‘คนใจบ้าน’ กลุ่มสถาปนิกชุมชนกับการฟื้นฟูเมืองแบบยั่งยืน

(จากซ้ายไปขวา) ฐิติยากร นาคกลิ่นกูล, เอกสิทธิ์ ชูวงศ์, สามารถ สุวรรณรัตน์, ศุภกุล ปันทา, ทนวินท วิจิตรพร, ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร และ ขนิษฐา ศักดิ์ดวง (ถ่ายภาพโดย กรินทร์ มงคลพันธ์)

ด้วยความตั้งใจเดียวกัน คือ ‘อยากเห็นเชียงใหม่ดีกว่านี้’ การรวมตัวและก่อตั้งกลุ่มคนทำงานเล็กๆ ที่ชื่อ ‘คนใจบ้าน’ จึงเกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อน โดยมีเป้าหมายก็เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึงเขตวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่พวกเขาทำมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาจไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมหาศาลให้กับเชียงใหม่ แต่มันได้จุดประกายแรงบันดาลใจเล็กๆ จนนำไปสู่การร่วมแรงร่วมใจ ความเข้าใจที่คนในชุมชนมีต่อกัน ตลอดจนการปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนเริ่มหันมามองคุณค่าของพื้นที่ สังคม และวัฒนธรรมรายรอบตัว วันนี้เรามีโอกาสได้คุยกับสมาชิกจากกลุ่มคนใจบ้านถึงสิ่งที่พวกเขาทำ บทบาทของสถาปนิกและนักวิชาการกลุ่มเล็กๆ ในการพัฒนาเชิงสังคม รวมไปถึงเป้าหมายในอนาคตของพวกเขา

Q: ช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของกลุ่ม ‘คนใจบ้าน’ ให้เราฟังหน่อยได้ไหมว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

A: คนใจบ้านเริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี 2553 หลังจากที่ตี๋ (ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร) สมาชิกคนหนึ่งของเรามีโอกาสได้ทำงานกับองค์กรที่ชื่อว่า ‘มูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย’ หรือ ‘ACHR’ (Asian Coalition for Housing Rights) ซึ่งเป็นกลุ่มของสถาปนิกชุมชนที่ทำงานเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนจนในเอเชีย โดยพวกเขานำวิธีการทำงานในลักษณะ ‘กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม’ มาใช้ในการเข้าไปแก้ปัญหา เราเห็นโมเดลนี้ว่าน่าจะทำได้จริง เพราะมันสามารถสร้างความเข้าใจเรื่องการออกแบบกับชาวบ้านว่า มันไม่ใช่เป็นเรื่องของนักวิชาการหรือความสามารถเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ทำได้ แต่ทุกคนสามารถออกแบบได้ ก็มีโอกาสได้มาคุยกันว่ากระบวนการแบบนี้มันเกิดขึ้นได้ในเมืองไทยนะ น่าจะมาลองดู ก็เลยรวมตัวกับพี่ๆ น้องๆ จาก มช. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาปนิก นักประวัติศาสตร์ศิลปะ และนักวิจัย เราก็พูดคุยกันว่าจริงๆ แล้ว สถาปนิกน่าจะมีบทบาทอื่น หรือมีศักยภาพที่ทำอะไรได้อีกนอกจากที่เรียนมาเพื่อ serve คนแค่กลุ่มเดียวที่มีเงินจ้าง ขณะที่คนอีกมากที่เป็นชาวบ้านเขาไม่ได้มีศักยภาพมากพอที่จะจ้างสถาปนิกเพื่อให้ได้งานออกแบบดีๆ ที่ตอบโจทย์จริงๆ โดยจุดมุ่งหมายของเราคือการเข้าไปช่วยให้ชาวบ้านมองเห็นโอกาสของการพัฒนาที่อยู่อาศัยของตัวเองให้ดีขึ้นได้

Q: เป้าหมายของกลุ่มคนใจบ้านคืออะไร

A: ความตั้งใจของพวกเราคืออยากเห็นเชียงใหม่ดีขึ้น แต่สิ่งที่เราทำ ไม่ได้เปลี่ยนเชียงใหม่แบบตู้มครั้งเดียวแล้วเห็น มันเป็นการเข้าไปกระเทาะจุดเล็กๆ ไปสร้างความเข้าใจ ไปก่อแรงบันดาลใจ และเสนอมุมมองที่ต่างออกไปเพื่อให้คนเชียงใหม่ได้หันกลับมามองพื้นที่ใหม่ ให้นักท่องเที่ยวได้เห็นพื้นที่ในมุมมองที่ต่างออกไป แล้วเราก็ใช้เครื่องมือการท่องเที่ยวแบบเคารพ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชนเข้ามา และมากไปกว่านั้นเมื่อคนในชุมชนมองเห็นพื้นที่ เห็นศักยภาพ หรือสิ่งดีๆ ในชุมชนของตัวเองแล้ว เขาจะรู้สึกหวงแหนและลุกขึ้นมาทำอะไรกับมัน เก็บรักษามันไว้ แทนที่มันจะหายไป หรือว่ารอใครสักคนมาช่วย แต่ชุมชนสามารถทำได้เลยซึ่งนั่นจะเป็นเป้าหมายระยะไกลของเรา

Q: คนใจบ้านเริ่มต้นจากทำโครงการอะไร

A: เราเริ่มกันด้วยงานอนุรักษ์วัดสิบสองปันนา ตอนนั้นก็เข้าไปคุยกับชาวบ้านว่าจะทำอย่างไรในการนำองค์ความรู้การสร้างวัดแบบดั้งเดิมมาใช้ ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม พวกเราเข้าไปค้นหาว่ามีใครพอทำอะไรได้บ้าง เราอยากให้คนในชุมชนสามารถดูแลด้วยความรู้ที่เขามีและสามารถส่งต่อรุ่นต่อรุ่นได้ เพราะถึงเราจะเข้าไปช่วย แต่ท้ายที่สุดเราก็ต้องออกมา แต่ถ้าคนในชุมชนเรียนรู้และเข้าใจคุณค่า รวมทั้งความหมาย มันจะกลายเป็นเรื่องของการช่วยกันดูแลแบบยั่งยืน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ งานนี้เลยเหมือนเป็นการจุดประกายให้เรารู้สึกว่ามันน่าจะเป็นไปได้ถ้าเราอยากทำงานลักษณะนี้ต่อไป

Q: ที่ผ่านมาประทับใจโครงการไหนเป็นพิเศษบ้างไหม

A: จริงๆ เราประทับใจทุกโครงการนะ เพราะว่าแต่ละพื้นที่จะมีปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้และปรับวิธีการทำงานให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ อย่างชุมชนกำแพง ซึ่งเป็นชุมชนริมคลองแม่ข่า หน้าบ้านเป็นคลองหลังบ้านเป็นแนวกำแพงดิน(กำแพงเมืองชั้นนอก) ชาวบ้านอยู่อาศัยกันหนาแน่น มีทั้งคนเมืองและชาวเขา สภาพพื้นที่ริมคลองยังมีเป็นตลิ่งดินมีไม้ใหญ่ และพืชสวนครัวขึ้นปะปน สภาพน้ำในคลองเน่าเสียอย่างรุนแรง พวกเรามีโอกาสได้เข้าไปชักชวนผู้คนชาวกำแพงงามเข้ามาร่วมกันดูแลพื้นที่ผ่าน ‘โครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมริมคลองแม่ข่า-ลำคูไหว’ โดยตั้งเป้าหมายคือให้ชาวบ้านมาช่วยกันฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและปัญหาความมั่นคงของที่อยู่อาศัยซึ่งมีพื้นที่นำร่อง 8 ชุมชน พวกเราก็ไปเก็บข้อมูลแล้วก็มาทำ mapping ช่วงที่ทำเราก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนในภาพรวมทั้งเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่ตรงนี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องของชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนแออัดเฉยๆ เราเลยเขียน proposal ไปของบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งเรารู้ว่าปัญหาที่ พอช. ต้องเจอคือแรงต้านจากพื้นที่ เราเลยเลือกใช้อีกแนวทางหนึ่งที่จะไม่ใช้เครื่องมือแบบเดิมในเรื่องการมาทวงสิทธิ แล้วให้ชาวบ้านไปเรียกร้อง แต่เราเข้าไปเสนออีกมุมมองหนึ่งและช่วยเพิ่มตัวเลือกของโอกาสจากศักยภาพที่ชาวบ้านมีร่วมกันจนลงตัวว่าจะใช้เครื่องมือคือการเข้าไปพัฒนาสิ่งแวดล้อม ไปชวนชาวบ้านมามองพื้นที่ของเขาใหม่ แล้วลองดูว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง เราไปคุยกันแล้วก็ได้โจทย์อยู่ประมาณ 7 ข้อที่ชาวบ้านอยากทำ และรู้สึกว่าทำแล้วมันจะดีกับเขาเอง ช่วงแรกๆ เราก็ทำกิจกรรมแบบจัดนิทรรศการเพื่อสื่อสารไปถึงคนในเมือง ซึ่งเราก็ไม่มีเงิน แต่พอผู้ใหญ่เห็นว่าเราทำ หอศิลปวัฒนธรรมเขาก็เข้ามาช่วยโดยเปิดพื้นที่จัดนิทรรศการให้เรา

อีกงานหนึ่งสนุกคือ ชุมชน 5 ธันวา ซึ่งเขาเองก็มีแผนไว้แล้วว่าอยากทำอะไร เราก็เข้าไป mapping ชุมชนว่าชุมชนมีองค์ประกอบอะไรบ้าง แล้วด้วยความที่เราเป็นสถาปนิกเราก็ลองทำภาพเป็นสามมิติดูว่าถ้าปรับปรุงแล้วสะพานกับทางเดิน มันจะดีอย่างนี้นะ แต่ด้วยงบประมาณที่เราได้มามันไม่ได้มากและไม่พอสำหรับที่จะมาสร้างอะไรที่เป็นถาวรวัตถุ เราก็เลยอาศัยความร่วมมือจากที่อื่นๆ ที่เรามีเครือข่ายอยู่ว่าที่นี่เขาอยากทำโครงการนี้นะ โดยเฉพาะ CSR หรือหน่วยงานรัฐที่อยากจะทำอะไรดีๆ ให้กับชุมชน แล้วก็ลองไปคุยกับเพื่อนที่ทำงานกับทาง SCG ซึ่งมีโครงการ CSR เลยชวนเขาว่าที่นี่มีนะ ชาวบ้านพร้อมด้วย มาทำมั้ย เขาก็ลองดีไซน์มา เราก็รับเอางานดีไซน์มาคุยกันแล้วก็ปรับ โดยหาจุดร่วมกับชาวบ้านให้ได้ แต่ตอนเราไปเริ่มคุย เราไม่ได้บอกนะว่าเรามีเงิน คือเราคุยกันจนโจทย์มันเริ่มชัดแล้ว เราถึงบอกว่าเออเนี่ยมีเงินส่วนหนึ่งเท่านี้นะ เราก็คุยเรื่องการจัดการเงิน ตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมา ทำให้มันโปร่งใสที่สุด ทำให้มันเป็นเรื่องของคนส่วนรวม เป็นเรื่องของชุมชน เป็นประโยชน์ของชุมชน ของชาวบ้าน ทุกคนก็จะรู้สึกว่ามันโปร่งใสและมีส่วนร่วมได้ แต่พวกเราไม่ได้ไปทำให้ทั้งหมด เราให้คำแนะนำเรื่องการคำนวณราคา เรื่องวัสดุ แล้วที่เหลือเรามาช่วยกันนะ มาทำด้วยกัน ซึ่งวิธีแบบนี้ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่ามันเป็นของเขา เป็นสิ่งที่เขาอยากดูแล

ภาพ 3D การปรับปรุงบริเวณลานกิจกรรมในชุมชน 5 ธันวา

ทีมสถาปนิก และคนใจบ้านร่วมให้ความรู้ชาวบ้านเรื่องการจัดเรียงอิฐ

Q: คุณได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน หรือองค์ใดบ้างไหมทั้งในเรื่องของทุนและความรู้

A: เรื่องเงินทุน เราควักเนื้อกันนะในช่วงแรกๆ ที่เริ่มต้น ไม่ค่อยมีสตางค์ครับ แต่ก็อยู่ได้ เราโชคดีตรงที่เวลาเราทำงานชิ้นนึงเสร็จ ก็จะมีคนเห็นแล้วก็บอกว่าไปทำงานที่นี่มั้ย ที่นี่ก็มีเรื่องนี้นะ ถ้าอยากทำสามารถขอความช่วยเหลือจากคนนี้ได้ พอเขาเห็นว่าทำได้และคิดว่าน่าจะดีถ้าพวกเราไปทำ เราก็ไปเริ่มทำกับเขาเลย อยากทำใช่มั้ย ยังไม่พูดเรื่องเงิน ทำไปก่อน บางโครงการเราทำเสร็จ งบประมาณเพิ่งมาก็มี ช่วงหลังๆ จะมีคนแนะนำเราเข้าไป เพราะฉะนั้นคนแนะนำเนี่ยก็จะไปจัดการเรื่องทุน เรื่องความช่วยเหลือต่างๆ หน้าที่หลักของเราเลยเป็นการทำกระบวนและเสนอความคิดเห็น ส่วนเรื่ององค์ความรู้ ในกลุ่มคนใจบ้านจะมีสมาชิกที่มาจากหลายสายอาชีพ ซึ่งแต่ละคนก็จะถนัดในความรู้ของตัวเอง ซึ่งถ้ามีปัญหาหรืออุปสรรค เราก็จะเอาความรู้ความคิดของพวกเรามาแชร์กันเพื่อหาตรงกลางที่มันใช้ได้จริงๆ ร่วมกับชาวบ้าน และขอคำแนะนำจากคนที่ถนัด ซึ่งมันก็สามารถดำเนินงานต่อไปได้

Q: หลังจากมีโอกาสได้ทำงานกับชุมชน ได้ใกล้ชิดกับชาวบ้าน มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

A: ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ ชาวบ้านมีการพูดคุยกันมากขึ้น บางชุมชนมีความขัดแย้งซึ่งมันเกิดจากโครงสร้างการเมืองที่มีมานาน ซึ่งเราแก้ในส่วนนั้นไม่ได้ แต่สิ่งที่คนใจบ้านรู้ว่าทำได้ คือ เราสามารถสร้างเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ในตัวชาวบ้านได้อยู่ เพราะทุกครั้งที่เข้าไปในชุมชน เราจะไม่ถามเลยว่าพวกเขาคนของใคร สีไหน คำถามแรกก็คือ ป้าเป็นอย่างไรบ้าง ชุมชนเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรไหม แล้วก็เริ่มฟังเขา แต่ต้องฟังแบบจริงๆ แบบลึกซึ้งนะ ซึ่งเขาถูกปลูกฝังมาด้วยระบบการปกครองที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันที่ให้มาเป็นสิ่งของ เป็นงบประมาณ เป็นทุน เป็นโครงการที่จะเข้ามาช่วย แต่พวกเราไม่ทำแบบนั้น ผมก็จะถามก่อนว่าแล้วป้าอยากทำอะไร เขาก็จะเริ่มพูด คือเราไม่ได้ไปเปลี่ยนความคิดเขานะ เราแค่ตั้งคำถาม และเสนอดูว่าถ้าป้าทำสิ่งนี้ คนในชุมชนจะเริ่มคุยกัน แล้วถ้าช่วยกันมันจะดีขึ้นใช่มั้ย เราลองทำกันดูมั้ย เดี๋ยวผมไปหาคนมาช่วย แล้วก็พาคนอื่นที่เรารู้จัก ซึ่งก็คือเพื่อนๆ เรานี่แหละมานั่งคุย ที่สำคัญคือเราต้องมีตัวอย่างให้เขาดูว่าที่อื่นเขายังทำได้เลย อย่างชาวบ้านในบังคลาเทศจนมากเลยอยู่ในสลัมเขาก็ยังทำได้ เราลองมั้ย เริ่มจากทำเรื่องเล็กๆ ง่ายๆ เช่น การปรับหน้าบ้านตัวเอง หรือรวมภาพเก่าเอามานั่งเล่ากัน แล้วเอาไปจัดเป็นนิทรรศการเล็กๆ ในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมามันอาจจะเป็น small success นะ แต่มัน big change เพราะพอเขาลองทำ แล้วทำได้ พวกเขาก็เริ่มรู้สึกได้ว่าเขาไม่เห็นต้องรอใครเลย ก็ทำได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เขาได้ลงมือทำ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหรือความสำเร็จที่มันเป็นของเขาแล้ว จากนั้นเขาจะทำเองได้ และจะทำซ้ำขั้นตอนเดิมๆ ซึ่งมันจะเหนี่ยวนำคนรอบข้าง รวมทั้งชุมชนอื่นให้เริ่มมองเป็นตัวอย่าง

Q: อย่างที่ฟังมา ดูเหมือนว่าเรื่องโครงสร้างทางการเมืองจะเข้ามาเกี่ยวข้องระหว่างกระบวนการทำงานพอสมควร คุณต้องเจอปัญหาเรื่องเงินหรืออำนาจบ้างหรือเปล่า

A: เราทำมาจะเข้าปีที่ 3 แล้วก็ยังไม่มีนะ เพราะเราไม่พูดถึงเรื่องนั้นมาก่อน เราจะพูดว่าปลายทางหรือคนที่ได้รับประโยชน์คือใครจริงๆ เราจะไม่เริ่มจากความขัดแย้ง แต่เราจะตั้งคำถามขึ้นมาว่าทุกคนห่วงใยอะไรกับเมืองนี้ หรือว่าอยากทำอะไร ผลที่ออกมามันเลยกลายเป็นทุกคนห่วงใยและอยากทำให้ชุมชนและเมืองดี เลยเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดีมากๆ

Q: คุณนำความรู้ด้านออกแบบ หรืองานสถาปัตยกรรมมาใช้ในงานพัฒนาชุมชนอย่างไรบ้าง

A: เราเป็นสถาปนิกที่ทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่ได้ทำสถาปัตยกรรม (หัวเราะ) จริงๆ แล้วบทบาทสถาปนิกในงานชุมชนคือเราหยิบเอาความรู้ด้านออกแบบมาประยุกต์ใช้ในกระบวนความคิด การสร้างสื่อเพื่อให้คนในชุชมชนเห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมและเป็นระบบขึ้น ซึ่งมันทำให้เขาเข้าใจได้ง่ายขึ้นเยอะเลย เช่น การทำ sketch-up ทำ 3D ให้ชาวบ้านเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดขึ้นว่าถ้าทำแล้วมันจะเป็นแบบนี้นะ เขาก็จะเริ่มมองออกถึงผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งพวกเราเคยไปทำงานกับกลุ่มคนพิการที่เขามีผลิตภัณฑ์โฮมเมด เราก็เข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเขาด้วยการพัฒนาเรื่องบรรจุภัณฑ์ เอาความรู้เรื่องการออกแบบไปช่วย ไม่ใช่ว่าต้องไปดีไซต์กล่องให้สวย ใช้สีแบบนี้นะ เราต้องเริ่มจากพื้นฐานก่อนว่า โอเค ถึงเขาพิการแต่เขาทำอะไรได้บ้าง เช่น สามารถพับมันเองได้ กระดาษที่ใช้ต้องต้นทุนต่ำที่สุดหรือเป็นรีไซเคิล เวลาเขาแพ็คไปส่ง เขาใช้รถเข็น มันจะต้องเป็นกล่องแบบไหนถึงคือมันจะเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ได้ดี จะเป็นลักษณะแบบคิดทั้งระบบเพื่อให้เหมาะกับวิถีเขาด้วย

Q: ในความคิดของคุณ นักออกแบบและสถาปนิกช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมซึ่งยากและซับซ้อนได้ไหม

A: จริงๆ ทุกอาชีพทำได้นะ คุณสามารถใช้เครื่องมือทางวิชาชีพของคุณไปทำงานที่เป็นประโยชน์ได้เหมือนกัน สิ่งที่คนใจบ้านได้เรียนรู้มา คือ ถ้าเราใช้วิชาชีพที่เรามีไปเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงผู้คน ทำงานร่วมกันโดยที่มองเป้าหมายใหญ่ที่มันเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ที่เราอยู่อาศัยอยู่เป็นหลัก ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว มันไปได้อีกเยอะเลย จริงๆ แล้ว การออกแบบเมือง ออกแบบหน้าตาของตึก ออกแบบพื้นที่ หรือออกแบบการใช้ประโยชน์ของมันสามารถสื่อสารให้รู้เลยว่าเราบอกรักเมืองที่เราอยู่อย่างไร เราอาศัยกับมันอย่างไร เพราะถ้าเราทำมันแค่สนองอัตตาตัวเอง เป็นแต่ตึกเท่ๆ ใช้กระจก ปูนเปลือย แล้วใช้แอร์สุดๆ ในขณะที่พื้นที่ตรงนี้มีต้นฉำฉาอยู่ แล้วคุณไม่เคารพสิ่งนั้น คุณตัดมันทิ้งหมด มันก็เป็นเรื่องน่าเศร้า ไม่ใช่แค่สถาปนิกแต่พวกเราทุคนต่างหากที่ต้องถามตัวเองว่า เวลาลงมือทำอะไรบางอย่าง คุณทำมันไปทำไม มองพื้นที่รอบข้างรึยัง เพราะปฎิเสธไม่ได้ว่าเราปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา เราหายใจเข้าไป เดินลงไปเราเห็นคนทะเลาะกัน เราก็เครียดได้ เห็นรถติดเราก็รู้สึกแย่ เราน่าจะคิดกับมันนิดนึง คิดแล้วเริ่มคุยกัน อาจจะเริ่มทำจากสิ่งเล็กๆ ที่ตัวเองสามารถทำได้ก่อน

บรรยากาศระหว่างการทำแผนที่ทำมือร่วมกับชาวบ้าน

บันทึก

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles