Saddle Seat เก้าอี้รูปทรงอานม้า ช่วยจัดสรีระการนั่งของเด็กให้เหมาะสม สมดุล สร้างสมาธิ

หากอ้างอิงตามหลักการโครงสร้างของร่างกาย จะพบว่าคนเราไม่สามารถที่จะพยุงร่างกายได้ด้วยกระดูกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเพื่อพยุงให้โครงสร้างทั้งหมดอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง ซึ่งหากโครงสร้างอยู่ในแนวระดับที่ผิดหรือแนวโครงสร้างจุดใดจุดหนึ่งมีปัญหา ร่างกายของคนเราปรับแนวโครงสร้างเพื่อเข้าสู่ความสมดุลให้ได้ แต่สมดุลที่ไม่เหมาะสมซึ่งเกิดขึ้นนั้นก็จะทำให้เกิดการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไปและตกไปอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติเป็นเวลานาน และนั่นก็จะนำไปสู่บาดเจ็บในที่สุด

Masahiko Ito ออกแบบ Saddle Seat สำหรับเด็กๆ จากแนวคิดคล้ายๆ กันนี้ โดยจำลองเอารูปทรงของอานม้ามาใช้เพื่อช่วยปรับจัดสรีระให้ผู้ใช้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งเมื่อร่างกายเกิดความสมดุล ผลที่ตามมาคือการมีสมาธิมากยิ่งขึ้น

“ผมสังเกตว่า คนเรามักจะขยับหรือเคลื่อนไหวรอบๆ ที่นั่งของเราอัตโนมัติ อย่างตอนที่เราโฟกัสในสิ่งที่คุณครูกำลังสอน เราจะตื่นตัวและมีแนวโน้มที่จะเอนลำตัวไปด้านหน้ามากกว่าปกติ หรือถ้าเรารู้สึกตรงกันข้าม ตำแหน่งร่างกายของเราก็จะเอนหรือพิงไปด้านหลัง แบบนี้ เป็นต้น” โดยโครงสร้างของ Saddle Seat จะกระตุ้นให้เด็กๆ นั่งในตำแหน่งหลังตรงโดยอัตโนมัติ ซึ่งนั่นเป็นตำแหน่งที่ทำให้เด็กๆ ยังคงสนใจและมีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ขณะเดียวกัน ก็ยังทำให้ผู้ใช้งานสามารถรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้อย่างเพียงพอและทำให้การโลหิตหมุนเวียนได้ลื่นไหลมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อร่างกายโดยรวม นอกจากนี้เก้าอี้ดังกล่าวยังถูกออกแบบให้สามารถนั่งได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การนั่งพิงพนักปกติ การนั่งโดยเอาพนักไว้ด้านหน้าเพื่อทำเป็นที่เท้าแขน หรือการนั่งด้านข้างก็ได้เช่นเดียวกัน

Saddle Seat ประกอบด้วยโครงเก้าอี้ ที่นั่ง และพนัก ซึ่งแต่ละส่วนนั้นผ่านกระบวนการผลิตที่จะปล่อยคาร์บอนฟุตปริ้นและขยะในระดับต่ำด้วยการใช้ชิ้นส่วนจากเฟอร์นิเจอร์เก่า โดยตัวโครงนั้นทำขึ้นจากเหล็กเพียงชิ้นเดียว ขณะที่ที่นั่งนั้นทำขึ้นจากไม้เบิชและพนักจากไม้เนื้อแข็ง มีการออกแบบให้ชิ้นส่วนสามารถซ้อนกันได้ ทำให้ช่วยประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บและลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ซึ่งด้วยวัสดุดังกล่าวนี้ยังสร้างความรู้สึกอบอุ่นและผ่อนคลายให้กับเด็กๆ อีกด้วย

“การนั่งอยู่ในท่าทางที่ไม่ถูกต้องติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ทั้งปวดหลัง ปัญหาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ไปจนถึงโรคต่างๆ ทั้งโรคหัวใจและมะเร็งอีกด้วย ผมจึงอยากดีไซน์เก้าอี้ตัวนี้โดยใช้ประโยชน์จากการออกแบบมารับมือกับปัญหาทั้งทางร่างกายและจิตใจที่กำลังรุกล้ำสังคมปัจจุบันของเราอยู่”

อ้างอิง: www.masahikoito.com

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles