ตอนนี้ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) กำลังมีนิทรรศการภาพถ่ายสงครามที่เราอยากแนะนำ คือ James Nachtwey: Memoria … ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องเศร้าที่ขณะที่นิทรรศการนี้กำลังจัดแสดง สงครามและความรุนแรงครั้งใหม่ก็ปะทุขึ้นอีกในแถบตะวันออกกลาง และดูเหมือนว่าความขัดแย้งกำลังลามไปในอีกหลายส่วนทั่วโลก แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังนับว่าน่ายินดีที่เราได้เห็นผู้ชมจำนวนหนึ่งเดินทางไปชมภาพถ่ายของ Nachtwey อย่างตั้งใจ เงียบเชียบ และครุ่นคิด
James Nachtwey เริ่มต้นเส้นทางช่างภาพสงครามตั้งแต่ปี 1981 เขาเดินทางไปทั่วโลกเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์และสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ความขัดแย้ง ปัญหามลพิษ และภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่นำไปสู่การล่มสลายของยูโกสลาเวีย สงครามล่าสุดระหว่างรัสเซียและยูเครน วิกฤติปัญหาผู้อพยพในกรีซ มลพิษจากอุตสาหกรรมในยุโรปตะวันออก การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาและดาร์ฟูร์ ความอดอยากในซูดานและโซมาเลีย สงครามกลางเมืองในเลบานอน สงครามระหว่างนักรบมูจาฮีดินและโซเวียต การเข้ายึดกรุงคาบูลของตาลีบัน ไปจนถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาร์ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ เป็นต้น (เรียกว่าขาดเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศไทยไปเท่านั้น)
ในนิทรรศการครั้งนี้ เราได้ชมภาพถ่ายจำนวน 126 ภาพ ที่ Nachtwey เสี่ยงชีวิตเดินทางออกไปบันทึกในตลอด 42 ปี แต่ละภาพอัดขนาดใหญ่เห็นรายละเอียดและสีคมชัด รวมทั้งเห็นได้ถึงความสามารถของช่างภาพในการวางองค์ประกอบของแต่ละภาพ แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งสำคัญที่สุดที่เราเห็นจาก Memoria คือความสามารถของ Nachtwey ในการถ่ายทอดการต่อสู้ การเอาตัวรอด ความกลัว ความทุกข์ ความเศร้า และความหวังของเพื่อนมนุษย์ ออกมาได้อย่างสะเทือนใจ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะเห็นผู้ชมจำนวนมากเดินดูภาพถ่ายแต่ละภาพอย่างเงียบเชียบ โดยมีความรู้สึกมากมายเกิดขึ้นอยู่ภายใน
“ผมได้รับแรงบันดาลใจจากความคิดที่ว่า รูปภาพที่เปิดโปงความเป็นจริงแห่งสงครามอาจเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ภาพถ่ายแห่งสงครามอาจกลายมาเป็นภาพถ่ายแห่งการต่อต้านสงครามในที่สุด” เป็นคำกล่าวของ Nachtwey ที่เต็มไปด้วยความหวังและอุดมการณ์
“การถ่ายภาพสารคดีสามารถทำให้ประเด็นต่างๆ ที่ดูล่องลอยเป็นนามธรรม เป็นอุดมคติ หรือเป็นเพียงสถิติตัวเลข กลายมาเป็นประเด็นที่มีจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ เป็นการตีความเหตุการณ์ผ่านประสบการณ์จริงของมนุษย์ ไม่ใช่ผ่านกลไกและเพทุบายทางการเมือง”
ในปี 2003 Nachtwey ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการระเบิดโจมตีรถของกองทัพของสหรัฐฯ ที่เขาโดยสารอยู่ในกรุงแบกแดด แต่คงเป็นเพราะอุดมการณ์แน่วแน่ที่ต้องการนำภาพถ่ายสงคราม ภัยพิบัติ และความขัดแย้ง มาสู่การรับรู้ของผู้ชมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นความโหดร้ายและตระหนักถึงปัญหาต่างๆ หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็รักษาตัวจนหายในระดับนึงและกลับออกไปบันทึกภาพเหตุการณ์สึนามิ ในปี 2004 ทันทีเมื่อรู้ข่าว
Nachtwey เชื่อว่าภาพถ่ายสามารถกระตุ้นทั้งความโกรธและความเห็นอกเห็นใจได้ รวมทั้งยังช่วยให้ผู้คนเข้าใจสถานการณ์ของคนอื่นได้มากขึ้นด้วย และหากภาพถ่ายของเขาสามารถทำให้ผู้คนสะเทือนใจได้มากพอ พวกเราก็อาจมีโอกาสช่วยกันแก้ไขสถานการณ์เลวร้ายให้ดีขึ้นได้
… หรืออย่างน้อย ในความคิดของเรา แม้จะช่วยไม่ได้ แต่เราก็ไม่ควรทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) มากขึ้นในโลกออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงมากขึ้น
เพราะทุกชีวิตล้วนมีค่าเท่ากัน แล้วไม่ใช่ ‘สันติภาพ’ หรอกหรือที่เราต่างต้องการเหมือนกัน
นิทรรศการ James Nachtwey: Memoria: a retrospective photographic exhibition จัดแสดงตั้งแต่วันนี้จนถึง 26 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7
นิทรรศการครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Royal Photographic Society of Thailand), มูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ (Photographic Arts Foundation) และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art & Culture Centre: BACC) โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย
–
ภาพถ่ายและข้อมูลจาก: rpst.or.th, facebook.com/baccpage