Microlibrary MoKa ห้องสมุดเล็กๆ ที่คิดใหญ่ ใช้คุ้มค่า มากประโยชน์

การออกแบบโดยคำนึงถึงวัสดุเป็นสิ่งสำคัญนั้น ด้วยเพราะมันสามารถทำให้เราใช้วัสดุได้อย่างคุ้มค่าประหยัดเกิดประโยชน์สูงสุด ดังเช่นแนวคิดเรื่องโมดูลาร์หรือการออกแบบประสานพิกัดที่นิยมมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังเป็นวิธีที่ไม่เชยอยู่และใช้งานได้ดีเสมอมา

Microlibrary MoKa (Modular Kayu) เป็นห้องสมุดขนาดเล็ก โดยเป็นอาคารต้นแบบอยู่ที่เมืองบันดุงประเทศอินโดนีเซีย ออกแบบโดยสถาปนิก SHAU Indonesia ซึ่งมีการทดลองพัฒนาการประหยัดต้นทุนจากชิ้นส่วนสำเร็จรูปโดยใช้แนวคิดเรื่องโมดูลาร์จากวัสดุหลักของอาคารขนาดเล็กนี้คือแผ่นไม้อัด ซึ่งมีขนาดมาตรฐานอยู่ที่ 4 x 8 ฟุต ขนาดของอาคารออกแบบตามขนาดของไม้อัดซึ่งแนวคิดของการออกแบบโดยโมดูล่านี้คือการที่ใช้ระยะที่หาร 3 ลงตัวเช่นไม้อัดกว้าง 4 ฟุตหรือ 120 เซนติเมตร เมื่อทำการแบ่ง 3 ก็จะเป็นช่องละ 40 เซนติเมตร วิธีนี้จะทำให้ได้อาคารที่มีการตัดเศษวัสดุน้อยที่สุด ทุกอย่างของห้องสมุดนี้จึงประกอบขึ้นด้วยไม้อัดในระยะที่ตัดน้อยที่สุด จะมีเพียงเสาที่เป็นไม้ประกบให้มีหน้าตัดใหญ่ขึ้นเพียงพอที่จะรองรับเป็นโครงสร้างได้ แต่ในส่วนของผนังที่เป็นชั้นหนังสือก็เป็นการตัดไม้อัดให้ลงระยะในระบบเซนติเมตร ในส่วนของโครงสร้างหลังคาก็เป็นการออกแบบโดยใช้ไม้อัดเป็นอะเส โดยตัดให้มีความลึกเพื่อที่จะรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาได้

การขยายตัวของห้องสมุด มีวิธีคิดจากสถาปนิกให้หน่วยที่เล็กที่สุดเป็น 1 หน่วย จากนั้นก็ต่อเข้าด้วยกันเป็น 2 หน่วย 3 หน่วยจนไปถึงใหญ่ที่สุด 12 หน่วยโดย 2 หน่วยตรงกลางเป็นลานล้อมด้วยห้องสมุด 10 หน่วย ทำให้การใช้งานพื้นที่ภายในสามารถปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น เรื่องของแสงอาทิตย์ที่เข้ามารบกวนการใช้งาน หรือในพื้นที่ต้องการแสงธรรมชาติก็ปรับให้พื้นที่นั้นรับแสงได้เช่นกัน ส่วนของผนังสามารถดัดแปลงเป็นรูปแบบลวดลายต่างๆ โดยอยู่ในระบบโมดูลาร์ตามการใช้งาน แม้ในภูมิประเทศที่พื้นดินมีขนาดไม่ราบเรียบ ตัวห้องสมุดนี้จะวางบนฐานที่เปิดโล่งเพื่อไม่ให้จมน้ำแบบอาคารเสาลอยที่พบได้ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงอินโดนีเซีย โดยความสูงของพื้นห้องสมุดนี้ก็คิดจากสัดส่วนของมนุษย์ทำให้ระเบียงกลายเป็นที่นั่งได้ตามการใช้งานที่ไม่ตายตัว

ในสภาวะที่โลกกำลังตระหนักถึงทรัพยากรที่จำกัด ในฐานะผู้บริโภค เราสามารถเลือกสิ่งที่มีการออกแบบให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ไปพร้อมกับการเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมโลกไปพร้อมกันได้

แปลและเรียบเรียงจาก www.archdaily.com
ที่มา: www.shau.nlarchitizer.com

Tags

Tags: ,

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles