ทุกวันนี้โลกมองผู้หญิงอย่างไร อะไรเป็นสิ่งหล่อหลอมภาพลักษณ์ของสตรีเพศ เราเหมือนจะมีชุดความเชื่อและข้อมูลจำนวนหนึ่งที่สร้างอัตลักษณ์ของพวกเธอในแบบเดียวกัน แน่ใจได้หรือว่าภาพความงามของเหล่าสตรีที่ปรากฏใช่ภาพที่แท้จริงของพวกเธอภายใต้สื่อบันเทิงและโลกแห่งการโฆษณา บางทีอาจเป็นเพียงความต้องการเพื่อโลกทางการค้า หรือมองในทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ‘มุมมองของเพศชาย’ ที่กักขังรูปแบบความเป็นเพศหญิงไว้ตามอำเภอใจ อันเป็นมุมมองซึ่งศิลปินสาวและนักทำหนังอย่าง Laura Mulvey ตั้งข้อสังเกตไว้ในทฤษฎี Male Gaze ของเธอ ไว้ตั้งแต่ปี 1975 และนี่เป็นแนวคิดหนึ่งที่ศิลปินแนวเฟมินิสต์ ขานรับและนำมาสานต่อสร้างสรรค์ผลงานให้โลกได้รับรู้อย่างงานสตรีทอาร์ตชิ้นนี้ ‘Miss Me’
ที่ มอนทรีออล ศิลปินสาวชาวแคนนาดาผู้มีเชื้อสายยิวและภูมิหลังครอบครัวที่ซับซ้อนใช้ชื่อในวงการศิลปะว่า Miss Me และปกปิดตัวเองด้วยการสวมหน้ากาก ออกตระเวนเขียนภาพบนท้องถนนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะไปตามเมืองต่างๆ ทั่วอเมริกาเหนือ เป็นการประกาศกร้าวถึงการต่อต้านความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ และอาจรวมไปถึงความเชื่อทางศาสนาและสีผิว ก่อนหน้านั้นเธอทำงานในวงการโฆษณาและแน่นอนว่าจากทั้งประสบการณ์ในวัยเด็ก ชีวิตในครอบครัวและวัยเรียน จนกระทั่งถึงการทำงาน เธอได้ตระหนักถึงความจริงที่โลกของเพศชายกระทำต่อเพศหญิง คล้ายเป็นเพียงวัตถุทางเพศและสินค้าเพื่อการขาย เมื่ออดไม่ไหวก็ต้องลุกขึ้นทำการประท้วงด้วยงานศิลปะที่รุนแรงและตรงไปตรงมา
หลายคนคงคิดว่าบรรดาความเชื่อทางศาสนาล้วนสอนให้คนรักในความเท่าเทียมและสันติ แต่ภาพที่ปรากฏในสังคมกลับตรงกันข้าม การนับถือศาสนาที่แตกต่างก็อาจเป็นสาเหตุให้สังคมไม่ต้อนรับได้ และเป็นยังแป็นเหตุแห่งความรุนแรงมากมาย ซึ่งไม่แตกต่างอะไรนักกับสถานการณ์ที่เพศหญิงโดนกระทำจากสังคม งานของ Miss Me จึงผสมผสานความคิดทั้งสองมุมนั้นเข้าด้วยกัน จัดแสดงไปตามจุดต่าง ๆ ของเมือง วิธีการทำงานของเธอชวนให้นึกถึงซูเปอร์ฮีโร่หญิงในหนังแอคชั่นแฟนตาซีที่กำลังต่อสู้กับเหล่าร้ายในยามค่ำมืด ทั้งๆ ที่อาจไม่ตั้งใจแต่นั่นกลับสะท้อนมุมมืดที่มีอยู่จริงและถูกปกปิดไว้ ภายใต้สื่อบันเทิงและโฆษณาทั้งหลายที่กำลังพูดถึงความงามที่เคลือบแฝงไปด้วยผลประโยชน์และความเหลื่อมล้ำทางเพศ แม้งานแสดงของศิลปินจะไม่สามารถเปลี่ยนความคิดทางสังคมได้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยกระตุ้นผู้คนให้เปิดมุมมองและปลดปล่อยความงามให้เป็นอิสระพ้นไปจากภาพลวงตาอันจอมปลอมเสียที
อ้างอิง: miss-me-art.com, killingbuddha.co, en.wikipedia.org, Facebook: Miss Me Art