The Parthenon of Books หนังสือกว่าแสนเล่มที่ถูกห้ามกลายเป็นมหาวิหารพาเธนอน

หนังสือคือแหล่งรวมประสบการณ์ของมนุษย์ผ่านกระบวนการเขียนที่มีคุณค่าเหนือกาลเวลา นอกจากจะเป็นมุมมองเฉพาะตัวของผู้เขียนแล้วยังเป็นข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ที่สะท้อนภาพความเชื่อ วัฒนธรรม และสังคมในแต่ละยุคสมัย และที่สำคัญการเขียนหนังสือและการอ่านเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในโลกเสรีที่มนุษย์พึงมีในรูปแบบของระบบประชาธิปไตย แต่ก็น่าเสียดายที่ว่ามีหนังสือจำนวนมากในโลกที่ถูกห้ามไม่ให้เผยแพร่ในประเทศต่างๆ ด้วยเหตุผลทางการเมือง

Marta Minujín ศิลปินชาวอาเจนติน่า วัย 74 ปี ผู้สนใจปัญหาเรื่องเสรีภาพได้ทำโปรเจ็กต์ยักษ์สะท้อนปัญหาการถูกเบียดบังด้านเสรีภาพจากระบบการเมืองผ่านประติมากรรมขนาดใหญ่ โดยเธอได้ขอรับบริจาคหนังสือที่ถูกแบนจากทั่วโลกมาประกอบโครงสร้างใหม่ให้เป็น The Parthenon of Books มหาวิหารพาร์เธนอนอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญด้านประชาธิปไตยของกรีกในยุคโบราณ ประติมากรรมจัดแสดงขึ้นที่มหาวิทยาลัยคัสเซิล ในเมืองคัสเซิล ประเทศเยอรมัน ณ บริเวณที่ครั้งหนึ่งหนังสือจำนวนมหาศาลที่ไม่สนับสนุนแนวคิดของความเป็นหนึ่งของชนชาติเยอรมันถูกทำลายโดยพรรคนาซี

งานนี้มีผู้คนนับพันจากทั่วโลกร่วมบริจาคหนังสือและรวบรวมหนังสือได้มากกว่าแสนเล่ม ถูกนำไปมัดติดกับประติมากรรมมหาวิหารและด้วยเหตุผลด้านการเมือง ทำให้มีหนังสือหลายเล่มที่เราอาจไม่คิดว่าจะโดนห้ามเผยแพร่ เช่น ทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ หรือนิยายขายดีอย่าง Twilight ของ สเตเฟนี เมอเยอร์  ฯลฯ แต่จะด้วยอะไรก็ตาม การกีดกันหรือทำลายหนังสือก็คือการปิดกั้นความเจริญทางภูมิปัญญาของมนุษย์ไปด้วย งานแสดงนี้เป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลงานศิลปะ Documenta 14 Art ซึ่ง Minujin เคยสร้างงานรูปแบบเดียวกันนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1983 ที่กรุง บัวโนสไอเรส บ้านเกิดของเธอเอง

อ้างอิง : documenta14.de ; curbed.com ; boredpanda.com

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles