คุยกับ ‘นลัทพร ไกรฤกษ์’ บรรณาธิการ thisable.me เว็บข่าวรอบด้านเชื่อมคนพิการกับโลกรอบตัว

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการรับรู้ของคนทั่วไปนั้น คนพิการคือกลุ่มบุคคลพิเศษที่มักไม่ถูกนึกถึงเป็นลำดับต้นๆ ของพีระมิดประชากร ทว่าในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาต่างมีสิทธิ์ มีเสียง และใช้ชีวิตไม่ต่างไปจากคนปกติ การเป็นกระบอกเสียง รวมไปถึงการเปิดประเด็นด้านสังคมที่มีคนกลุ่มนี้เป็นจิ๊กซอว์หลัก ถูกขับเคลื่อนผ่านการเคลื่อนไหวหลากรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ thisable.me เว็บไซต์ข่าวที่นำเสนอเรื่องราวรอบตัว ตั้งแต่ ศิลปะ วัฒนธรรม ข่าวต่างประเทศ การเมือง แรงงาน สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน คุณภาพชีวิต และไอซีที โดยความเฉพาะเจาะจงของสำนักข่าวที่ว่านี้คือเนื้อหาทั้งหมดเชื่อมโยงกับคนพิการ วันนี้ เรามีนัดกับบรรณาธิการเว็บไซต์ thisable.me ‘นลัทพร ไกรฤกษ์’ ณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) พื้นที่ทำงานของทีมกองบรรณาธิการทีมนี้ เพื่อพูดคุยถึงบทบาทหน้าที่ของแพลทฟอร์มดังกล่าว พร้อมๆ ไปกับประเด็นเรื่องคนพิการในสังคมไทย และการเปลี่ยนแปลง ทั้งในเชิงกายภาพและทัศนคติที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน


กว่าจะมาเป็น thisable.me

“ต้องย้อนไปช่วงที่เพิ่งเรียนจบ ตอนนั้นไม่รู้จะทำอะไร เลยเปิดอินเตอร์เน็ตแล้วก็เจอประกาศรับสมัครเข้าค่ายเขียนข่าวเพื่อพิทักษ์สิทธิและศักดิ์ศรีของคนพิการ ที่ดำเนินการโดยสำนักข่าวประชาไท ก็คือที่นี่ เลยสมัครเข้าไปแบบที่ยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไร เขียนข่าวไม่เป็นด้วยซ้ำ เนื่องจากเราไม่ได้มีแบ็คกราวนด์ด้านการเขียนเลย ตอนนั้นอบรม 3 วัน 2 คืน พอจบค่ายพี่ๆ เขาค่อนข้างคาดหวังให้คนที่จบไปแล้วไปทำอะไรต่อ เช่น ทำข่าวเรื่องคนพิการ การทำสื่อเกี่ยวกับคนพิการ แต่เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีพื้นที่รองรับ ไม่รู้ว่าหากเราเขียนเสร็จแล้วจะเอาไปลงที่ไหนได้ พี่เขาเลยคุยกันในค่ายว่า น่าจะทำค่ายต่อไปนะ เป็นค่ายที่ 2 แล้วให้คนจากค่ายแรกไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับค่ายที่ 2 พอจบค่ายแรกช่วงตุลาคม ปี 2558 ก็ตัดสินใจเข้ามาฝึกงานประชาไทเพื่อที่จะทำค่ายที่ 2 อยู่ที่นี่ได้สักประมาณ 7 เดือน ช่วงนั้นก็หัดใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มเขียนบทความ การอีดิทงาน เรียนรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องข่าวทั้งหมด จากนั้นจึงตัดสินใจทำเป็นโครงการเข้าไปเสนอที่ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เพื่อของบประมาณในการทำค่ายที่ 2 และรันเว็บไซต์ด้วย เพราะเราคิดว่าถ้าไม่มีแพลตฟอร์มที่มารองรับคนที่อยู่ในค่าย สิ่งที่เราทำก็จะจบตรงนั้น เนื้อหาที่ทำกันก็ไม่มีโอกาสได้เผยแพร่ เพราะฉะนั้นแพลตฟอร์มนี้จึงมาคู่กับการขอทุนช่วงปี 2559 ซึ่งเป็นการอบรมค่ายครั้งที่ 2”

ทำไมต้อง thisable.me

“thisable พ้องเสียงกับ disable ที่แปลว่าคนพิการ ถ้าสมมติเป็นสิ่งของก็คือของที่ใช้งานไม่ได้ ของที่พัง คนที่ใช้งานไม่ได้ คนที่พัง เราเลยต้องการจะเปลี่ยนคำนี้ให้มีความหมายว่านี่ไงล่ะ เราทำได้นะ”


บทบาทและเป้าหมาย

อย่างที่กล่าวกันไปว่า position ของ thisable.me ก็คือเว็บไซต์ข่าวที่นำเสนอเรื่องราวทั่วๆ ไป ที่มีการจัดเนื้อหาออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ แบบเดียวกับสื่อกระแสหลัก โดยเป้าหมายในขวบปีแรกของพวกเขาคือการสร้างฐานของทั้งแหล่งข่าว เนื้อข่าว และผู้อ่านที่เป็นผู้พิการ รวมทั้งผู้ไม่พิการในสังคม

“เรื่องที่นำเสนอจะเป็นเรื่องทั่วๆ ไปในสังคม ไม่ได้เป็นเรื่องที่คนไม่พิการอ่านไม่ได้ หรือคนพิการต้องอ่านอย่างเดียว เป้าหมายในการทำเว็บจริงๆ เรายังไม่คาดหวังถึงขนาดว่าจะต้องเป็นที่รู้จักหรือว่าทำงานได้อย่างเข้มแข็งในช่วงปีแรกนะ เราอยากจะเปิดเครือข่ายใหม่ๆ เพราะประชาไทไม่เคยมีแหล่งข่าวที่เป็นคนพิการ ไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องคนพิการเลย ความคาดหวังของเราคือการสร้างเครือข่ายตรงนี้เพื่อที่จะสร้างคนอยากเขียนในอนาคต ซึ่งอาจไม่ใช่เรา แต่เป็นคนพิการคนอื่นๆ ที่อยากจะออกเสียงให้สังคมได้ยินสามารถที่จะใช้พื้นที่นี้ได้”

เมื่อ thisable.me มาไกลเกินเป้า

แต่เมื่อลงมือทำจริง เป้าหมายของ thisable.me ดูจะไปไกลกว่าที่พวกเขาคาดไว้ เพราะนอกจากจะได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ ตลอดจนกลุ่มคนอ่านจากหลากหลายวัยและสาขาอาชีพแล้ว thisable.me ยังมีจำนวนนักศึกษาที่สมัครเข้าร่วมฝึกงานอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

“เราไปได้ค่อนข้างไปไกลกว่าที่คาดเยอะเหมือนกัน ทั้งความสนใจจากหลายสื่อ ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ที่มีชื่อเสียงอยู่ในปัจจุบัน รายการโทรทัศน์ แล้วก็ได้รับความเอ็นดูเยอะ ส่วนหนึ่งอาจเพราะความโชคดีของเราด้วย เพราะคอนเน็กชั่นที่ประชาไทมีอยู่เดิมซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้าใจเรื่องสิทธิ สนใจประเด็นทางสังคมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเสริมและแทรกเรื่องคนพิการเข้าไปอีกหนึ่งประเด็นที่จึงไม่ใช่เรื่องยาก นอกจากนี้ก็จะมีกลุ่มผู้อ่านที่แต่เดิมเราวางกลุ่มเป้าหมายไว้เป็นสาวออฟฟิศ เพราะเป็นวัยที่ต้องเลี้ยงพ่อแม่ที่กำลังก้าวสู่วัยชรา มีลูก ต้องคิดถึงอนาคต น่าจะเข้าใจเงื่อนไขของความเป็นเมืองว่าทำไมเมืองจะต้องเอื้อต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่หลังจากที่จัดงานทอล์คไปเมื่อปลายปีที่แล้ว เราพบว่ามีน้องๆ มัธยมและมหาวิทยาลัยเองก็เป็นอีกกลุ่มที่เข้ามาด้วย ซึ่งไปๆ มาๆ กลุ่มเป้าหมายกว้างกว่าที่เรากำหนดไว้มาก อย่างตอนที่เราทำเรื่องนักศึกษาพิการในมหาวิทยาลัย เด็กๆ ก็จะตื่นตัวมากขึ้น มีการตั้งคำถามถึงเพื่อนๆ พิการว่าจะสามารถมาเรียนได้ไหม รวมทั้งมีน้องๆ ที่สนใจเข้ามาฝึกงานที่นี่เยอะพอสมควร แต่เราก็รับได้ตามกำลัง ตอนนี้มีมาแล้ว 4 รุ่นแล้ว ซึ่งเราไม่คิดว่าจะมีน้องฝึกงานภายในปีแรกที่เว็บเพิ่งเปิดเหมือนกัน”

การทำงานในแบบ thisable.me

“สำหรับวิธีการทำงาน ตอนนี้คล่องตัวมากๆ เลยเพราะว่ามีหนูเป็นแกนหลัก นอกนั้นจะเป็นน้องๆ ที่ทำวิดีโอ พี่ที่แปลงาน ซึ่งใครสนใจประเด็นไหนก็จะโยนเข้ามาว่าทำอันนี้ไหม ทำอันโน้นไหม ปรึกษากัน หรือถ้าทำวิดีโอ เราก็จะมาพูดคุยกันว่า ทำคอนเทนท์เรื่องนี้โอเคไหม ใช้คำแบบนี้โอเคไหม ซึ่งส่วนมากน้องที่ทำวิดีโอเขาก็ค่อนข้างจะมีคอนเทนท์ในหัวอยู่แล้ว เนื่องจากเราเติบโตมาพร้อมกันตั้งแต่ปีแรกที่ไปอบรม เรียนรู้ร่วมกันมาเรื่อยๆ ว่าประเด็นคนพิการมีอะไรบ้าง ไปลงพื้นที่ ในแง่ประเด็นของคนพิการ ส่วนมากไม่ใช่ประเด็นร้อน แต่จะเป็นประเด็นเย็นๆ ที่ทำเมื่อไหร่ก็ได้ ทำได้เรื่อยๆ แต่ถ้ามีสถานการณ์ เช่น มีคนพิการประท้วงกันเรื่องลิฟท์ แบบนั้นก็ต้องตามสถานการณ์ นอกนั้นค่อนข้างอิสระมาก โดยเนื้อหาในวิดีโอกับในเว็บไซต์ขนานไปกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น วันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา เรามีการพูดถึงเรื่องความรัก เป็นการสัมภาษณ์คนแฟนของคนพิการ ซึ่งไม่ได้มีความพิการเลย คอนเทนท์ช่วงนั้นค่อนข้างได้รับความสนใจพอสมควร เราคิดว่าคนที่แชร์ไป 90% น่าจะไม่ใช่คนพิการ ไม่ใช่คนที่มีคนรู้จักเป็นคนพิการด้วยซ้ำ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องสากล เพราะฉะนั้นเราคิดว่านี่ที่แหละเป็นข้อยืนยันว่าจริงๆ แล้วเรื่องของคนพิการกับเรื่องของคนไม่พิการไม่ได้ต่างกันเลย เพียงแต่ว่าคุณไม่เคยเห็นว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไรแค่นั้นเอง บางคนที่แชร์ไป ก็แชร์เพราะเหมือนเรื่องที่ตัวเองเคยเจอ เรารู้สึกว่าช่วงนั้นคอนเทนท์มีคุณค่าสำหรับเว็บเรามาก”

อะไรคือ ‘Where Chill View Share’ และ ‘Whole in One’

นอกจากจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นหมวดเหมือนเว็บไซต์ทั่วไป อย่างกีฬา บันเทิง การศึกษา การเมือง วัฒนธรรม ศิลปะ ไลฟ์สไตล์ และเทคโนโลยีแล้ว ใน thisable.me ยังมีคอนเทนท์ที่น่าสนใจอื่นๆ อาทิ ‘Where Chill View Share’ และ ‘Whole in One’ ด้วยเช่นกัน

“เราจำกัดความ ‘Where Chill View Share’ ให้เป็นรายการท่องเที่ยว เราอยากทำเพื่อสำรวจที่เที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่าเที่ยวเมืองไทยไปได้ทุกคน แล้วคนนั่งวีลแชร์สามารถไปได้ไหม มีข้อจำกัดอะไรบ้าง เซ็กชั่นนี้เราจะเที่ยวโดยย้อนรอยตาม ททท. ในสถานที่ที่เขาบอกว่าทุกคนสามารถไปได้ ซึ่งเราไม่ได้ไปเที่ยวเฉยๆ นะคะ แต่ในฐานะที่เราทำประเด็นในสังคมอยู่แล้ว ก็ควรนำประเด็นทางสังคมของพื้นที่เข้ามาทำด้วย เลยกลายเป็นรายการท่องเที่ยวที่ไม่ได้พูดถึงความพิการแม้แต่นิดเดียว ซึ่งคนจะเห็นจากการเดินทางอยู่แล้วว่าไปถึงขึ้นเรือไม่ได้ ต้องขี่หลัง ลงข้างล่างไม่ได้ต้องอุ้ม คนจะเห็นด้วยภาพ โดยไม่ต้องบรรยาย แต่เราจะเน้นว่าอยากไปดูประเด็นทางสังคม อย่างเช่น ตอนไปจังหวัดระยอง เราเลือกไปสถานพักฟื้นแรงงานที่ได้รับอุบัติเหตุแล้วพิการ”

สำหรับ ‘Whole in One’ เป็นรายการสัมภาษณ์สั้นๆ ไม่เกิน 4 นาที ที่นำเสนอประเด็นคนพิการที่มีความขัดแย้งอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ‘ถ้าคุณมีลูกพิการ คุณจะทำอย่างไร?’ ‘ดราม่าชวนปวดขี้ คนพิการไม่มีส้วม’ ‘ทำไมข่าวคนพิการ ดูน่าสงสารเสมอ?’ ‘คิดว่าคนพิการมีอารมณ์ (ทางเพศ) ไหม?’ ‘คิดว่าคนพิการเป็นภาระหรือเปล่า?’ ‘ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญกับคนพิการ?’ ‘ถ้าพิการจะเดินทางยังไง?’ ‘แก่แล้วพิการจะทำอย่างไร?’ ‘สิ่งที่เราไม่เข้าใจเรื่องคนพิการ’ ‘คำแบบไหนเราที่ควรใช้เรียก ‘คนพิการ’  ‘พิการหรือตาย คนพิการจะเลือกอะไร?’ ‘พิการแล้วอยากแต่งตัวไปทำไม?’ ‘ตาบอด มองไม่เห็น แล้วเล่นโทรศัพท์อย่างไร?’

“ฟีดแบคของ ‘Whole in One’ คนที่มาตอบ บางคลิปจะเป็นคนพิการ บางคลิปจะเป็นคนทั่วๆ ไป ซึ่งคำตอบที่ได้ก็จะได้ทั้งมุมมองจากทั้งคนพิการและไม่พิการ แต่ละคลิปเรายินดีที่จะมีการถกเถียง เพราะถ้าทำแล้วทุกคนชมว่าดี แน่นอนเราดีใจค่ะ แต่หากพูดถึงคุณค่า ถ้าไม่มีใครพูดถึงคุณค่าเลยในฐานะของเนื้อหาที่ทำประเด็นสังคม เราจะรู้สึกว่าเราสอบตกมากกว่า เพราะฉะนั้น โดนด่าก็ไม่เป็นไร”

คนพิการกับปัญหาที่แก้ไม่จบ

“แน่นอนว่าจนถึงปัจจุบันยังมีคนพิการที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่การช่วยเหลือที่ผ่านมาก็เพียงแค่ฉาบฉวย ตัวหนูเองอาจจะหลุดจากตรงนั้นแล้ว หนูสามารถทำงานได้ มีเงินเดือน และเลี้ยงตัวเองได้ แต่ก็ยังมีคนพิการอีกเยอะที่ออกจากบ้านไม่ได้ ไม่มีอาชีพ ไม่ได้มีคนดูแล ซึ่งการเข้าไปช่วยโดยการเอาเงินไปให้เป็นครั้งคราว หรือการนำของเข้าไปมอบให้ วิธีเหล่านั้นไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืน ไม่ได้ทำให้เขาสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะว่านับวันก็จะมีคนพิการที่เป็นอย่างนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายคนที่เคยได้ตอนแรกๆ ก็จะไม่ได้แล้ว เขาจะนำไปให้คนอื่น เพราะฉะนั้นปัญหาก็วนอยู่อย่างนั้นไม่รู้จบ”

ในความคิดของนลัทพร การช่วยเหลือในลักษณะดังกล่าวทำให้คนพิการที่ถึงแม้จะออกมาจากบ้านเองได้ มาทำงานเองได้ ยังคงใช้ชีวิตในสังคมไม่ได้อย่างคนอื่น ทั้งๆ ที่บางกิจกรรม คนพิการเหล่านี้สามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่สภาพแวดล้อมกลับไม่เอื้อให้พวกเขาทำได้

“ตัวอย่างชัดๆ อย่างหนูเองที่ไม่สามารถใช้รถใช้ถนนได้อย่างปกติสุข หนูไม่สามารถขึ้นรถเมล์ได้ หนูต้องเรียกแท็กซี่ตลอดเวลา การที่หนูไม่สามารถขึ้นตึกเรียนได้ เพราะว่ามีบันได หรือแม้แต่การที่ไม่สามารถเข้าช่องรถไฟฟ้าเองได้ ต้องให้พี่ยามช่วย ซึ่งจริงๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนพิการบางคนทำได้และเขาก็อยากทำเอง การออกแบบสภาพแวดล้อมที่มีในเมืองไทยไม่เอื้อและไม่ได้ถูกคิดมาเพื่อให้คนพิการหรือแม้แต่คนไม่พิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เราคงไม่ปฏิเสธว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่คนช่วยเหลือกัน ซึ่งถ้าเราเจอคนใจดี เราก็จะได้รับการช่วย แต่ถ้าวันไหนที่เราไปในที่เดิม เวลาเดิม แต่ไม่เจอคนที่เคยช่วย นั่นก็เท่ากับว่าเราหมดโอกาสที่จะไปไหนมาไหน เราหมดโอกาสที่จะทำอะไรต่างๆ”

ประโยชน์เกิดขึ้นได้จากการสร้างระบบที่เข้มแข็ง

“หนูคิดว่าระบบเปลี่ยนง่ายกว่าความคิดคนนะ เช่น ถ้าตึกไม่มีทางลาด เราก็สร้างทางลาด แต่เพราะคำว่า ‘ระบบ’ ไม่ถูกคิดอยู่ในสารบบของคนที่มีอำนาจดูแลเรา คนที่ทำให้เราได้รับสิทธิ์ในฐานะพลเมืองแบบที่เราควรจะได้รับ เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่โดยตรงของภาครัฐที่จะต้องทำให้ประชาชน ไม่ว่าจะคนพิการ คนไม่พิการ คนแก่ เด็ก คนถือกระเป๋า นักท่องเที่ยว ที่ควรจะได้รับสิทธิ์ตามสมควร เช่น กฎการสร้างตึกโรงเรียนสามารถเปลี่ยนได้ไหม เนื่องจากตอนนี้ตึกโรงเรียน ถ้ามีขนาด 4 ชั้น จะมีลิฟท์ไม่ได้ คำถามตามมาก็คือ แล้วเด็กพิการที่ใช้วีลแชร์จะขึ้นไปเรียนกันอย่างไร? นี่คือคำถามทั่วไปเลยนะ จริงๆ ไม่ต้องถึง 4 ชั้น แค่ชั้น 2 ก็ขึ้นไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นหนูคิดว่าต้องเปลี่ยนตั้งแต่พื้นฐาน ซึ่งถ้าเปลี่ยนตั้งแต่จุดนั้นได้ ปัญหาต่างๆ ก็จะคลี่คลาย ตรงนี้มีความจำเป็นในสังคมไทย ณ ขณะนี้ เพราะอีกไม่กี่ปีเราก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกันแล้ว ลองจินตนาการดูว่าถ้าแม่ของเราอายุ 70 ยังต้องเดินทางไปซื้อของที่ตลาด แล้วเอาชีวิตมาเสี่ยงกับรถเมล์ที่ไม่ได้มาตรฐาน รถสองแถวที่ต้องโหนข้างหลัง การคิดคือคิดเพื่อทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมเพื่อให้ทุกคนได้คุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนๆ กัน ไม่เฉพาะแต่คนพิการ”


ความเปลี่ยนแปลงจากอดีต ปัจจุบัน อนาคต กับสิทธิคนพิการ

“สิทธิของคนพิการค่อยๆ ดีขึ้น เนื่องจากคนพิการมีปากมีเสียงมากขึ้น รวมถึงคนในสังคมที่ถูก educate มากขึ้นด้วยเกี่ยวกับความเท่าเทียมซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เรื่องคนพิการอย่างเดียว แต่ผ่านเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม จริงๆ ทุกเรื่องเกี่ยวข้องกันหมดนะในแง่กระบวนการเคลื่อนไหว การต่อสู้เพื่อสิทธิ เช่น เรื่อง LGPT สิทธิผู้หญิง หรือสิทธิชนเผ่า ซึ่งความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้คนเห็นมากขึ้นว่าคนเรามีสิทธิ์และควรจะได้สิทธิ์อะไรบ้าง รวมถึงว่าตอนนี้เรายังไม่มีสิทธิ์อะไรบ้าง คนจะหันมาสนใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังช้ามากนะคะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่เขาไปไกลมากแล้วเรื่องคนพิการ ทั้งๆ ที่กฎหมายไทยก็ดีพอๆ กันเลย”

ความท้าทายที่ฝ่าได้ด้วยความมุ่งมั่น

“ปัญหาและความท้าทายที่เข้ามาหลากหลายมากค่ะ ตั้งแต่เรื่องเนื้อหาที่บางประเด็นทางสังคมอาจะไม่ได้เปิดรับทำให้ช่วงแรกจะค่อนข้างเกร็งในการนำเสนอว่าถ้าเราเลือกเล่นประเด็นนี้สังคมจะช็อคไหม เพราะเรื่องคนพิการที่คนทั่วไปรับรู้จะเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ เช่น คนตาบอดข้ามถนนอย่างไร? คนนั่งวีลแชร์ใช้ชีวิตอย่างไร? ซึ่งหากพูดถึงเรื่องเพศก็ยังเป็นเรื่องไกลตัว เพราะฉะนั้น thisable.me จึงค่อนข้างกังวลในตอนแรกที่จะนำเสนอเนื้อหาเหล่านี้ เช่น เรามีคำถามว่าหากรู้ว่าในท้องเป็นเด็กพิการ จะทำแท้งไหม? ซึ่งนี่ก็เป็นประเด็นที่อ่อนไหวในสังคมเรา เพราะแค่ทำแท้งมีการถกกันหนักมากอยู่แล้ว พอมีความพิการบวกเข้าไปอีกก็จะมีแรงเสียดทานเยอะขึ้น หรือคนพิการมีอารมณ์ทางเพศไหม? ซึ่งจริงๆ เรามีคำถามหลายๆ อย่างที่เป็นเรื่องธรรมดามากๆ นะคะ เพียงแต่ว่าเรื่องเหล่านั้นไม่ได้ถูกพูดถึงในสังคมไทย แต่เราก็ย้อนมาถามถึงความตั้งใจที่ต้องการให้เว็บทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเพื่อให้คนในสังคมเข้าใจว่าคนพิการไม่ต่างไปจากคนปกติ เรามีความเท่าเทียมในแง่ของความเป็นมนุษย์ ฉะนั้น thisable.me คิดว่าเรื่องเหล่านี้ต้องถูกนำเสนอ และไม่ผิดเลยหากจะเกิดการวิพากาษ์วิจารณ์ขึ้น ไม่อย่างนั้นทุกอย่างก็ไม่เปลี่ยนแปลงหรือมีพัฒนาการ เพราะฉะนั้น ประเด็นต่างๆ เราอยากให้เกิดการพูดถึง ขยายต่อ และถกเถียงเกิดขึ้น”

การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่

นอกจากการยอมรับจากสาธารณชนในแง่ของสื่อที่เป็นตัวแทนและเป็นกระบอกเสียงให้แก่คนพิการ ตลอดจนเป็นเบื้องหลังของผู้สร้างสรรค์สื่อออฟไลน์ให้แก่สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยที่สะท้อนถึงศักยภาพของทีม thisable.me แล้ว อีกสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือความตั้งใจที่จะเป็นผู้นำด้านการใช้คำที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ

“นี่อาจจะเป็นจุดมุ่งหมายเล็กๆ ของพวกเรานะคะ แต่หนูคิดว่ายิ่งใหญ่มาก เพราะเรารู้สึกว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา สื่อจะใช้คำเกี่ยวกับคนพิการได้ไม่น่าฟังเลย ยิ่งสื่อกระแสหลักที่เลือกใช้คำเรียกคนพิการ ทั้งคำว่าเป๋ บอด ใบ้ หรือด้วน หนูคิดว่าคำเหล่านี้ไม่ได้สร้างภาพจำที่ดีเกี่ยวกับคนพิการ ถึงแม้ว่าคำเหล่านั้นจะเป็นคำสุภาพ แต่ก็มักถูกนำมาใช้ในทางล้อเลียนจนกลายเป็นคำไม่สุภาพไปแล้วในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเราจึงอยากเริ่มต้นที่จะเปลี่ยน เพียงแต่เลือกใช้คำปกติที่ไม่เหยียดและพูดถึงสภาพร่างกายเขาเฉยๆ เพราะคนพิการก็คือคนที่มีบางส่วนในร่างกายไม่ฟังก์ชั่นเท่านั้นเอง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือตอนนี้หลายๆ เว็บไซต์และสื่อออนไลน์เริ่มหยิบเอาคำเหล่านี้ไปใช้ หรือมีบางคนก็เข้ามาถามในฐานะที่เราทำงานเรื่องคนพิการว่าการที่เขาจะทำบทความชิ้นนี้ ใช้คำแบบนี้โอเคไหม? ทำแบบนี้เป็นการกดทับคนพิการหรือเปล่า? ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นได้ เช่น จากเดิมที่เราได้ยินคนเรียกคนหูหนวกว่าคนใบ้ ความเข้าใจเหล่านี้ก็เปลี่ยนไป เพราะจริงๆ คนใบ้ไม่มีในโลก มีแต่คนหูหนวกนะ พวกเรามีความตั้งใจให้เกิดขึ้น แต่แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงคงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ข้ามคืน ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีค่ะ”

นาคตของ thisable.me

“ถ้าเป็นระยะสั้นนี้ก็คงจะแก้ไขความตะกุตะกักต่างๆ ให้ลดลง เนื่องจากเราเตรียมที่จะมีเพื่อนร่วมงานเพิ่มซึ่งคงต้องเปลี่ยนอะไรบ้างอย่าง เช่น ระบบการทำงาน อีกอย่างคือเราอยากให้น้องฝึกงานได้รับอะไรกลับไปเยอะๆ ตัวหนูเองไม่รู้หรอกว่าโดยทั่วไปการมาฝึกงานเขาคาดหวังกันแค่ไหนหรืออยากทำอะไร แต่เราก็จะคุยกับน้องทุกคนถึงความต้องการของเขา น้องที่ฝึกงานจบไปควรจะต้องได้อย่างน้อยๆ ก็คือแนวความคิดที่เกี่ยวกับคนความเท่ากัน ทักษะที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานของเขาในอนาคต นี่จึงเป็นเป้าหมายหนึ่งที่เราอยากให้น้องมีทักษะมากที่สุด ขณะเดียวกัน thisable.me ก็จะต้องเรียนรู้จากน้องฝึกงานด้วย เพราะน้องๆ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผลักดันให้เราได้กลับไปคิด ไปตั้งคำถามว่าตอนนี้สังคมกำลังสนใจหรือสงสัยเรื่องอะไรกันอยู่ น้องแต่ละกลุ่มจะมาด้วยชุดคำถามใหม่ๆ


ถ้าเป็นระยะยาวแบบที่หนูก็คาดหวังไว้ก็คือ thisable.me ไม่จำเป็นต้องมีอีก คิดว่าจุดหนึ่ง หากเป้าหมายประสบความสำเร็จตามที่เราต้องการจริงๆ คนในสังคมสามารถออกสิทธิ์ออกเสียงของเขาได้ด้วยตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องไปกระตุ้น หนูคิดว่าเราก็จะไปทำประเด็นอื่น ซึ่ง thisable.me ในอนาคตอาจจะเป็นเพจหรือเว็บไซต์ที่ทำเรื่องอื่นไปเลยก็ได้ หนูคิดว่าในอนาคตคนทั่วๆ ไปในสังคมนี่แหละที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นปากเป็นเสียงแทนกันได้ คนพิการจะขยับไปทำเรื่องอื่นๆ โดยไม่ต้องมานั่งสนใจแล้วว่าเรื่องตัวเองจะไม่ได้รับการแก้ไข เพราะว่าเรื่องของเขาก็จะมีสิ่งอื่นๆ ที่เข้ามาเป็นปากเสียงแทน นี่เป็นความคาดหวังระยะไกลมากๆ เลย”




ภาพ: Maneenoot Boonrueang, www.thisable.me
อ้างอิง: www.thisable.me

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles