My New Old Chair เก้าอี้เก่าเล่าใหม่…สวยเก๋ด้วยอะคลิลิกใส

เฟอร์นิเจอร์หักพังส่วนใหญ่ใครก็โยนทิ้ง แต่ไม่ใช่สำหรับ Tatiane Freitas ศิลปินสาวชาวบราซิลที่มองเห็นคุณค่าและความสวยงามที่เหลืออยู่ Freitas ยังรู้ดีว่าจะทำอย่างไรให้เฟอร์นิเจอร์หักพังเหล่านั้นกลับมาใช้งานได้โดยไม่ทิ้งขว้างความงามของอดีตไป

วิธีซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์ของ Freitas เป็นการหยิบยืมเอาหลักการมาจากวัฒนธรรมประเพณีของญี่ปุ่น นั่นคือ ‘คินซึงิ’ (kintsugi) หรือการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผาที่แตกร้าวด้วยการใช้ทองเป็นวัสดุในการประสานรอยร้าวนั้นๆ คินซึงิเป็นการสอนให้เราเห็นคุณค่าของข้าวของที่แม้จะผุพังไปแล้วแต่ก็ไม่ควรโยนทิ้ง ที่สำคัญ ผลลัพธ์ของการใช้ทองมาประสานรอยแตกร้าวยังเป็นการขับเน้นให้เราเห็นรอยร้าวและการซ่อมแซมอย่างชัดเจนมากกว่าจะหลบซ่อน เข้ากับปรัชญาที่ว่าเรื่องความสวยงามของบาดแผลจากประสบการณ์เลวร้ายของมนุษย์

แต่สำหรับ Frietas เธอดัดแปลงวิธีการของคินซึงิไปนิดนึง เพราะเธอไม่ได้ใช้วัสดุในการซ่อมแซมที่โดดเด่นเหมือนทอง ตรงกันข้ามกลับเป็นอะคริลิกใส ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้งานได้สมบูรณ์ ในขณะเดียวกันความใสของอะคริลิกที่เมื่อมองเผินๆ เหมือนกับว่าเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นลอยอยู่ในอากาศด้วยขาหักๆ ก็เป็นการโยนความสนใจกลับไปให้งานไม้ดั้งเดิมที่สวยงาม เสมือนเป็นการให้เกียรติงานฝีมือจากอดีต มากกว่าที่จะโอ้อวดความร่วมสมัยของโลกปัจจุบัน ถ้าจะบอกว่างานออกแบบของ Frietas นี้ แสดงให้เห็นเป็นนัยว่า อดีตและอนาคตสามารถอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลได้ ก็คงจะไม่ผิดนัก

สุดท้าย ที่เหมือนกับคินซึงิอีกอย่างก็คือ งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในโปรเจ็กต์ My New Old Chair ของ Freitas นี้ ช่วยให้เรากันกลับมามองคำว่า ‘หักพัง’ เสียใหม่ เพราะมันอาจไม่ได้เป็นความหมายด้านลบอีกต่อไป แต่ถ้ามองกันให้ดี ความหักพังนั้นก็สวยงามและมีคุณค่า ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร

อ้างอิง: mymodernmet.com, www.thisiscolossal.com

Tags

Tags: ,

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles