สะท้อนวิกฤติโควิด-19 ผ่านมุมมองช่างภาพแฟชั่น ทอม โพธิสิทธิ์

ทอม โพธิสิทธิ์ เป็นช่างภาพที่มักนำเอาประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมาสื่อสารผ่านงานภาพถ่ายแนวแฟชั่นสวยเนี้ยบกริบ ผลงานที่ผ่านมาของเขามีทั้งภาพถ่ายที่พูดเรื่องชนกลุ่มน้อย การอนุรักษ์สัตว์ทางทะเล และการรณรงค์บริจาคอวัยวะ เป็นต้น

ล่าสุดเมื่อราวต้นเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เรายังได้เห็นภาพถ่ายชุดใหม่ของทอมที่คราวนี้เขาจับเอาผู้ประกอบอาชีพสาขาต่างๆ สวมชุดยูนิฟอร์มอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง แล้วมาโพสต์ท่าถ่ายรูปขณะกำลังเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยผู้คนที่ทอมเลือกมาในครั้งนี้ส่วนมากอยู่ในสายงานบริการที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของ COVID-19 ไปเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็น น้องๆ นักแสดงจากคณะละครชาตรี จงกล โปร่งน้ำใจ ที่นอกจากจะเรียนไปด้วยและทำงานเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนไปด้วยแล้ว ก็ยังมีรายได้หลักจากการเป็นนางรำแก้บนที่ศาลพระพรหมเอราวัณ ซึ่งตลอดหนึ่งปีกว่าที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา พวกเขาก็สูญเสียรายได้แทบจะทั้งหมดไป, นักมวยนามว่า “ยอดสยาม ส.จ. วิชิตเมืองแปดริ้ว” ที่ต้องหยุดพักอาชีพมวยและการฝึกซ้อม ไปทำงานเป็นพนักงานของบริษัทขนส่งเอกชนแห่งหนึ่ง และศรราม อเนกลาภ พระเอกลิเกชื่อดังจากคณะศรราม น้ำเพชร ที่บอกว่าการระบาดของ COVID-19 ระลอก 3 ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาที่คณะของเขาได้รับผลกระทบมากที่สุด และการที่พวกเขาจะกลับไปแสดงลิเกได้ก็คงต้องฝากความหวังเอาไว้ที่วัคซีนเป็นหลัก ฯลฯ

แน่นอนว่าผลงานภาพถ่ายครั้งนี้ของทอม พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับความสำคัญของวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพราะไม่เพียงวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ป่วยหนัก และเสียชีวิตเท่านั้น แต่การที่ประชากรได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) และการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรส่วนมากของประเทศได้อย่างรวดเร็วก็ยังเป็นเครื่องมือสำคัญทางเศรษฐกิจที่สามารถทำให้พวกเรากลับมาประกอบอาชีพและใช้ชีวิตอย่างปกติใหม่ (New Normal) ได้ ซึ่งการกลับมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ แบบ New Normal ที่ว่านั้น ก็ไม่ได้หมายถึงการออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง นั่งชิลในร้านกาแฟ หรือดื่มกินในผับบาร์อย่างเดียว เพราะสิ่งสำคัญกว่าก็คือ ผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานบริการ ผู้ประกอบการต่างๆ และอีกหลายคนที่ไม่สามารถนั่งทำงาน Work From Home อยู่ที่บ้านได้ เขาจะได้กลับไปทำมาหากินเพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัวตัวเองเสียที

ในบรรดาผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับงานบริการและการแสดงที่ทอมเลือกมาเป็นแบบสำหรับภาพถ่ายชุดนี้ มีอยู่ 2 ท่าน ที่เคยเป็นผู้ป่วย COVID-19 มาแล้ว คือ จิรายุ จันทรวงศ์ นักร้องอิสระที่ติดเชื้อจากการทำงานในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ และทองสุข ทองราช พนักงานขับแท็กซี่ที่ตรวจพบเชื้อเป็นรายแรกของประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้เขาจะสามารถกลับมาประกอบอาชีพขับแท็กซี่ได้แล้ว แต่ดูเหมือนว่าพนักงานขับแท็กซี่ รวมทั้งรถสาธารณะ และผู้ที่ประกอบอาชีพในด่านหน้าอีกหลายคน ที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ยังไม่ได้รับวัคซีนครบถ้วน ทั้งๆ ที่พวกเขาควรจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับวัคซีนให้เร็วที่สุด

ภาพถ่ายของทอมชุดนี้ ไม่น่าจะใช่แค่การรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนและกระตุ้นให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพแก่ประชาชนเท่านั้น แต่การที่เขาโฟกัสไปที่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดงาน การปิดกิจการ การหยุดพักกิจกรรมต่างๆ ตามข้อกฎหมายเพื่อควบคุมโรคติดต่อ จนทำให้รายได้หดหายไปเป็นจำนวนมากนั้น ก็น่าจะพอทำให้หลายคนมองผ่านภาพถ่ายแนวแฟชั่นสวยๆ ของเขาแล้วฉุกคิดได้ว่า ผลกระทบจาก COVID-19 นั้นมีหลายระดับ บางทีเราอาจแค่เบื่อๆ เซ็งๆ ที่ไม่ได้ออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้านหรือพบปะเพื่อนฝูง แต่ยังมีอีกหลายคนที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการประกอบอาชีพ รวมทั้งสูญเสียรายได้ และอีกจำนวนไม่น้อยก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงระหว่างที่ออกจากบ้านไปทำมาหากิน

และหากจะมีใครมองเห็นข้อความเหล่านี้ในภาพถ่ายของทอม เราก็หวังว่ามันจะก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้นในสังคมนี้

ที่มา: tompotisit.comFacebook: Tom Potisit

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles