‘ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์’ ผู้สำรวจความสุขคนไข้ ค้นหาความสุขในความทุกข์ของผู้ป่วย

หนึ่งในทอล์คออฟเดอะทาวน์ในบ้านเราเมื่อปีที่แล้ว คงจะต้องรวมเอาเรื่องที่โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (World MediCal Hospital) ประกาศรับสมัครงานในตำแหน่ง ‘ผู้สำรวจความสุขคนไข้ ที่จะต้องทำหน้าที่พูดคุยสำรวจความสุขของคนไข้เพื่อนำมาเขียนเป็นเรื่องราว รวมทั้งใช้เป็นข้อเสนอแนะในการปรับปรุงบริการของโรงพยาบาล โดยเงินเดือนที่ “ผู้สำรวจความสุขของคนไข้”​ จะได้รับระหว่างสัญญาการทำงาน 6 เดือนนั้น เป็นจำนวนสูงถึง 1 ล้านบาท แน่นอน มีคนส่งคลิปวิดีโอมาสมัครในตำแหน่งดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และไม่นานหลังจากคณะกรรมการคัดเลือกจนเหลือ 12 คนสุดท้าย ในวันที่ 26 มิถุนยายน 2560 ทางโรงพยาบาลก็ประกาศผลว่าผู้ที่ได้รับเลือกเป็น “ผู้สำรวจความสุขของคนไข้” คือ สาวน้อยวัยเพียง 21 ปี ที่ชื่อ ธันย์ – ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์

หลายคนที่ไม่เคยรู้จัก ‘น้องธันย์’ อาจสงสัยว่าอะไรทำให้เด็กสาววัยเพียง 21 ที่ยังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะวารสารศาตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ แต่เราเชื่อว่าเมื่อได้พูดคุยและรู้จักเรื่องราวของน้องธันย์ ทุกคนที่เคยกังขาจะเข้าใจได้อย่างดี ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 น้องธันย์ตกเป็นข่าวใหญ่หลังจากที่ประสบอุบัติเหตุถูกรถไฟฟ้าในสิงคโปร์ทับจนต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างไป แต่อวัยวะที่สูญเสียไปกลับทำอะไรจิตใจของเธอไม่ได้ ตรงกันข้าม ดูเหมือนว่าโชคชะตานั้นจะทำให้เธอมองโลกได้อย่างเข้าใจมากกว่าใครอีกหลายคนด้วยซ้ำ น้องธันย์ยังมีฝันอยากเป็น ‘ผู้ให้’ หลังจากที่เคยเป็นแต่ ‘ผู้รับ’ มาก่อน และสิ่งแรกที่เธอสามารถมอบให้ใครก็ตามที่ผ่านมาพูดคุยกับเธอ ก็คือ รอยยิ้มสดใสบนใบหน้านั้น

สาวน้อยผู้เข้มแข็งที่อยากเป็นกำลังใจให้ผู้อื่น

“เมื่อตอนที่ธันย์เห็นประกาศรับสมัครของทางโรงพยาบาลเวิล์ดเมดิคอล ธันย์คิดอย่างเดียวเลยว่านี่เป็นสิ่งที่เราอยากทำอยู่พอดี แล้วดูคุณสมบัติ เราก็มีครบ เพราะเขาไม่ได้ต้องการคุณวุฒิมากไปกว่าที่เรามี ขอแค่อายุตั้งแต่ 18 ขึ้นไปเท่านั้นเอง สาเหตุที่ธันย์อยากทำงานในลักษณะนี้เพราะว่าธันย์เองก็เคยเป็นคนป่วยมาก่อน หลังจากที่ธันย์ประสบอุบัติเหตุ ธันย์ต้องอยู่โรงพยาบาลนานถึงสองเดือน จริงๆ ตอนนั้น ธันย์รักษาร่างกายหายแล้ว แต่ยังต้องอยู่ในโรงพยาบาลอยู่ ซึ่งพออยู่นานๆ มันก็เหงา ธันย์ก็อยากคุยกับใครสักคน ตอนแรก ธันย์ก็ออกไปนอกห้องพัก ไปคุยกับหมอกับพยาบาล แต่ว่าเขาก็ต้องทำงาน ไม่ว่างมาคุยกับเราหรอก สุดท้าย คนที่ธันย์สนิทมากที่สุดคือแม่บ้าน ธันย์คุยกับเขาทุกเรื่อง จนเขารู้หมดเลยว่าธันย์ชอบกินอะไรบ้าง ถึงขนาดว่าธันย์เรียกเขาเป็นแม่เลย

“อีกอย่างนึงตอนที่ธันย์อยู่โรงพยาบาล ธันย์ได้เจอหลายคนที่เขามาเยี่ยมธันย์ ส่วนมากเป็นคนที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย แต่ว่าเขารู้ข่าวของเรา บางทีก็รวมกลุ่มกันมา เอาของมาให้ บางทีก็เป็นคุณป้าที่อุตส่าห์มานั่งรอเราเป็นชั่วโมงๆ มันเป็นเรื่องที่ซาบซึ้ง สวยงาม ตอนนั้น ธันย์ก็เลยคิดว่า สักวันนึงธันย์อยากจะเข้มแข็งแล้วเป็นฝ่ายให้อะไรแก่คนอื่นบ้าง พราะธันย์ไม่อยากจะมานั่งรอรับความช่วยเหลือจากคนอื่นอย่างเดียว

หน้าที่ของ ‘ผู้สำรวจความสุขคนไข้’

“หน้าที่ของธันย์ในฐานะ ‘ผู้สำรวจความสุขของคนไข้’ ธันย์จะต้องคุยกับคนไข้โดยเฉลี่ยวันละ 4-5 คน ทั้งคนไข้นอกและคนไข้ในที่ธันย์จะทำงานกับฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ ออกไปเยี่ยมคนไข้ตามห้องพัก หรือบางทีก็เป็นคนไข้ที่มารอทำกายภาพ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือชาวต่างชาติก็มี แต่ละวันเราไม่รู้ว่าเราจะเจอใครบ้าง เราไม่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า หลังจากคุยตอนเช้า พอตอนบ่าย ธันย์ก็จะต้องเอาเรื่องราวเหล่านั้นเขียนออกมาแล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย โดยเป็นเรื่องราวที่ให้กำลังใจคนอื่นๆ”

จุดกึ่งกลางระหว่าง ‘หมอ’ และ ‘นักจิตวิทยา’

“เรื่องที่คุยกับคนไข้ 80% จะเป็นเรื่องส่วนตัวของเขาและเรื่องจิปาถะ หรือไม่ก็เรื่องของธันย์เองที่เขาอยากจะรู้ คือธันย์ไม่ได้ไปสัมภาษณ์เขา แต่เหมือนเพื่อนคุยกันมากกว่า หลายคนเข้าใจผิดว่าหน้าที่ที่ธันย์ทำเหมือนนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ค่ะ อยากให้ลองนึกภาพว่ามีแพทย์ผู้รักษาและนักจิตวิทยา แล้วตรงกลางระหว่างสองคนนั้นก็คือธันย์ ธันย์ไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนหมอที่วินิจฉัยหรือประเมินคนไข้ แต่สิ่งที่ธันย์ทำจะพอช่วยให้หมอและนักจิตวิทยาทำงานได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คนไข้บางคนจะมีบางเรื่องที่ไม่กล้าบอกหมอตรงๆ เขาก็จะให้เราเป็นคนไปบอกแทน เราก็เลยได้ช่วยทำให้การสื่อสารระหว่างคนไข้และหมอมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้น ธันย์คิดว่าเราสามารถช่วยในเรื่องสภาพจิตใจของเขาได้ คือผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ เพราะอย่างธันย์เองเวลามีปัญหา เราก็อยากคุยกับใครสักคนเหมือนกัน อยากระบาย อยากแลกเปลี่ยน ตรงนี้เป็นข้อดีที่ธันย์คิดว่าอยากให้ทุกโรงพยาบาลมีคนที่คอยทำหน้าที่นี้”

บทสนทนาระหว่างคนแปลกหน้า

“ความยากของการคุยกับคนไข้คือ เราจะทำยังไงให้เขายอมเล่าเรื่องของเขาออกมา เพราะอย่างแรกเลย เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน บางคนก็ไม่ได้รู้จักธันย์มาก่อนด้วย ธันย์ก็เลยต้องใช้วิธีการหลายอย่างที่จะช่วยให้เขายอมเล่าเรื่องของเขาออกมา หรืออย่างวิธีการถาม อยู่ๆ เราจะไปถามตรงๆ ว่าเขาป่วยเป็นอะไรก็ไม่ได้ เพราะบางทีถามอย่างนั้นก็เหมือนเราไปตอกย้ำในสิ่งที่เขาเป็น โชคดีที่ธันย์เรียนวารสารฯ ที่มีวิชาสื่อสารระหว่างบุคคล รวมทั้งประสบการณ์จากที่ธันย์ได้เคยคุย ได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ในด้านนี้ ก็เลยทำให้ธันย์พอจะเข้าใจวิธีการคุยกับคนไข้ได้”

ค้นหา ‘ความสุข’ ใน ‘ความทุกข์’ ของผู้ป่วย

“ธันย์เชื่อว่าคนเราทุกคนมีทั้งสุขและทุกข์ คนป่วยที่มาหาหมอ เขาก็คงไม่ได้มีความทุกข์อย่างเดียว หรือคนที่แข็งแรงดีอยู่ที่บ้าน ก็คงไม่ได้มีแต่ความสุข แค่จุดที่เขามองมันต่างกัน ทำให้บางครั้งเขาอาจจะมองไม่เห็นความสุขของตัวเอง อย่างในโรงพยาบาล ด้วยสภาพแวดล้อมอาจจะทำให้เขาคิดว่าเขามีความทุกข์ ทั้งๆ ที่เขามีความสุขซ่อนอยู่ แค่มันไม่ได้ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาให้เขามองเห็นเท่านั้น หน้าที่ของธันย์ก็อาจจะเป็นคนนั้นที่ไปช่วยเขาขุดคุ้ยจนเจอความสุขในตัวเขาได้”

ความรับผิดชอบ… แรงผลักดันให้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ของเรา

“ถามว่ามีวันไหนที่ธันย์เหนื่อย มีปัญหาส่วนตัวแล้วไม่อยากไปทำงานบ้างมั้ย แน่นอน ก็ต้องมีอยู่แล้ว เพราะธันย์ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาทั่วไป ยิ่งตอนนั้นจริงๆ แล้ว ธันย์มีปัญหาค่อนข้างเยอะด้วย เพราะทั้งเรียนและทำงาน ต้องจัดการแบ่งเวลาให้ได้ แต่ธันย์เชื่อว่าเวลามีปัญหา มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการยังไง สำหรับธันย์ ธันย์คิดว่าด้วยหน้าที่ทำให้เรามีแรงผลักดันที่ต้องลุกขึ้นมาทำงานที่เราได้รับมอบหมายมาให้ได้ เรามีความรับผิดชอบตรงนี้อยู่ เหมือนเวลาที่เราไม่อยากไปเรียน แต่เราก็ต้องไป เพราะถ้าเราไม่ไป มันจะมีผลตามมาคือ เกรดตก ธันย์ถูกที่บ้านปลูกฝังเรื่องนี้มาตลอด ทำให้ธันย์ค่อนข้างจะคิดถึงคนอื่นที่จะได้รับผลกระทบจากการกระทำของเรา อย่างทำงานกลุ่ม ถ้าเราไม่รับผิดชอบหน้าที่เรา เพื่อนๆ คนอื่นก็ต้องได้รับผลกระทบตามมา”

รับมา วางลง แล้วค่อยมาเริ่มต้นใหม่พรุ่งนี้

“บางเคสที่ธันย์เคยเจอก็เป็นเคสที่ depress มากเหมือนกัน เป็นสภาวะจิตใจของผู้ป่วยที่เครียด ซึมเศร้า เราเองเป็นคนไปคุย เราก็เหมือนรับความเครียดนั้นมาด้วย เราก็เลยต้องเคลียร์ความเครียดของเราออกไป โชคดีที่ธันย์ทำงานตอนเช้า พอตอนบ่ายก็ต้องไปเรียน ทำให้เหมือนกับเราต้องวางเรื่องนั้นลงโดยอัตโนมัติเพื่อจะไปทำสิ่งอื่นก่อน แล้วค่อยกลับมาเริ่มต้นใหม่พรุ่งนี้ ทำให้ธันย์คิดได้ว่าเราไม่ควรจะไปหมกมุ่นกับเรื่องที่เครียดหรือทำให้เราเหนื่อยมากๆ เราต้องรู้จักวางลง”

แค่ 5 นาที แต่เปลี่ยนชีวิตคนอื่นได้

“ก่อนหน้าที่จะมาทำงานที่โรงพยาบาลเวิล์ดเมดิคอลเซ็นเตอร์ ธันย์รับงานไปพูดตามที่ต่างๆ มาก่อน ธันย์ทำมา 8-9 ปีแล้ว ตั้งแต่หลังจากได้รับอุบัติเหตุ และก็อยากจะทำอาชีพนี้ต่อไปเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ธันย์อยากทำอาชีพนี้ก็คือ มีครั้งนึง ธันย์ไปพูดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ งานนั้นมีคนไปร่วมงานเยอะ มีทั้งดารา เซเลป ธันย์ไม่ได้เป็นตัวเด่น แค่ไปพูดแจมๆ แป๊บเดียว แล้วคนก็ไม่ค่อยได้สนใจอะไรเรามาก เพราะเขาน่าจะอยากฟังเซเลปพูดมากกว่า แต่หลังจากพูดจบ นั่งทานข้าวอยู่ ก็มีทหารผ่านศึกคนนึงเข็นรถมา แล้วบอกธันย์ว่า ขอบคุณมากที่มาพูดในวันนี้ เพราะมันต่อชีวิตเขาได้เลย เพราะเขาเองก็ต้องมานั่งบนรถเข็นและถึงขนาดเคยคิดฆ่าตัวตายมาแล้ว วันนั้น ธันย์ดีใจมาก เพราะเราไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกับชีวิตเขาด้วยซ้ำ แต่เราสามารถทำให้ชีวิตเขาเดินต่อได้ แค่พูด 5 นาที แต่เราเปลี่ยนชีวิตคนอื่นได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ธันย์ก็เลยไม่สนว่าเวลาพูดจะมีคนฟังกี่คน หรือกี่คนที่รับแรงบันดาลใจจากเราได้ พูดให้คนฟังร้อยคน ขอแค่มีคนนึงที่เข้าใจและได้แรงบันดาลใจไป แค่นี้ก็พอแล้ว มันทำให้ธันย์รู้ว่าความสำคัญของหน้าที่นักพูดนี้คืออะไร เพราะก่อนหน้านี้ เราแค่พูดๆ แล้วก็กลับ ไม่เคยรู้จักความหมายของสิ่งที่ทำ”

ถ้าคุณยังมีขา คงไม่ยากเกินไปที่จะ ‘ล้มแล้วลุก’

“สิ่งหนึ่งที่ธันย์อยากบอกคนอื่นๆ คือ เราคงเคยได้ยินการให้กำลังใจด้วยประโยคว่า ‘ล้มแล้วลุก’ ก่อนหน้านี้ ธันย์ก็มองว่ามันเป็นการให้กำลังใจทั่วๆ ไป ไม่ได้เข้าใจหรือเข้าถึงอะไร แต่พอวันนึงที่ธันย์ล้ม แล้วพบว่าเราลุกขึ้นมาได้ยากมากจริงๆ คือไม่ได้ลุกด้วยใจ แต่ด้วยขา เพราะเราใส่ขาเทียม เราก็เลยไม่รู้เลยจริงๆ ว่าจะลุกขึ้นมาได้ยังไง แล้วธันย์ก็ต้องใช้หลายวิธีมากที่จะลุกขึ้นมาอีกครั้งให้ได้ และถ้าธันย์ผ่านมาได้ ลุกขึ้นอีกได้ แล้วคุณยังมีขา มันก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะลุกขึ้นมาอีกครั้ง”

ภาพถ่ายบุคคล: ศรันย์ แสงน้ำเพชร
ขอบคุณภาพถ่ายในการทำงานจาก World MediCal Hospital

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles