บรรจุภัณฑ์จากสาหร่ายแทนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติโดย Margarita Talep นักออกแบบชาวชิลี

ณ เวลานี้ บรรจุภัณฑ์อาหารถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่กลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องรับมือ คุณลองนึกดูสิว่ามีครั้งไหนไหมเวลาคุณไปตลาดหรือเดินตามซุูเปอร์มาร์เก็ต แล้วจะไม่เจอบรรจุภัณฑ์อย่างน้อย 1 อย่างที่ทำจากพลาสติก และด้วยจำนวนบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากการใช้วัสดุที่ไม่สามารถรีไซเคิลเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ Margarita Talep นักออกแบบชาวชิลีทดลองพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วยการนำสาหร่ายซึ่งสามารถย่อยสลายกลับไปสู่ธรรมชาติและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาเป็นองค์ประกอบตั้งต้น เพื่อทดแทนการใช้พลาสติก

ส่วนประกอบพื้นฐานของบรรจุภัณฑ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นจากการนำโพลิเมอร์มาผสมกับน้ำที่ใส่ลงไปเพื่อเพิ่มความสามารถในการเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ดียิ่งขึ้น ลดความแข็งเปราะ และเพิ่มคุณสมบัติการใช้งานในอุณหภูมิต่ำได้ดีขึ้น กับส่วนประกอบสำคัญที่สุดอย่างวุ้นที่ Margarita ได้จากการสกัดสาหร่ายสีแดง เพื่อให้ได้ลักษณะโดยรวมคล้ายคลึงกับพลาสติก จากนั้น ส่วนประกอบทั้งหมดจะถูกนำมาต้มในอุณหภูมิ 80 องสาเซลเซียส และย้อมให้มีสีสันต่างๆ ด้วยการใส่สีที่สกัดได้จากผักผลไม้ ทั้งบลูเบอรี่ กะหล่ำปลีม่วง บีทรู้ด และแครอทลงไป เมื่อได้สารละลายที่มีลักษณะเป็นเจลแล้ว ก็จะมาขึ้นโมลด์ให้เป็นบรรจุภัณฑ์ซึ่งมีฟอร์มแบบต่างๆ และสามารถซีลปิดได้ด้วยความร้อนแทนการใช้กาวอีกด้วย โดยบรรจุภัณฑ์ของเธอถูกพัฒนาให้เหมาะกับเก็บอาหารแห้ง เช่น เส้นพาสต้าและบิสกิต เป็นต้น

นอกเหนือไปจากความหลากหลายและอเนกประสงค์ของวัสดุที่สกัดได้จากส่าหร่ายนั้นมีข้อดีก็คือ ความสามารถในการผลิตพลาสติกชีวภาพได้หลากหลายประเภท ซึ่งจะมีคุณสมบัติ ทั้งความแข็งตัวและยืดหยุ่นแตกต่างกันโดยจะผันแปรไปกับสัดส่วนขององค์ประกอบตั้งต้นอื่นๆ แล้ว ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาโปรเจ็กต์ดังกล่าวเพื่อทดแทนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง บรรจุภัณฑ์ของ Margarita จึงถูกพัฒนาให้สามารถย่อยสลายได้ในระยะเวลา 2-3 เดือนในฤดูร้อน และ 3-4 เดือนในฤดูหนาว ซึ่งระยะเวลาของการย่อยสลายนั้นจะขึ้นอยู่กับความหนาของตัวบรรจุภัณฑ์และอุณหภูมิในดิน ซึ่งแม้ว่าจะมีหลายเสียงบอกว่าการย่อยสลายของพลาสติกชีวภาพต้องอยู่ในอุณหภูมิที่มากกว่า 30 องศาเซลเซียส ก็ตาม ทว่า Margarita ก็ยืนยันว่า แม้บรรจุภัณฑ์นี้จะย่อยสลายได้ช้าลงในอุณหภูมิต่ำ แต่มันก็ย่อยสลายได้แน่นอน

เป็นที่รู้กันดีว่าการใช้งานพลาสติกและจำนวนขยะจากพลาสติกที่มีการคาดการณ์จากนักวิทยาศาสตร์ว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 12 ล้านล้านตัน ภายในปี 2050 นั้น เป็นปัญหาคาราคาซังทั่วโลกมานานหลายทศวรรษ แต่งานของนักออกแบบชาวชิลีคนนี้ แม้จะไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมในระดับมหาศาลได้แบบทันทีทันใด แต่การเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ แบบนี้ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ จากกลุ่มคนในแวดวงสร้างสรรค์ นวัตกร นักวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ของโลก ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะเข้าไปช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมและมุมองของผู้คน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การลดปัญหาแบบยั่งยืนมากขึ้นตามมา

อ้างอิง: Margarita Talep, www.margaritatalep.com

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles