Happiness Calendar ปฏิทินสำรวจความสุขด้วยการบันทึกความรู้สึกในแต่ละวัน

ปฏิทินในรูปแบบการเดินทางของดวงดาวแผ่นนี้ แค่ดูเผินๆ ก็ผิดแปลกแตกต่างไปจากปฏิทินทั่วไปที่เราเคยพบเห็นกันมา นี่คือปฏิทิน ‘ความสุข’ ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ใช้ได้มีโอกาสรู้จักและเข้าใจตัวเอง โดยบันทึกความรู้สึกในแต่ละวันผ่านวิธีการง่ายๆ อย่างการระบายสี

สีสันทั้ง 8 กับการสะท้อน 8 อารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ ตั้งแต่สีส้ม ในวันที่สนุก สดใส ร่าเริง และเบิกบาน | สีชมพู ในวันที่หัวใจมีรัก อบอุ่น และอิ่มเอม | สีเขียว ในวันที่สบายใจและผ่อนคลาย | สีเหลือง ในวันที่รู้สึกเฉยๆ เป็นปกติ ธรรมดา | สีน้ำเงิน ในวันที่เบื่อและเซ็ง | สีม่วง ใรวันที่สับสน กังวล หรือแปรปรวน | สีแดง ในวันที่หงุดหงิด โกรธ โมโห | สีดำ ในวันที่ท้อแท้ เศร้าโศก และเสียใจ ที่ ธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการธนาคารจิตอาสา และ โสมรัสมิ์ เรืองรัตน์ ผู้อำนวยการงานสื่อสาร ตลอดจนทีม ชูใจ กะ กัลยาณมิตร ร่วมกันสรรค์สร้างขึ้นก็เพื่อให้ปฏิทินแผ่นนี้เป็นเครื่องมือเบื้องต้นที่เราจะมีโอกาสได้ทบทวนตัวเอง มองเห็นความสุขที่ไม่เคยมองเห็น พบต้นเหตุแห่งทุกข์ เพื่อนำไปสู่หนทางแสวงหาสุขที่แท้และยั่งยืน

โดยเรื่องราวของปฏิทินพิเศษที่ว่านี้ ตลอดทั้งมุมมองที่ต่อสังคมและสังคมของพวกเขาได้ถูกรวบรวมไว้ในบทสนทนาฉบับนี้แล้ว

ความคิดต้นน้ำแห่งปฏิทินสร้างสุข

ธีระพล: “ก่อนจะเข้าเรื่องปฏิทิน พี่ขอเท้าความสักนิด จริงๆ แล้ว พี่และทีมทำงานอยู่หลายโครงการ หนึ่งในโครงการที่สังคมรับรู้คือ ความสุขประเทศไทย หรือว่า www.happinessisthailand.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาความสุขจากตัวเอง เป็นการแสวงหาความสุขที่ไม่ต้องสรรหาจากการไปซื้อไปหา ความสุขประเทศไทยก็เป็นงานสำคัญในโครงการของเราที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. โดยเป้าหมายเบื้องหลังทั้งหมดนี้คือ ‘ความสุขที่แท้’ หรือเขาเรียกเป็นคำเฉพาะในเรื่องส่งเสริมสุขภาพว่า ‘สุขภาวะทางปัญญา’ ฉะนั้น งานของความสุขประเทศไทยก็จะเป็นงานที่ทำโดยให้คนเข้าถึงความสุขแบบที่ไม่ต้องใช้คำวิชาการหรือคำที่ชวนให้คนรู้สึกว่ายังห่างไกล เพราะจริงๆ ความสุขเป็นเรื่องใกล้ตัว แล้วแต่ละคนก็เข้าถึงได้ในรูปแบบและระดับที่แตกต่างกัน แล้วแต่สภาวะและวุฒิภาวะ รวมถึงเงื่อนไขของเขาด้วย

สำหรับเรื่องการพัฒนาจิตหรือปัญญา หรือความสุขที่แท้ ความสุขประเทศไทยจะบอกว่าเราเข้าถึงได้หลากหลายช่องทาง แล้วก็ด้วยความหลากหลาย เพื่อให้เข้าใจและสื่อสารง่าย เราก็มี 8 ช่องทาง ที่คนเห็นปุ๊บจะนึกออกว่ามีเรื่องเหล่านี้ที่เขาสามารถไปหา ลองทำ และมีประสบการณ์ได้ด้วยตัวเอง ใน 8 เรื่องที่ว่าก็จะรวมไปถึงเรื่องจิตอาสา ภาวนา ศิลปะ ความสัมพันธ์ เป็นต้น บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เราสามารถทำเองได้ เช่น เรื่องจิตอาสา เราก็มีธนาคารจิตอาสา เป็นแพลตฟอร์มให้คนมีโอกาสได้เข้าถึงงานอาสาสมัคร เราจัดเวิร์กช็อปทุกเดือนๆ เช่น “ฟังสร้างสุข” ที่สนับสนุนการสร้างความสุขในด้านความสัมพันธ์ สอนเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้ง หรือแม้กระทั่งได้ความรู้มาแล้วลองทำเองได้ เช่น การภาวนา ซึ่งก็เป็นความสุขจากเรื่องสุขภาวะทางปัญญาอย่างหนึ่ง ซึ่งทั้ง 8 เรื่องนี้นำไปสู่สิ่งเดียวกันคือการทำให้คนมีความสุขจากการเข้าใจตัวเอง การเตรียมตัวเอง ห่างไกลจากการไปติดอยู่กับความสุขตื้นๆ จากการบริโภค จากการเสพ เพราะฉะนั้น การจะได้ความสุขเหล่านี้ คือความสุขที่ต้องเกิดจากการได้รู้เนื้อรู้ตัวว่าตอนนี้ฉันคิด ฉันพูด ฉันรู้สึกอะไร โดยมากเราจะหลงไปอยู่กับเรื่องที่อยู่ตรงหน้า กับทีวี กับโทรศัพท์ตรงหน้า หรือจมอยู่ในความคิด แต่ไม่ได้สังเกตเห็นว่าเรากำลังอยู่ในความคิดนั้นอยู่ ฉะนั้นสิ่งนี้เรียกว่า self-awareness หรือความรู้เนื้อรู้ตัว ต่อมาคือ self-reflection คือการได้กลับมามองและทบทวนตัวเอง พอกลับมาเห็น ก็จะไม่ตกไปอยู่ในความคิด ในอารมณ์ ถ้าลึกลงไปหน่อยก็คือการได้มองเห็นและสะท้อนถึงชีวิตที่เกิดขึ้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้น แล้วก็ไม่ไปจมอยู่ในมัน นี่คือแนวคิดเบื้องหลังของทุกๆ ช่องทางเลย ดังนั้น จะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรมที่หลายๆ คนสามารถเข้าถึงได้ เข้าร่วมด้วยและเลือกได้ว่าหลังจากที่ได้เห็นได้รู้ ช่องทางไหนใน 8 ช่องทางที่เหมาะกับเขา โดยปฏิทินความสุข หรือ Happiness Calendar ก็เริ่มมาตอนช่วงที่มีคำถามเหล่านี้เกิดขึ้น”

ปฏิทินบันทึกความรู้สึก ตรวจสอบความสุขในแต่ละวัน

ธีระพล: “พวกเราไม่ได้ตั้งใจจะให้ตัวปฏิทินอยู่ในช่องใดช่องหนึ่งเป็นพิเศษ เพราะแต่ละช่องทางก็มีแนวคิด วิธีปฏิบัติ และรายละเอียดแตกต่างกันไป อย่างโยคะ ไม่ใช่ว่าโยคะอะไรๆ ก็ใช่ จิตอาสาก็เหมือนกัน ไม่ใช่แค่เราไปทำงานอาสาอะไรๆ ก็ใช่ หรือศิลปะก็เช่นกัน งานศิลปะที่วาดอยู่นี้ไม่ใช่ภาพเพื่อการแข่งขัน ซึ่งแต่ละอย่างจะมีกระบวนการและวิธีการของมันอยู่ ฉะนั้น Happiness Calendar จะเป็นเหมือนประตูบานแรกที่เปิดให้คนเข้าไปเจอส่วนที่กล่าวมาข้างต้น โดยแนวคิดที่มาของปฏิทินนี้มาจากการนำเอา self-awareness และ self-reflection มาเจอกัน สำหรับคนที่ไม่เคยมีเครื่องมือหรือวิธีการมาก่อน ไม่เคยรู้ ไม่เคยปฏิบัติธรรม หรือว่าไม่เคยฝึกอะไรด้วยตัวเองมาก่อน นี่ก็จะเป็นช่องทางง่ายๆ ที่ทำให้เขาสามารถสัมผัส ได้ลอง ได้เห็นตัวเองในแบบนี้บ้าง”

โสมรัสมิ์: “ปฏิทินนี้เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับผู้เริ่มต้นก็ได้ ที่ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว สิ่งที่อาจารย์หนุ่ม (ธีระพล) พูดคือให้คุณมีโอกาสได้รู้จักตัวเอง แล้วการรู้จักตัวเองคืออะไร ก็คือการได้ทบทวนว่าเรารู้สึกนึกคิดอย่างไร โดยปกติคนเราอาจไม่ได้ตั้งคำถามหรือพูดคุยกับตัวเอง แต่เรามักจะพูดกับคนอื่นตลอดทั้งวัน ปฏิทินนี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เขาได้พูดคุยกับตัวเอง ได้รู้ความรู้สึกในแต่ละวัน ซึ่งสำคัญมากเลยนะ ว่าตอนเช้าที่เราตื่น เรื่องราวระหว่างวัน จนเข้านอน มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น และแต่ละช่วงเวลาเราเจอแรงปะทะอะไรบ้าง บางวันอาจจะทุกข์ บางวันอาจจะสุข เราไม่อยากให้ชีวิตมีคำตอบแค่ว่าวันนี้รู้สึกทุกข์หรือวันนี้รู้สึกสุข แต่คำตอบมันสามารถขยายได้กว้าง ซึ่งนั่นทำให้เราได้มองเห็นชีวิตตัวเองว่าทุกๆ วันที่ผ่านไป เรามีความสุขอยู่สักกี่วัน บางครั้งเราอาจจะรู้สึกทุกข์จังเลย ทุกข์มาก แต่การได้ลองระบายความรู้สึกใน 1 ปีปฏิทินของ Happiness Calendar คุณอาจค้นพบว่า จริงๆ แล้วตัวเรามีความสุขมากกว่าความทุกข์ด้วยซ้ำ และแม้ในชีวิตเราจะระบายสีดำหรือสีเทาอยู่ที่แทนความรู้สึกทุกข์ ไม่สบายใจ แต่ท้ายที่สุด เดี๋ยวมันก็จะคลายลงเอง  ซึ่งพอทำอย่างนี้สะสมไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราบันทึกจะทำให้เราได้เห็นความรู้สึกตัวเอง สะท้อนตัวเองเป็น และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามีเหตุและผลจากอะไร”

‘ความสุขประเทศไทย X ชูใจ’ สองกัลยาณมิตรผู้ปลุกปั้น Happiness Calendar

ธีระพล: “เราเริ่มจากการมานั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้มีเครื่องมือที่ทำให้คนได้เข้าใจและตระหนักรู้เรื่องความรู้สึกตัวเอง ขณะเดียวกันก็ได้สะท้อนให้เห็นอะไรออกมาได้ด้วย ประกอบกับตอนนั้นเป็นช่วงใกล้สิ้นปี เลยนึกถึงปฏิทินกันขึ้นมา แล้วให้ทีมชูใจเขาช่วยคิดว่าทำอย่างไรให้น่าสนใจ”

โสมรัสมิ์: “เราอยากออกแบบเครื่องมือที่ดีที่สามารถสร้างการจดจำและมีข้อแตกต่าง เราก็ทำการบ้าน ทางครีเอทีฟก็ทำการบ้านมา ปฏิทินความสุขจึงเป็นแคมเปญที่อ้างอิงไปกับแนวคิด Naikan หรือ ไนกัน ซึ่งเป็นวิถีของคนญี่ปุ่นในการทำความรู้จักและเข้าใจตัวเองจากการสำรวจอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งจริงๆ เราไม่ได้ตั้งต้นจากการไปเจอหลักนี้ของญี่ปุ่นก่อนแล้วค่อยมาพูด แต่ว่าหลักนี้จริงๆ ของไทยก็มีอยู่แล้วและชัดเจนมาก พอมาทำปฏิทินนี้เราก็มานึกว่า mood and tone ควรจะเป็นอย่างไรถึงจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย จนกระทั่งไปเจอเรื่องเดียวกัน คอนเซ็ปต์เดียวกันกับ Naikan ปฏิทินของเราจึงมีรูปแบบที่เป็นโมเดิร์นสไตล์ญี่ปุ่น กลุ่มเป้าหมายหลักของเราก็คือ น้องๆ เยาวชน คนทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดการตัวเองและอารมณ์ของตัวเองได้ยาก โดยเราอยากให้ปฏิทินนี้เป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยเขาได้”

แตกต่างจากขนบด้วยปฏิทินในรูปแบบการเดินทางของดวงดาว

โสมรัสมิ์: “เราอยากให้ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน แล้วในแง่ของการดีไซน์ แน่นอนว่าไม่ได้เป็นปฏิทินปกติที่ระบุตัวเลขเป็นช่องๆ แต่ปฏิทินตัวนี้จะบอกว่าในแต่ละวันที่ชีวิตของเราดำเนินไปมันเชื่อมโยงกัน เพราะนี่ไม่ใช่ปฏิทิน 365 วัน แต่คือปฏิทินที่เรากำลังจะได้ทบทวน ได้มองเห็นตัวเอง อยากให้วันเวลาเป็นตัวบอกช่วงชีวิตและเล่าชีวิตของเราในแต่ละช่วงด้วย”

ธีระพล: “นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ส่วนหนึ่งเราเลือกกันแล้วว่าจะเป็นแบบไหนอย่างไร อย่างที่พี่แอน (โสมรัสมิ์) ว่าแบบที่นำเสนอมาอย่างนี้เข้ากันกับเรื่องของการพัฒนาจิต ซึ่งถ้าเราคุ้นเคยเรื่องงานศิลปะเพื่อสะท้อนตัวเอง หรือว่างานอย่างแมนดาลาของทิเบต ทุกอย่างจะเป็นวงกลม แม้แต่กระทั่งโลโก้ธนาคารจิตอาสาก็บ่งบอกถึงการที่ชีวิตเป็นวงจร มีขึ้น มีลง มีช่วงเวลาที่เราเติบโต มีจุดบรรจบ ซึ่งวงกลมบอกอะไรได้เยอะมาก และการเชื่อมโยงแต่ละจุดในปฏิทินจะทำให้คนลดความเร่งรีบและไม่ตกอยู่ในความเคยชิน แล้วเมื่อวันหนึ่งที่เราวนกลับมาในสถานการณ์เดิมๆ เจอคนเดิมๆ แต่หากคุณภาพความคิดและความรู้สึกของเราเปลี่ยนไป ก็จะนำไปสู่ความสุขได้ง่ายขึ้น”

เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน

ธีระพล: “คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าเมื่อระบายเสร็จ เราสามารถเห็นยอดสรุปรวม 1 ปี ว่าเป็นอย่างไร แต่จริงๆ แล้วเครื่องมือนี้ ตอนจบวันที่เราเลือกว่าจะระบายสีอะไรลงไป ตอนนั้นแหละคือโอกาสที่เราได้เริ่มทบทวนและมองตัวเองแล้วนะ ถ้าคนที่ระบายสีบ่อยๆ อาจไม่ได้สังเกต แต่คนที่ไม่เคยทำ ช่วงที่ระบายสีลงไปบนปฏิทิน แม้จะเป็นเวลาไม่นาน แต่เราจะมีสมาธิ ณ ชั่วขณะนั้น นี่ถือว่าอยู่ในระหว่างกระบวนการที่ใช้ตรวจสอบความรู้สึกตัวเอง ได้เช็ค self-awareness โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องทำให้ครบทั้งเดือนหรือทั้งปีถึงจะเห็นผล ผลจากการสะท้อนตัวเองมันเกิดขึ้นในทุกขณะที่เรากำลังระบายสีลงไป การที่เราได้ฝึก มันคือการได้เริ่มมอง ณ ช่วงเวลาปัจจุบันตอนที่เรากำลังรู้สึกนึกคิดอยู่ และเราทำปฏิทินให้มีขนาด A1 ซึ่งหลายคนก็บอกว่า มันไม่ practical จะติดตรงไหน แต่เราเชื่อว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีความรู้สึกว่ารัก เห็นประโยชน์ เราก็จะรักษาในที่ๆ ควรอยู่ แล้วเราก็รู้ว่ามีหลายคนติดที่บ้านเลยด้วย (ยิ้ม)”

โสมรัสมิ์: “ถ้าเปรียบ ปฏิทินนี้ถือเป็นแอพพลิเคชั่นแบบแฮนด์เมดแล้วกัน เป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ร่วมที่เป็นจริง เพราะชีวิตเราทุกอย่างคือของจริง ปฏิทินจะทำให้คนสามารถใช้ความรู้สึกถ่ายทอดได้ละเอียดขึ้น ขณะที่มือระบายสีลงไป เรียกว่าได้ระบายความรู้สึกจริงๆ พี่ว่านี่เป็นสิ่งที่จำเป็นนะ”

เมื่อการระบายสีไม่ใช่แค่การสะท้อนความรู้สึก แต่สร้างชุมชนแห่งการแบ่งปัน

โสมรัสมิ์: “เราสื่อสารแคมเปญปฏิทินความสุขนี้ให้คนรับรู้และดาวน์โหลดผ่านเพจความสุขประเทศไทย หลังจาก launch ออกไป ยอดการดาวน์โหลดนี่สูงมากแบบที่เราก็คาดไม่ถึงเหมือนกันนะ และมีสิ่งที่น่ายินดีมากๆ คือเกิดสังคมของการร่วมแบ่งปันขึ้น คือบางคนที่ถนัดเรื่องของการใช้ Excel เขาไปทำ Happiness Calendar นี่ให้เป็นรูปแบบ Excel เผื่อว่าใครอยากใช้ หรือตัวปฏิทินที่เราทำเป็นขนาด A1 ซึ่งขนาดใหญ่มากและเราก็ตั้งใจทำให้ใหญ่ แต่ก็มีแฟนเพจที่น่ารักมากๆ  ได้ติดต่อมาบอกเราว่าถ้าขนาด A1 ใหญ่ไป อาจจะต้องไปหาร้านพรินท์อีก ตอนนี้เขาอาสาช่วยออกแบบตัดแบ่งเป็นขนาด A4 ต่อกัน 4 แผ่นพรินท์เองที่บ้านได้ ยินดีให้แฟนเพจคนอื่นๆ มาเลือกใช้ขนาดไหนก็ได้ตามสะดวกเลย  เราสื่อสารออกไปครั้งนี้ สิ่งที่ได้มากกว่าการรับรู้และการเข้าใช้ของกลุ่มเป้าหมาย  คือเราได้เห็นว่าแฟนเพจของเราเป็นคอมมูนิตี้ของการแบ่งปัน เราได้เห็นความพยายาม ความหวังดี เอื้อเฟื้อต่อกัน การที่ลองนึกดูว่าคนคนหนึ่งอยากแบ่งปัน อยากให้ ความสุขก็เกิดขึ้นแล้ว และเรารู้สึกว่าสิ่งที่ตั้งใจมันส่งต่อไปไกลกว่าที่เราคิดไว้มาก”

ความคิดสร้างสรรค์ เครื่องมือเปลี่ยนสังคมด้วยมุมมองที่แตกต่าง

ธีระพล: “เป็นเรื่องที่ชัดเจนจนไม่รู้จะชัดอย่างไรอีกแล้วที่ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ดูแล หรือเข้าไปเยียวยาใคร รวมถึงสังคมใดๆ ได้เลย ถ้าเรายังคิดกันแบบเดิมๆ คิดอยู่ในโครงสร้างเดิม แล้วความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่วิชาชีพ แต่เป็นคุณลักษณะที่อยู่ในตัวทุกๆ คน พี่เชื่อว่าคนที่จะมีความคิดสร้างสรรค์อะไรเกิดขึ้นมาได้ มันเกิดจากการที่ได้อยู่กับตัวเอง ทบทวนตัวเอง และรู้เนื้อรู้ตัว ไม่อย่างนั้นเราจะติดอยู่กับข้างนอก กับเรื่องภายนอก การบริโภค ถ้าคนที่ติดอะไรเยอะๆ เขาจะรู้สึกว่าเขาต้องวิ่งตาม ทำตาม แต่เมื่อคนจะเริ่มทำอะไรที่แตกต่าง คนนั้นคือคนที่เริ่มเห็นตัวเอง เขาจึงเห็นสังคมอีกมุมหนึ่ง ความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่ง แล้วถึงจะบอกอะไรออกมา นั่นเราเรียกว่าความคิดสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น ครีเอทีฟจึงเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคม”

ทัศนะต่องานภาคสังคม ในวันที่ความเร็วและแรงเหวี่ยงมีมากกว่าเดิม 

ธีระพล: “ด้วยความที่พี่ทำงานในภาคสังคมมา ปัญหาที่เจอหรืออุปสรรคก็ไม่เชิงว่ายากหรือง่ายกว่าอดีต เพราะสิ่งที่เจอมามีทั้งจุดที่ยากกว่าและง่ายกว่าอดีต แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือความเร็วและแรงเหวี่ยงที่มีมากกว่าเดิม แต่เดิม เวลาที่เรามองปัญหาสังคมว่าเกิดจากอะไร เราจะเห็นผู้เล่นหลักๆ ของเรื่องนั้นว่ามีใครบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ไวมากเพราะโครงสร้างพื้นฐานของสังคมเราเปลี่ยน ที่ชัดเจนที่สุดก็คือเรื่องเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องการเมืองอาจจะเปลี่ยนช้าหน่อย เพราะฉะนั้น พอมีความเร็ว มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นนิดเดียว ก็จะกลายเป็นเรื่องที่จุดประกายได้และแรงเหวี่ยงก็เร็วมาก บางคนได้รับผลกระทบเยอะ เช่น แต่เดิม เรามีเรื่องการ bully แค่ในโรงเรียน ตอนนี้กลายเป็นคนทั้งประเทศ bully คนคนเดียวก็เป็นไปได้ ฉะนั้น ปัญหาสังคมหลายๆ เรื่องเป็นปัญหาที่มาเร็ว แล้วก็แรงขึ้นมาก แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสที่ทำให้เราเข้าไปดูแลปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือว่าทำให้คนเข้าไปเห็นปัญหา เห็นโอกาสพร้อมๆ กันได้มากขึ้น

ถ้าถามว่าอดีตกับปัจจุบันต่างกันอย่างไร ถ้าลงรายละเอียดแต่ละเรื่อง เราจะเห็นในแต่ละเรื่องแตกต่างกันไป อย่างที่นี่ เราทำงานว่าด้วยเรื่องสุขภาวะทางปัญญาหรือการพัฒนาจิต เมื่อก่อนโครงสร้างหรือลักษณะทางวัฒนธรรมจะเอื้อให้คนค่อยๆ ดูแลกัน เอื้อให้เราสามารถดูแลตัวเองได้ง่ายกว่า แต่การเข้าถึงความรู้ ผู้รู้ รวมถึงวิธีในการดูแลตัวเองก็ยังจำกัด ยังติดอยู่กับศาสนาและผู้รู้เยอะอยู่ แต่ปัจจุบันนี้ เมื่อโครงสร้างหลายอย่างเปลี่ยน ก็ทำให้คนสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นและไวขึ้น เด็กๆ ใช้ยูทูปเป็น ถ้าเขาไปเจอยูทูปของยูทูปเปอร์บางคนที่พูดเรื่องนี้ เขาก็จะได้ความรู้นี้ไปแล้วโดยไม่ต้องไปบวชเรียน แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อการเข้าถึงง่าย ก็ทำให้เขาเข้าถึงเรื่องที่ทำให้หลุดออกจากตัวเองได้ง่ายเหมือนกัน ฉะนั้น หลายๆ เรื่องก็ไม่แปลกที่ปัจจุบันนี้จะนำสู่ปัญหาบางอย่างที่ในอดีตไม่เคยมี แต่ในขณะเดียวกัน ก็เห็นคนรุ่นใหม่หลายคนที่รู้ว่าจะดูแลตัวเองอย่างไรมากขึ้นด้วย”

Passion และสิ่งเล็กๆ ในธรรมชาติที่สร้างพลังและบันดาลใจ

โสมรัสมิ์: “ก่อนนี้ทำงานภาคธุรกิจ มันหล่อเลี้ยงเราในเรื่องของเงินที่ได้มาเพื่อไปซื้อสิ่งต่างๆ แล้วเราเรียกมันว่าความสุข แต่ว่างานภาคสังคม ด้วยเนื้องานที่ทำอยู่ ถ้าได้นำมาได้ใช้กับตัวเอง เรียนรู้ในขณะที่ทำงานและได้ผลลัพธ์ที่ไม่ใช่เงิน โบนัส หรือกำไร แต่คือผลประกอบการชีวิต ที่ได้ทั้งกัลยาณมิตร ได้มีความสุขง่ายๆ เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวัน และเรียนรู้ว่าชีวิตที่เราเรียกว่าทำมาหากินเลี้ยงชีวิตเป็นแบบนี้นี่เอง ไม่ใช่แค่การทำงานหาเงินอย่างเดียว”

ธีระพล: “สำหรับพี่ บางเรื่องพี่ก็ใช้แค่วิธีง่ายๆ ได้ในการดึงเรากลับมาจากวันที่ยากๆ พวกเราก็มีวิธีการบางอย่างที่ง่ายกว่าที่เป็นการปฏิบัติร่วม เช่น บางวันพี่กับพี่แอนกลับบ้าน เราก็มองหาแมว แค่เห็นแมวก็มีความสุข เห็นแมวเราก็ยิ้มได้ แต่ไม่ใช่แค่ตื้นๆ ว่าเห็นอะไรน่ารักๆ แล้วเรายิ้มได้นะ ในทางการพัฒนาจิตในสายพุทธแบบวัชรยานก็มีแนวคิดที่ว่าการมีกาละ หรือการเห็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในธรรมชาติ ในโลกนี้ที่บันดาลใจเรา จะช่วยดึงให้เราออกจากเรื่องที่จมอยู่ในความคิด ดึงให้เราไปอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้ใจสว่าง ดึงเรากลับไปอยู่ในจุดที่สว่าง เพราะฉะนั้น ตรงนั้นจะเป็นแมว จะเป็นดอกไม้ จะเป็นใบไม้หนึ่งใบที่ชวนให้เรามีพลังดีๆ ขึ้นมานั้นก็ใช่ ดังนั้น ทุกคนก็ทำแบบนี้ได้ แต่ละวันๆ พี่จะมีเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กๆ ในชีวิตนอกเหนือจากโอกาสที่จะได้มาภาวนาร่วมกัน หรือว่ามีกระบวนการรับฟังด้วยกัน”

โสมรัสมิ์: “ใช่เลย จริงอย่างที่อาจารย์หนุ่มพูด พี่ก็เพิ่งเข้าใจว่าความสุขมาจากการได้ชื่นชมสิ่งเล็กๆ  ก็ได้ ดอกไม้ตรงรั้วบ้านคนอื่นก็ทำให้เรามีความสุขได้เหมือนกัน”

พระผู้ทรงเป็นต้นแบบชีวิต สู่โครงการจิตอาสาพลังแผ่นดิน 

ธีระพล: “เนื่องจากพวกพี่ทำหลายอย่าง ตอนนี้มี 3 โครงการหลักๆ คือ ธนาคารจิตอาสา ความสุขประเทศไทย และจิตอาสาพลังแผ่นดิน ซึ่งจิตอาสาพลังแผ่นดินก็ตรงกับคำถามที่พูดถึงเลยแหละว่าใครเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราในเรื่องการทำงาน แค่ฟังชื่อก็คงเดาได้แล้วว่าเป็นใคร อย่างในหนังสไปเดอร์แมนเขาบอกนะว่า ‘พลังอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เราเติบโตมา แล้วเราจะทำหรือมีโอกาสทำอะไรได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าจะถามมากกว่าคือเราจะใช้ความสามารถ ทักษะ และโอกาสที่เรามีไปทำอะไรที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างอย่างแท้จริงได้อย่างไร และแรงบันดาลใจของพวกเราก็มาจากพระองค์ท่านไม่น้อยเลย

โครงการจิตอาสาพลังแผ่นดิน พวกเราและ สสส. เริ่มต้นขึ้นหลังจากการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เราตั้งคำถามกันขึ้นมาว่าเราจะทำอย่างไรให้สิ่งที่ทำเป็นเรื่องที่สร้างพลัง แทนที่เราจะเสียใจ แล้วไปทำอะไรในเชิงเสียใจ เราเปลี่ยนไปลงมือทำเหมือนที่พระองค์ทำเป็นแบบอย่างให้เราได้เห็น จิตอาสาพลังแผ่นดินจึงเป็นโครงการที่ชวนให้คนเห็นว่า งานความรับผิดชอบเพื่อสังคมหรือ CSR เป็นโอกาสและเป็นงานที่เปลี่ยนแปลงอะไรได้เยอะ ไม่ใช่แค่งานที่ต้องทำหรือเป็นเทรนด์ แต่เป็นงานที่ทำให้เราเห็นคุณค่าในสิ่งต่างๆ เป็นงานที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่ตัวบริษัท แต่รวมไปถึงพนักงานให้รักกันมากขึ้น เข้าใจบริษัทมากขึ้น แล้วก็รักชุมชนที่อยู่มากขึ้น เพราะว่าเราทุกคนหายใจด้วยอากาศเดียวกัน ไม่มีการแยกแบ่งเขาแบ่งเรา แล้วก็เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราต่อยอดไปสู่งานอื่นๆ อีกหลายเรื่อง”

โสมรัสมิ์: “โลกของเราวันนี้เป็นโลกที่คนแสดงความคิดเห็น เพราะมันมีช่องทางต่างๆ แน่นอนในการดำเนินชีวิตของเรา มี 2 เรื่อง ก็คือสิ่งที่เราคิดแล้วลงมือทำกับเรื่องที่เรามักจะชอบแสดงความคิดเห็น รู้สึกว่าทุกคนแสดงความคิดเห็นเยอะมากในโลกโซเชียลมีเดีย เราไม่ต้องไปเจอกัน เราอยู่ที่โต๊ะตรงไหนก็พิมพ์แสดงความคิดเห็นได้ อยากชวนให้ลองลงมือทำ เพราะถ้าได้ทำแล้ว คุณจะรู้เลยว่าจริงๆ ตัวเองทำได้หรือไม่ ทำแล้วอยากจะทำต่ออีกไหม พี่คิดว่าเราชื่นชมได้ ติงได้ แสดงความคิดเห็นได้ แต่อยากให้ลงมือทำด้วย”

อิ่มเอมเพราะความเปลี่ยนแปลงของผู้คน

ธีระพล: “สำหรับพี่คือการได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของคน งานนี้เราอาจจะได้การเปลี่ยนแปลงแบบระยะไกลหน่อย จากที่เขาโทรมาบอก หรือจากที่เขาคอมเม้นท์ แต่งานบางส่วนของทีมเราเป็นงานที่ออกไปจัดกระบวนการ หรืองานที่ออกไปเจอคน เจอทักษะต่างๆ ล่าสุดที่พี่แอนเพิ่งไปมาเมื่อไม่กี่วันนี้ เราก็จัดเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้งที่ย่านสีลม คนที่เข้าร่วมมีตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยทำงานที่มาฟัง พวกเขาอาจเข้าใจว่ามาเพื่อมาทำอะไรบางอย่าง แต่พอเข้ามาแล้ว เขากลับได้ใช้เวลาตรงหน้าแบบ 100% ได้ฟังคนตรงหน้าอย่างเต็มที่ ได้ฟังเสียงตัวเองอย่างเต็มร้อย หลายคนที่กำลังเริ่มมีอาการซึมเศร้า หลายคนบอกว่าออกมาเพราะว่ารู้สึกเคว้งคว้าง แต่ 3 ชั่วโมงนี้ เขาบอกว่าเขาได้เห็นโอกาสอะไรเพิ่มมากขึ้น เห็นความเป็นไปได้มากขึ้น นี่ก็เป็นความสุขของเราแล้ว”

เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ก็ขับเคลื่อนสังคมให้เดินหน้าได้

ธีระพล: “พี่ว่าสามารถเริ่มต้นได้จากความสนใจ ถามตัวเองสนใจอะไร อะไรคือเรื่องเล็กๆ ที่อาจสำคัญในชีวิตของเรา สำหรับบางคนอาจจะเป็นเรื่องที่บ้านเกิด บางคนเป็นเรื่องชีวิตน้องหมาน้องแมว บางคนเป็นเรื่องการดูแลคนใกล้ตัว แล้วเรื่องเหล่านี้มันโยงกันทั้งหมด เราสามารถเริ่มได้จากความสนใจเล็กๆ ได้ อีกอย่างหนึ่งที่เริ่มได้ก็คืองานจิตอาสาที่มีกระบวนการ ไม่ใช่ว่าเราต้องรอให้เกิดเป็นภัยพิบัติแล้วเราค่อยไปรวมตัวกัน การทำงานจิตอาสาเป็นงานที่เราได้ใช้เวลากับตัวเอง ได้ทบทวนตัวเอง ได้เรียนรู้ ซึ่งบางทีอาจเป็นการออกค่ายทำความสะอาดเล็กๆ ใช้เวลา 2 วัน 1 คืน หรือว่าบางทีแค่ 2-3 ชั่วโมง ไปทำถุงผ้าเพื่อมอบให้ผู้ป่วยหรือว่าไปทำงานศิลปะ นั่นก็คือได้เริ่มลองทำแล้ว”

Happiness Explorer คู่มือสำรวจความสุขฉบับพกพา

โสมรัสมิ์: “นอกจาก Happiness Calendar แล้ว ตอนนี้เราทำ Happiness Explorer เพิ่มขึ้นมาอีกเครื่องมือหนึ่ง ซึ่งการ์ดเกมนี้เป็นคู่มือสำรวจความสุขฉบับพกพา ที่ประกอบด้วยการ์ดคำถาม 8 หมวด 64 คำถาม โดยหมวดคำถามก็ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องความสัมพันธ์ จิตใจ ร่างกาย ความคิด การงาน การเงิน บรรยากาศ และจิตวิญญาณ ทุกๆ คำถามคือ ‘ตัวช่วย’ ให้เรามีโอกาสได้สำรวจ ค้นหาความสุขที่ซุกซ่อนภายในใจ เป็นเครื่องมือแบบเดียวกับปฏิทินความสุขที่ทำให้เรามีโอกาสได้สำรวจตัวเองว่ารู้สึกนึกคิดอย่างไร บางที เรามีเรื่องในใจที่เป็นความลับของตัวเอง แต่เราไม่เคยเอาความลับนั้นมาคุยกับตัวเองเลย แล้วการ์ดตัวนี้ก็ทำหน้าที่ไม่ต่างไปจากบัดดี้ของเรา เพราะคุณจะมีเพื่อนๆ ที่คอยตั้งคำถามกับคุณ และบางคำถามถ้าคุณได้คำตอบ ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้ได้คลายคำตอบได้ด้วยตัวเอง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ณ ปัจจุบันที่คุณได้ตอบคำถามนั้น มันให้อะไรกับคุณ คุณจะเป็นคนเดียวเท่านั้นที่รู้ และการ์ดเกมนี้จะมีประโยชน์กับคนอื่นๆ ด้วย เพราะใช้เล่นกันเป็นกลุ่มก็ได้ ทำให้เราได้มีโอกาส ‘ฟังกันเป็น’ บางทีคำถามจากการ์ดที่คนอื่นหยิบขึ้นมาก็เป็นคำถามของเราด้วย และเราก็จะได้ยินคำตอบระหว่างกัน โดยที่คำตอบของเราจะมีโอกาสช่วยคนอื่นได้ด้วย และในท้ายที่สุดก็คือ คนได้เข้าถึงเครื่องมือง่ายๆ เกิดความเข้าใจตัวเอง จากการได้คิดทบทวน และเข้าใจความหมายของความสุขว่าแท้จริงเป็นอย่างไร”

https://www.facebook.com/watch/?v=1208144206008304

   

ภาพ: Saran Sangnampetch, Facebook: Happinessis Thailand, www.happinessisthailand.com
อ้างอิง: Facebook: Happinessis Thailandwww.happinessisthailand.com, Facebook: Choojai and Friends, Kullawat Srikrisanapol, Ordinary House, Pattara Aumthong, Wanchanok Wine Saengchai

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles