สนามเด็กเล่นแนวตั้งที่ให้เด็กๆ ปีนป่ายกันอย่างสนุกสนานของ Luckey Climber ไม่ได้น่าสนใจเพียงเพราะรูปลักษณ์ภายนอกเท่ๆ ที่ดูแล้วเหมือนงานศิลปะติดตั้งจัดวางเพียงอย่างเดียว แต่มันยังช่วยเสริมสร้างทักษะและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ ไปพร้อมกับการปีนป่ายออกกำลังกายอีกด้วย
ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Luckey Climber คือสถาปนิก Spencer Luckey ที่สำเร็จการศึกษาจาก Yale School of Architecture แต่จะให้เครดิตกับ Spencer คนเดียวก็คงจะไม่ถูก เพราะผู้ที่ก่อตั้ง Luckey Climber ขึ้นมาจริงๆ คือ Thomas Luckey พ่อและรุ่นพี่มหาวิทยาลัยเดียวกันของ Spencer ที่ริเริ่มสร้างสนามเด็กเล่นอินดอร์ขึ้นแห่งแรกใน Boston Children’s Museum เมื่อกลางทศวรรษ 1980s “พ่อหมกมุ่นกับมันมาก ถึงกับสร้างแบบจำลองขึ้นในห้องนั่งเล่นที่บ้าน” Spencer กล่าว หลังจากนั้น Luckey Climber ก็ได้รับเสียงตอบรับล้นหลาม จนเดินทางไปปรากฏอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ในหลายเมืองทั่วโลก
ความสำเร็จของ Luckey Climber นั้น นอกจากรูปลักษณ์เท่ๆ ที่เปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของสถานที่แล้ว ก็อยู่ที่ประโยชน์มหาศาลของมัน เพราะการปีนป่ายขึ้นไปบนเครื่องเล่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับการปีนต้นไม้ซึ่งบรรดานักวิจัยได้พบว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี “เพราะเวลาเด็กๆ ต้องคิดว่าเขาจะเอามือไปจับตรงส่วนไหน เท้าวางที่ไหน ก่อนจะปีนขึ้นไปทีละขั้นนั้น เป็นการช่วยสร้างทักษะความจำและการเตรียมรับมือกับข้อมูลใหม่ที่กำลังจะเข้ามา” Tracy และ Ross Alloway นักจิตวิทยาจาก University of North Florida กล่าว
ส่วนในเรื่องรูปร่างหน้าตาของ Luckey Climber ที่แตกต่างกันไปในแต่ละแห่งนี้ Spencer บอกว่า แม้จะใช้วัสดุเหมือนกันในทุกแห่ง นั่นคือ ท่อ ฐานรับน้ำหนัก สายเคเบิล และตาข่าย แต่ Luckey Climber แต่ละอันก็ได้รับการออกแบบตามสัญลักษณ์หยิน-หยางบ้าง มังกรบ้าง ต้นปาล์มบ้าง หรือแม้แต่ตึกสูง Burj Khalifa ในดูไบ ก็เคยเป็นต้นแบบในการออกแบบของเขามาแล้ว
แต่ก็แน่นอน สิ่งสำคัญที่สุดที่ลืมไปไม่ได้เลย คือเรื่องความปลอดภัย ก่อนจะสร้าง Luckey Climber แต่ละชิ้นขึ้นมา Spencer ต้องใช้เวลาทดลองสร้างโมเดลขึ้นเป็นเวลานาน และคิดรับมือเผื่อสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้ ส่วนวัสดุที่พวกเขาใช้ในส่วนโครงสร้างภายในต้องมีความแข็งแรง แต่ภายนอกต้องอ่อนนุ่ม และทุกชิ้นผลิตขึ้นในออฟฟิศของพวกเขาทั้งหมด
อ้างอิง: www.smithsonianmag.com, www.archdaily.com