โรงเรียนประถม JADGAL ในอิหร่านสร้างด้วยแนวคิดงบน้อยประโยชน์ใช้สอยมาก

การออกแบบสถาปัตยกรรมในพื้นที่ห่างไกลที่มีเงื่อนไขเรื่องของวัสดุ เทคนิคการก่อสร้าง และแรงงานเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงกว่าเงื่อนไขของสถาปัตยกรรมที่อยู่ในพื้นที่เมือง และเรื่องต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของการออกแบบที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ประสานเข้ากับชุมชนจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง การออกแบบสถาปัตยกรรมโดย Daaz Office มีคำตอบในบทความนี้

ณ หมู่บ้าน Seyedbar-Jadgal ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศอิหร่าน เกิดความต้องการที่จะสร้างโรงเรียนด้วยงบประมาณที่จำกัด และสร้างด้วยแนวคิดที่ไม่เน้นการบริจาค โดยการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชน Iran-e- Man การดำเนินงานเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้คนในหมู่บ้าน ทั้งในเรื่องของการก่อสร้างและการใช้พื้นที่ในโรงเรียนใหม่แห่งนี้ การก่อสร้างจึงมีทั้งการเวิร์กช็อปร่วมกัน การลงแรงก่อสร้างก็ได้รับการช่วยเหลือเรื่องเงินทุนจากการขายงานหัตถกรรมสู่เงินบริจาคในการก่อสร้างโรงเรียน

การใช้พื้นที่ในโรงเรียนนี้ไม่ใช่แค่เพื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กในหมู่บ้านเท่านั้น แต่ในวันหยุดและเวลากลางคืนจะเป็นดั่งศาลาประชาคม เป็นพื้นที่ชมภาพยนตร์ การเล่นฟุตบอล ห้องสมุด ไปจนถึงรองรับนักท่องเที่ยว โดยได้รับความร่วมมือในการดูแลรักษาจากชาวบ้าน และรายได้ที่เกิดขึ้นก็จะมาถูกใช้ในการบำรุงรักษาโรงเรียนอีกทางหนึ่ง พื้นที่ใช้สอยประกอบด้วยห้องเรียนประถมศึกษา 4 ห้อง ในขณะเดียวกันมันสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานร่วมกันได้ ทั้งในส่วนของห้องสมุด ห้องโถงอเนกประสงค์ ที่สามารถกลายเป็นห้องประชุม ห้องปฏิบัติการ ห้องสอบ ด้วยเงื่อนไขของจำนวนนักเรียนที่มีมากแต่ครูมีน้อย การออกแบบห้องเรียนและรูปแบบการเรียนจึงให้มีห้องเรียนที่มีขนาดแตกต่างที่สามารถเชื่อมต่อถึงกัน โดยมีพื้นที่ตรงกลางให้นักเรียนที่อายุน้อยกว่าสามารถเข้าร่วมเรียนกับนักเรียนรุ่นพี่ได้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาจากข้อจำกัดเรื่องของบุคลากรครู

โรงเรียนถูกออกแบบให้เป็นผนังวงกลมล้อมรอบห้องเรียน ขณะเดียวกันแต่ละห้องเรียนก็ไม่ได้เรียงกันเป็นระเบียบ ทำให้เกิดเส้นรอบรูปเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการระบายอากาศที่ดีขึ้น จุดเด่นเมื่อมองจากภายนอกคือผนังที่ดูเหมือนจะทำหน้าที่เป็นส่วนป้องกันภายในจากภายนอก แต่ตัวผนังเป็นรูพรุนเป็นรูปทรงอิสระทำให้สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ ทำให้ผนังไม่ได้เป็นตัวแบ่งพื้นที่ระหว่างภายนอกและภายในเพียงอย่างเดียว แต่ทำหน้าที่เป็นเหมือนกรอบภาพให้กับภายนอกที่มองเห็นกิจกรรมภายในเพื่อเชื้อเชิญให้เข้ามาใช้งานภายในได้ ทั้งในเรื่องของการเรียนการสอนและกิจกรรมอื่นๆ ในวันหยุด นอกจากนี้โครงสร้างของโรงเรียนนี้ถูกสร้างโดยวิธีการหล่อคอนกรีตเป็นฉนวนมีแผงโพลีสไตรีน (EPS) พร้อมโครงเหล็กชุบสังกะสีและคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยเปลือกภายนอกเป็นวัสดุกึ่งท้องถิ่นซึ่งเป็นส่วนผสมของซีเมนต์และดินในท้องถิ่น มีคุณสมบัติป้องกันการเกิดสนิมเนื่องจากฝนตกมากเกินไป โดยเนื้อวัสดุมีสีกลมกลืนกับสภาพโดยรอบและยังซ่อมแซมง่ายได้ด้วยฝีมือของชาวบ้านอีกด้วย

งานออกแบบที่ดีอาจจะไม่จำเป็นต้องมีงบที่มากมาย แต่เป็นการทำงานร่วมกับการออกแบบกระบานการเกิดที่ดีแก่ผู้มีส่วนได้เสียกันทุกฝ่าย ทำให้ผู้ใช้ในชุมชนมีส่วนร่วมจนเกิดสำนึกความเป็นเจ้าของร่วมกันในที่สุด

  

แปลและเรียบเรียงจาก: www.archdaily.com
ที่มา: daazoffice.com, www.designboom.comthe.akdnarchitizer.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles