริ่มต้นที่ทางชุมชน Guadurnal  แห่งนี้ประสบภัยแผ่นดินไหวในวันที่ 16 เมษายน 2016 ทำให้ขาดส่วนอำนวยความสะดวกพื้นฐานไป ในขั้นตอนการออกแบบสถาปนิกได้ลงพื้นที่เพื่อทำการประชุมเชิงปฏิบัติการกับชาวชุมชน เพื่อหาคำตอบของแนวทางการสร้างงานนี้ โดยเป็นโรงอาหารอเนกประสงค์สำหรับเด็ก ผู้คนในชุมชน กิจกรรมในงานนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก พื้นที่ชั้น 2 เป็นส่วนรับประทานอาหารกลางวันของเด็ก และชั้นล่างแบบใต้ถุนเป็นพื้นสำหรับการเล่น สันทนาการในชุมชน

จุดน่าสนใจของงานนี้คือส่วนโครงสร้างที่เป็นไม้ เป็นการรื้อมาจากศาลาแสดงงาน United Nations Housing Conference ที่เอลกวาดอร์เมื่อปี 2016 ไม้ส่วนที่รื้ออกมากลายเป็นโครงสร้างหลักของโรงอาหาร มันถูกออกแบบให้แยกออกจากกันเป็น 2 ส่วน พร้อมกับสอดบันไดเข้าไปยังตรงกลาง การออกแบบมีลักษณะสอดคล้องตามภาพภูมิอากาศ ผนังส่วนใหญ่เป็นแบบโปร่ง ช่วยในการระบายอากาศได้ดี ผนังส่วนล่างของชั้น 2 เป็นผนังฉาบแบบปลาสเตอร์ด้วยการใช้กากอ้อยเป็นส่วนผสมที่ฉาบทับด้วยซีเมนต์ ซึ่งอ้อยเป็นพืชที่หาได้ทั่วไปในประเทศแถบละตินอยู่แล้ว มันได้ถูกประยุกต์จากเศษวัสดุจากการผลิตน้ำตาลให้มารับใช้ชุมชนอีกครั้ง ผนังส่วนนี้ถูกวาดให้บอกเรื่องราวในชุมชนหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนั้น พื้นที่ใต้ถุนออกแบบโครงสร้างยกพื้นสูง 2 เมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วม ผลพลอยได้คือมันกลายเป็นพื้นที่ในร่มที่สมารถรองรับได้หลายกิจกรรม เสาถูกออกแบบให้เป็นเสา 4 แฉก มันสามารถรองรับตาข่ายสำหรับการเล่นของเด็ก และยังง่ายต่อการปีนป่ายของเด็กอีกเช่นกัน

หลังจากผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ในช่วงออกแบบเมื่อปี 2017 งานนี้เปิดใช้ในปี 2018

การก่อสร้างเป็นการร่วมแรงจากอาสาสมัครทั้งในชุมชน นอกชุมชน ทีมออกแบบ ทำให้เป็นการร่วมทั้งแรงกายแรงใจ เพื่อใช้ความคิดคนกลับมารับใช้คนในสังคมที่ขาดแคลนให้มีชีวิตชีวาจากสถาปัตยกรรมขนาดเล็ก แต่เป็นอีกก้าวที่จะบอกว่า มันทำได้

อ้างอิง: www.albordearq.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles