ในหนังสือ How Product Are Made เล่าถึงที่มาของชอล์กไว้ว่า เครื่องเขียนชนิดนี้ถูกใช้ครั้งแรกในห้องเรียนนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ในยุคที่การศึกษาเริ่มแพร่หลาย โดยชอล์กทำขึ้นจากแร่ยิปซัมหรือเกลือจืดที่ใช้ทำปูนปลาสเตอร์นำมาอัดเป็นแท่งทรงกลม และชอล์กที่เรานี้คุ้นหน้าค่าตากันดีก็อยู่คงกระพันมากว่าพันปีด้วยรูปทรงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปแม้แต่น้อย
แล้วทำไมชอล์กจะต้องเป็นแท่งล่ะ? คำถามนี้กลายเป็นจุดตั้งต้นให้ Nik Bentel นักออกแบบอุตสาหกรรมจากนิวยอร์ครื้อฟอร์มเดิมๆ ของชอล์กไปแบบไม่เหลือเค้าเดิม เขาออกแบบ The Chalk Drawers ให้เป็นสื่อกลางในการเปิดจินตนาการให้แก่ผู้ใช้โดยเฉพาะเด็กๆ เห็นถึงความเป็นได้ใหม่ๆ ของรูปทรงเครื่องเขียนกระดานดําดังกล่าว จากชอล์กทรงกระบอกที่ใช้ขีดเขียนเป็นรอยเส้นบนกระดานดำ ได้ถูกปรับรูปทรงออกมาเป็นสามฟอร์ม ได้แก่ Circle Drawer, Line Drawer และ Dot Drawer ที่ให้ผลลัพธ์ของลายเส้นที่ต่างกัน ตั้งแต่เส้นโค้งที่มีแพทเทิร์นเหมือนรอยกระเพื่อมของน้ำ เส้นตรงเรียงซ้อนกัน และลวดลายจุด ตามลำดับ
การออกแบบของ Nik ครั้งนี้ ก็มีเป้าหมายในการถ่ายทอดเรื่องราวไม่ต่างไปจากงานชิ้นก่อนๆ ของเขา ทั้งเก้าอี้รีไซเคิลที่ถูกออกแบบเพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องของขยะจากกระดาษ หรืองานออกแบบเสื้อผ้าที่จะเปลี่ยนแพทเทิร์นทุกครั้งเมื่อมีการจับมลพิษจากอากาศ สำหรับเมสเสจที่อยู่ The Chalk Drawers เองก็คือการนำเสนอทางเลือก รวมทั้งการคิดใหม่ทำใหม่ในเรื่องการวาดรูป ทั้งในแง่ของการผลิตและข้อจำกัดของการวาดภาพแบบที่เคยเป็นมา นอกจากการเปลี่ยนรูปทรงชอล์กแบบที่ไม่ได้เป็นไปตามขนบของ Nik จะสร้างความแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ความตั้งใจอีกอย่างของเขาก็เพื่อจุดชนวนให้ผู้ใช้รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เห็นภาพวาดที่ต่างออกไปในแต่ละครั้งที่พวกเขาได้จับเครื่องเขียนดังกล่าว และดึงเอาศักยภาพของสิ่งที่มีอยู่มาเป็นพันๆ ปีชิ้นนี้ในมุมมองและรูปแบบใหม่ด้วย
อ้างอิง: www.nikolasbentelstudio.com