No Worries If Not! เกมกระดานที่ไม่มีใครชนะ สะท้อนภาระทางใจที่ผู้หญิงต้องเจอในทุกวัน

“No Worries If Not!” สี่คำนี้แปลเป็นไทยได้ว่า “ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรนะ!” เป็นคำที่เรามักกล่าวตามด้วยความเกรงใจหลังจากที่เราขอร้องอะไรไป  เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกสบายใจไม่กดดัน

ฟังดูแล้วก็เหมือนจะเป็นคำพูดที่มีความหมายเชิงบวก แสดงถึงความเข้าอกเข้าใจต่อกัน แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตขึ้นมาว่า ผู้ที่พูดคำนี้ส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งในทางจิตวิทยาสะท้อนว่าเป็นเพราะผู้หญิงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะถูกมองว่าเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการหรือชอบออกคำสั่ง เพราะสังคมมักคาดหวังว่าผู้หญิงจะมีนิสัยประนีประนอม เรียบร้อยว่าง่าย ในขณะที่ผู้ชายมักจะถูกคาดหวังให้มีความเป็นผู้นำมากกว่า 

สถานการณ์สองมาตรฐานเช่นนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้หญิงมักต้องเจอในชีวิตประจำวัน (อาจจะไม่ใช่ทุกคน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อย) และกลายเป็นที่มาของเกมกระดานสุดพิเศษ ‘No Worries If Not’ ที่ออกแบบโดยทีมดีไซเนอร์จาก Little Troop ร่วมกับแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย Billie โดยตัวเกมมีลักษณะคล้ายเกมบันไดงู มาพร้อมกับกระดานเกม 1 แผ่น ลูกเต๋า 1 ลูก หมากเดิน 6 ตัว และการ์ด 86 ใบ เหมาะสำหรับผู้เล่น 2-4 คนที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไป

วิธีเล่นก็คือ แต่ละคนต้องทอยเต๋าเพื่อเดินหมากไปยังช่องต่างๆ เมื่อตกช่องไหนก็ต้องทำตามคำสั่งในช่องนั้น หรือหยิบการ์ดข้อความขึ้นมาอ่านประกอบกัน โดยตลอดเกมผู้เล่นจะได้ผ่านสถานการณ์ชวนอึดอัดที่นำมาจากสิ่งที่ผู้หญิงมักเจอเช่น ‘Judgement Junction’ สะท้อนประเด็นที่ผู้หญิงมักโดนตัดสินจากสังคมด้วยมาตรฐานหรือค่านิยมที่ล้าหลัง ตัวอย่างเช่นข้อความในการ์ดอาจบอกว่า “ถ้าคุณตัดสินใจที่จะมีลูกให้ไปที่ Judgement Junction แต่ถ้าคุณตัดสินใจที่จะไม่มีลูกก็ให้ไปที่ Judgement Junction” อ้าวแล้วกัน! ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีลูก ผู้หญิงก็ถูกตัดสิน (หรือโดนเม้ามอย) จากสังคมอยู่ดี 

เส้นชัยของเกมนี้คือ ‘Everyone’s Happy, No One’s Mad Land’ หรือดินแดนแห่งความสุขของทุกคน (ที่ไม่มีใครกลายเป็นบ้าไปเสียก่อน) แต่ความฮาผสมเสียดสีก็คือ แทบจะไม่มีใครชนะเกมนี้ได้ (เพราะน่าจะเป็นบ้าไปเสียก่อน) เนื่องจากว่าเกมถูกออกแบบมาให้ผู้เล่นมักจะไปตกที่นั่งลำบากเสมอ เช่น Judgement Junction สี่แยกแห่งการโดนตัดสิน (ผู้หญิงต้องสวยอยู่เสมอ แต่ถ้าสวยเกินไปก็จะถูกมองว่าไม่ฉลาด หรือต้องทำตัวให้ฉลาดจะได้รับความเชื่อถือ แต่ต้องไม่ฉลาดเกินไปจนกลายเป็นภัยความมั่น!)  Self-Doubt Spiral – วงจร(อุบาทว์)ของการไม่เห็นค่าในตัวเอง (เพราะโดนวิจารณ์เรื่องรูปร่างหน้าตาตลอดเวลาว่าอ้วนไป ผอมไป แก่ไป เด็กไป) หรือไม่ก็ The Wage Gap ความแตกต่างของค่าจ้างที่ไม่เท่ากันระหว่างชายหญิง เป็นต้น 

ที่จริงแล้วเป้าหมายของเกมที่ไม่มีวันชนะเกมนี้ คือการกระตุ้นให้ผู้หญิงมีความมั่นใจในศักยภาพของตัวเองมากขึ้น และตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมของระบบกฎเกณฑ์ที่ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่ต้น คือมันเป็นไปไม่ได้ที่จะชนะเกมนี้ ถ้าเราเดินหมากตามไปอย่างไม่หือไม่อือ แต่ต้องเล่นตามกฎของตัวเองเท่านั้นถึงจะเอาชนะได้!

ลองนึกภาพตาม ถ้าน้องเกรต้าเจ้าของวลี “How dare you!” อันลือลั่นที่โดนโจมตีว่าก้าวร้าวเกินไป เปลี่ยนมาใช้คำพูดว่า “เรามาช่วยกันลดโลกร้อนกันเถอะนะคะ แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร!” เราคงไม่ตระหนกและตระหนักว่าภาวะโลกร้อนนั้นเป็นเรื่องใหญ่แน่เลยว่าไหม?

 

อ้างอิง: mybillie.com

Tags

Tags: , ,

วนัทยา มงคล

อดีตกองบก.นิตยสาร GM Plus และ DDT ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ ชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อโลก

See all articles