M+D Crutch ไม้คำ้ยันดีไซน์ใหม่ลดจุดบกพร่องเดิม เพิ่มเติมความสะดวกคล่องตัวขึ้น

เวลาที่ร่างกายของคนเราเคลื่อนไหวไม่ได้ การจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยวิธีการที่เจ็บปวดน้อยที่สุดย่อมเป็นสิ่งที่ใครต่างก็ต้องการ และนี่คือหมุดหมายสำคัญของ Mobility Designed ในการออกแบบไม้ค้ำยัน ‘M+D Crutch’ ของพวกเขาที่ตั้งใจแก้ปัญหาทั้งทางกายภาพและจิตใจในเวลาเดียวกัน

เพราะอุปกรณ์ช่วยเดินแบบมาตรฐานนั้นมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นไม้ค้ำยันรักแร้ที่ต้องถือด้วยมือทั้ง 2 ข้าง ทำให้ผู้ใช้ไม้ค้ำยันต้องใช้พลังงานในการเดินค่อนข้างมาก แม้จะสามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 80% แต่ก็ต้องมีกำลังแขนที่ดี และด้วยฟอร์มของมันก็อาจทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทที่อยู่บริเวณรักแร้ได้ หรือไม้ค้ำยันศอกที่แม้จะมีขนาดสั้นกว่า ทำให้ผู้ใช้มีความคล่องตัวมากขึ้นและสามารถปล่อยมือเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ได้โดยที่ไม้ไม่ล้ม แต่ก็มีการรองรับน้ำหนักลดลงเหลือประมาณ 40-50% ซึ่งเหมาะกับผู้ที่สามารถทรงตัวได้ค่อนข้างดี อีกทั้งยังใช้ยากสำหรับผู้ที่ไม่สามารถลงน้ำหนักบริเวณแขนท่อนล่างหรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องข้อศอกติด

Mobility Designed จึงออกแบบ M+D Crutch ด้วยการปรับรูปทรงและการใช้งานขึ้นใหม่ทั้งหมด อย่างแรกคือออกแบบให้ใช้ปลายแขนเป็นจุดรับน้ำหนัก ซึ่งด้วยความยาวของปลายแขนทำให้มีพื้นที่ในการรับน้ำหนักตัวมากขึ้น ผู้ใช้จึงลดการกดน้ำหนักไปที่รักแร้ มือ และข้อมือลง โดยสามารถลงน้ำหนักไปที่แขนได้มากและมั่นคงกว่าเดิม สำหรับตัว handle หรือที่จับสามารถหมุนให้ตั้งขึ้นเพื่อใช้งานปกติหรือปรับให้หมุนลงห­­าพื้นได้เมื่อต้องทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อไม่ให้มีที่จับนี้มาเป็นตัวขวาง ส่วน cradle หรือแท่นรองแขนก็สามารถล็อกให้อยู่กับที่เมื่อมีการใช้งานและสามารถปลดล็อกได้เมื่อต้องการใช้มือในกิจวัตรต่างๆ ของวัน โดยไม่จำเป็นต้องปล่อยไม้ค้ำยัน ไม่ว่าจะเป็นการหยิบของ แปรงฟัน หรือดื่มน้ำ

นอกจากนี้ bumper หรือส่วนกันชนของไม้ค้ำที่ทำขึ้นจากยางก็ช่วยให้สามารถวางหรือจัดเก็บไม้ค้ำเมื่อไม่มีการใช้งานได้อย่างมั่นคง สายรัดแขนถูกออกแบบให้ยืดหยุ่นและง่ายต่อการสวมใส่ ขณะเดียวกัน ไม้ค้ำก็สามารถปรับความยาวให้สัมพันธ์ไปกับความสูงของผู้ใช้ได้ ซึ่งรองรับความสูงตั้งแต่ 140-200 เซนติเมตร และน้ำหนักตัว 150 กิโลกรัม โดยน้ำหนักราวๆ 1.3 กิโลกรัม ก็ทำให้ M+D Crutch เหมาะกับการใช้งานได้แทบจะทุกช่วงวัยเลยทีเดียว

การปัดฝุ่นไม้ค้ำในครั้งนี้ของ Mobility Designed นับว่าทำได้ดีในเรื่องการเจาะไปที่จุดบกพร่องจากการใช้จริงที่ 85% ของผู้ใช้ไม้ค้ำมาตรฐานทั้งสองแบบมักต้องทนเจ็บในตามจุดกดทับของไม้ค้ำ จากนั้นพวกเขาได้อุดรอยรั่วนั้นด้วยการนำการออกแบบและการรีเสิร์ชมาเป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งไม่เพียงแต่ฟอร์มจะสวยงามน่าใช้เท่านั้น แต่ฟังก์ชั่นที่พยายามออกแบบให้กระทบต่อการใช้ชีวิตน้อยที่สุดก็ดูจะทำให้อุปสรรคเรื่องการเคลื่อนไหวดูเบาลงขึ้นเป็นกอง

 

อ้างอิง: www.mobilitydesigned.com

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles