‘ณัฐพล วาสิกดิลก’ The Arokaya การดูแลสุขภาพเป็นหน้าที่ของทุกคน

หากลองถอดความหมายตามหลักไวยากรณ์แล้ว คำว่า ‘อโรคยา’ หมายถึง ‘ความเป็นอโรค’ หรือ ‘ความไม่มีโรค’ อันครอบคลุมไปถึงสุขภาพที่ดีทางกายและทางใจ

‘The Arokaya’ ที่มีความหมายตามคำข้างต้น เป็นคลินิกที่เปิดรักษาผู้ป่วยด้วยการแพทย์แผนจีน การแพทย์แผนไทย และอายุรเวท ซึ่งดำเนินการโดย คุณหมอแดง – วีระชัย วาสิกดิลก ก่อนตกทอดมายัง คุณหมอนัท – ณัฐพล วาสิกดิลก ที่เขาไม่เพียงแต่จะสานต่อปณิธานของคุณพ่อในการ ‘ช่วยสร้างประชากรที่แข็งแรง’ เท่านั้น แต่คุณหมอยังใช้ช่องทางต่างๆ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ‘ใครไม่ป่วยยกมือขึ้น’ หรือรายการสุขภาพชื่อเดียวกันที่แม้ปัจจุบันจะยุติลงแล้วก็ตาม

เรื่องราวของวิศวกรหนุ่มที่ผันตัวมาเป็นแพทย์แผนไทยและยูถูปเบอร์ด้านสุขภาพคนนี้มีความน่าสนใจหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือการที่เขาได้นำเอาองค์ความรู้ รวมถึงประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยมาสื่อสารต่อสาธารณชนผ่านช่องทางยูถูปที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าใจและเข้าถึงประเด็นด้านสุขภาพได้แบบฟรีๆ เพื่อให้คนในสังคมมีสุขภาพทางกายที่ดี อันจะส่งผลต่อเนื่องไปยังสุขภาพใจที่ดี และเกิดความสุขในปลายทาง

วิศวกร VS แพทย์แผนไทย สายอาชีพที่ต่างแต่ก็เวียนมาบรรจบ

“จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้มาสายแพทย์แผนไทยเลยนะ เพราะว่าตัวเองเรียนมาด้านวิศวะฯ คอมพิวเตอร์ ระหว่างนั้น คุณพ่อ คือคุณหมอแดง (วีระชัย วาสิกดิลก) ก็บังคับให้ไปเรียนแพทย์แผนไทย ช่วงนั้นยังเด็ก เรายังชอบเที่ยวเล่น คุณพ่อแกก็บอกว่าแทนที่จะไปเที่ยว วันเสาร์อาทิตย์ก็ไปเรียนแพทย์แผนไทยแล้วกัน ผมก็เรียนมั่งโดดมั่ง แต่สุดท้ายก็จบมาจนได้ ซึ่งโชคดีที่ว่าเราเรียนมาทางสายวิทย์ก็ต้องอ่านหนังสือบ่อย เลยมีพื้นฐานในการอ่านหนังสือพอสมควร เมื่อมาเรียนแพทย์แผนไทยเลยไม่ยากเสียเท่าไหร่”

“แต่ตอนที่ผมเริ่มสนใจเรื่องนี้มากขึ้นคือตอนที่ผมเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 ช่วงนั้นผมมีปัญหาเรื่องกลิ่นปากและกลิ่นตามตัว เวลาออกกำลังกาย จะเป็นเหมือนกลิ่นสาบ แล้วก็เป็นกรดไหลย้อน ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีคำว่ากรดไหลย้อนเลยนะ ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เลยไปหาคุณพ่อที่คลินิกตรงสุขสวัสดิ์ คุณพ่อเลยบอก เอาอย่างนี้ให้เลิกกินชาเย็น ผมชอบกินชาเย็นไง ก็เลยเลิก แล้วแกก็ให้ทานยาตัวหนึ่งเรียกว่า ธรณีสัณฑะฆาต เคยได้ยินไหม คุณแม่ก็จับมาเปิดขวดให้ทานไป 3 เม็ด แล้วก็ไปนอน ตอนนั้นจุกแน่นมาก ลมขึ้น พอกินปุ๊บ ประมาณ 3 ชั่วโมง ตื่นมาตกใจ ทำไมปวดท้องมากเลย ก็ไปถ่าย ตั้งแต่บ่ายสองถึงสองทุ่ม ผมถ่ายไป 5 รอบ และอาการจุกแน่นก็หายไปเลย ตอนนั้นงงมากว่าหายไปได้อย่างไร เพราะว่าถ่ายเหรอ ยาแค่ 3 เม็ด เนี่ยนะ นี่คือจุดเริ่มต้นที่เราเห็นชัดเกี่ยวกับยาแผนไทย แต่ถามว่าผมสนใจแบบจะต้องศึกษาเลยไหม คือยัง แล้วพอผมเลิกดื่มชาเย็น พวกกลิ่นปาก กลิ่นลมหายใจ หรือภูมิแพ้ ก็เป็นน้อยลงด้วย เราเริ่มเข้าใจละ แล้วพอได้ไปเรียนก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น สุดท้ายพอเรียนจบมาสักพักหนึ่ง ก็ต้องมาเป็นหมอแทนคุณพ่อ ตอนนั้นแหละที่เริ่มอิน”

“แล้วตอนที่คุณพ่อเป็นหมอ เราก็พิมพ์หนังสือที่ชื่อว่า ‘ใครไม่ป่วยยกมือขึ้น’ คุณพ่อก็เขียนมือ แล้วผมเอามาเรียบเรียงใหม่ มีโอกาสได้หาข้อมูลเพิ่ม และมีคุณแม่ช่วยอีกแรง ทำไปทำมาคือเวิร์ก เล่มนี้กลายเป็นหนังสือสุขภาพขายดีอันดับหนึ่ง เราก็ดีใจเริ่มทำรายการโทรทัศน์ชื่อเดียวกันคือ ‘ใครไม่ป่วยยกมือขึ้น’ เลยกลายเป็นว่าคุณพ่อก็ทำเรื่องหมอไป เราก็ไปทำรายการโทรทัศน์ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีอีก นั่นก็คือจุดที่เราเริ่มก้าวเข้ามาในศาสตร์ของแพทย์แผนไทยมากขึ้น”

จุดเปลี่ยนสู่การทำหน้าที่ ‘แพทย์แผนไทย’ อย่างเต็มตัว

“จุดเปลี่ยนคือเมื่อประมาณ 8 ปี ที่แล้ว คุณพ่อทำงานหนักมากจนเริ่มป่วย ผมก็เลยต้องมาดูแลแทน แต่ตอนนี้ท่านหายดีแล้วนะครับ เหมือนจับพลัดจับผลูว่าชอบครึ่งหนึ่งและก็ชอบทำรายการโทรทัศน์ด้วย แต่ปรากฎว่าพอรักษาคนไข้ไปเรื่อยๆ ผมก็เริ่มชอบ ซึ่งในเมื่อเขามาหาเราถึงที่ ผมสามารถอธิบายทุกเรื่องอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องยาว่าต้องทานเพราะอะไร เหตุผลที่คุณป่วยเรื่องนี้เพราะอะไร และทำให้คิดได้ว่าซ่อมคนก็เหมือนซ่อมคอมพิวเตอร์นะ เวลาซ่อมคอมพิวเตอร์ เราก็จะคิดว่าทำอย่างไรให้คอมพิวเตอร์หายดีจริงๆ ไม่ใช่ว่าซ่อมไปแล้วใช้งานนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็พังอีก ฉะนั้น ซ่อมทั้งทีต้องเอาให้เหี้ยนเลย ลงโปรแกรมของจริง ทำให้ดี ซ่อมคนก็เหมือนกัน เราก็อยากทำให้ดี ทำให้เขาเข้าใจแบบเต็มร้อย”

หมวกใบที่สองกับบทบาท Youtuber ด้านสุขภาพ

“ตอนนั้นทำรายการ ‘ใครไม่ป่วยยกมือขึ้น’ เราทำในเชิงพาณิชย์พอสมควรนะ พาณิชย์ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งผมก็บอกทีมงานบอกว่า เราได้เงินมาส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งเราก็มีความตั้งใจที่อยากให้คนป่วยน้อยลง จริงๆ ปณิธานนี้มีมาต้ังแต่รุ่นคุณพ่อ แล้วก็มาต่อที่รุ่นผม ฉะนั้น อีกครึ่งหนึ่งของรายการ เราก็จะไปสัมภาษณ์โรงงานทำยาเพื่อขอความรู้ คุยกับอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง ว่าทำอย่างไร ดูแลสุขภาพอย่างไร เราก็ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากท่านผู้รู้เยอะแยะมากมายและโชคดีที่เราได้เรียนรู้จากเขา พอถึงจังหวะที่ทำมาสัก 5 ปี ทีวีดิจิตอลเข้ามา เราก็ต้องเลือกจะข้ามไปไหม ถ้าข้ามไปทีวีดิจิตอลค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเยอะเลยนะ เพราะถ้าทำก็จะกลายเป็นว่าต้องมุ่งมั่นหาเงิน เป้าหมายที่จะทำเพื่อสังคมจะไม่เหลืออะไรแล้ว สุดท้ายก็ตัดสินใจเลิก เราก็มาทำคลินิกอย่างเดียว ตั้งใจทำคลินิกให้ดี ทำนวดให้ดี”

“สักพักหนึ่ง ปัญหาเวลารักษาคนไข้ อย่างผมรักษาคุณ รักษาวันนี้หาย อีกประมาณสัก 3-4 เดือน มาอีก รักษาไป ปีหน้ามาอีก ก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมยิ่งรักษา คนยิ่งเยอะ แต่ปณิธานของเราคืออยากให้คนป่วยน้อยลงไม่ใช่เหรอ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องคิดก็คือเอาให้ตรงทางเลยแล้วกัน โชคดีที่ตอนนั้นยูทูปก็โด่งดัง เลยคืดกันว่า เราทำแบบนี้แล้วกัน ไม่มีรายการละ เราทำราบการผ่านยูทูปเลยแล้วกัน และเลือกแบบที่ไม่เก็บค่าโฆษณาเพื่อจะได้สื่อสารออกไปให้ตรงทางเลย เราอยากจะให้คนป่วยน้อยลงจริงๆ นะ หลังจากนั้น จึงค่อยๆ ลิสต์ว่าคลินิกของเราเก่งเรื่องอะไรบ้าง ก็จะมีกรดไหลย้อน เบาหวาน ความดัน ปวดไมเกรน ปวดเข่า ออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง ที่เป็นแล้วไม่หายสักที ก็เลยเอาความรู้ที่มีมาไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ค แล้วไปแชร์ต่อในยูทูป ใช้มือถือง่อยๆ ถ่าย หน้าก็ดำ ไฟก็ไม่มี (หัวเราะ) ตอนทำก็ไม่ได้คิดอะไรมากนะ ปรากฎว่าทำไปประมาณ 4-5 คลิป และมีคนเอาไปแชร์ ซึ่งสิ่งที่พบคือเวลาคนไข้เดินเข้ามา เขาจะถามเราน้อยลง แทนที่ผมต้องอธิบาย 100% เหลือแค่ประมาณ 25% ผมใช้เวลาน้อยลง เพราะคนไข้เข้าใจมาแล้วส่วนหนึ่ง แล้วที่เข้ามาก็คือเพื่อความมั่นใจบ้าง เพื่อพาเพื่อนๆ มาบ้าง พาลูกมาบ้าง นั่นหมายความว่า ผมมีคนไข้คนนั้นเป็นหมอเพิ่มอีกคนหนึ่ง เป็นหมอบ้านที่เขาสามารถดูแลตัวเอง ลูก และสามีได้ กลายเป็นว่าการที่ผมทำยูทูปด้วยความรู้ของผม แต่ผมกำลังสร้างหมอในบ้านเกิดขึ้น”

สุขภาพดีแบบฟรีๆ ด้วยช่องทางสื่อสารออนไลน์

“ถ้าย้อนกลับไปตอนทำรายการ ผมใช้เงินเดือนละประมาณ 3 แสนบาท จ้างพนักงาน ซื้อกล้อง แต่ทำยูทูปคุณแทบไม่เสียเงินเลยนะ ครั้งหนึ่งผมว่าไม่เกินร้อยบาท คุ้มมาก โดยเฉพาะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับคนดูคือเราได้หมอบ้านเพิ่มมาด้วย กลายเป็นว่าผมก็สนุกขึ้น ทุกๆ เนื้อหามีการหาข้อมูลเพิ่ม มีสคริปต์ มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ต้องใช้สมุนไพรอะไร วิธีการไหนป้องกันอย่างไร รักษาอย่างไร หายแล้วดูแลตัวเองอย่างไร ซึ่งพอเราตั้งใจมากขึ้น ก็มีคนดูเพิ่มขึ้นอีก คราวนี้มันก็จะไม่ใช่มาเล่นๆ ละ กลายเป็นว่าเวลาคนไข้มาหาเรา เขามาเพื่อมาเสวนากัน เพราะเขาเรียนรู้จากเราไปแล้ว ผมก็เลยรู้สึกว่าเจ๋งเนอะ ยูทูปแม้ว่าจะเป็นของต่างประเทศ แต่ว่ามันช่วยให้คนไทยป่วยน้อยลงได้ โดยที่เราไม่ได้ใช้ทรัพยากรเยอะแยะอะไรเลย”

“แล้วหลังจากที่เปิดช่องยูทูป ผมรู้สึกดีนะ คือแต่ก่อนผมมีคนไข้มาจากหนองคาย ตีรถมา เงินก็ไม่ได้มีเยอะ มาถึงมาคุยกัน ผมก็มีเวลาให้เขาประมาณ 10-20 นาที อย่างมากเนอะ แต่นะวันนี้ คนไข้คนนั้น เขานั่งดูคลิปได้ว่าวันนี้หมอพูดอะไรบ้าง ถ้าเครียดก็แค่โทรมา ไม่ต้องหาเงินขึ้นรถมาหาเราแล้ว นี่คือความรู้สึกที่ดีที่ผมสามารถทำให้เขามีที่พึ่งทางใจได้สำเร็จ เพราะบางที ผู้สูงวัยหรือคนที่เขาป่วย จริงๆ เขาอาจจะไม่ได้ต้องการอะไรเยอะนะ แค่ได้คุย แล้วช่องทางในยูทูปหรือเฟซบุ๊คก็ดีอย่างหนึ่งตรงที่เราคุยกันได้ด้วย เขาถาม เราตอบ ก็เหมือนกับเราได้ดูแลเขา คนมีเงินเยอะก็อาจจะไม่เป็นไรไง ขับมาขับไปก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่คนไม่มี ก็ไม่มีจริงๆ นะคุณ”

ภาพรวมสุขภาพคนไทย

“ผมว่าสุขภาพโดยรวมของคนไทยอาจยังไม่ดีนะ แต่ความตระหนักเรื่องสุขภาพเริ่มมีมากขึ้น ถ้านึกง่ายๆ คุณจะเห็นว่า เดี๋ยวนี้ ทุกวันอาทิตย์ จะมีการวิ่ง การปั่นจักรยาน เราจะเห็นถึงความตระหนักเรื่องของสุขภาพของคนไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังเป็นความตระหนักที่ไม่ได้กินลึกเข้าไปในหัวใจ เช่น สมมติว่ามาปั่นจักรยาน พอเสร็จภารกิจ จะมีละว่าเดี๋ยวไปกินกัน เย็นนี้ไปจัดหนักกันดีกว่า การออกกำลังกายในบางกลุ่มยังเป็นเทรนด์ เป็นแฟชั่นอยู่ ยังไม่ได้ซึมลึกเข้าไปว่านี่คือหน้าที่ฉันจริงๆ นะ ซึ่งถ้าเทรนด์นี้หายไป ก็คือความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพก็หายไปเหมือนเดิม ผมเองก็กังวลอยู่นะ คือเขาเอากิจกรรมเป็นที่ตั้ง แต่ไม่ได้เอาสิ่งที่ควรทำเป็นที่ตั้ง สมมติว่าเราบอกว่าเราจะวิ่งเพื่อสุขภาพ ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งนะ อย่างมาราธอน เราต้องเริ่มจากการซ้อม ถามตัวเองว่าฉันไหวไหม ฉันโอเคไหม วิ่งแล้วปวดเข่าไหม จะไม่ใช่วิ่งแบบฉันจะต้องทำให้ถึง ถ้าทำถึงฉันถือจะว่าเป็นมนุษย์แห่งความสำเร็จ มันก็โอเคนะ แต่ถามว่าสุขภาพคุณจะโอเคอย่างที่ต้องการจริงๆ หรือเปล่า ก็อาจจะไม่ใช่ก็ได้”

ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการใช้ชีวิตผิดๆ

“พูดตรงๆ คนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาสุขภาพ คือเขาไม่ค่อยดูแลตัวเองนะ หลักๆ จะเป็นเรื่องพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การนอนผิดเวลา เอาแค่เรื่องนอนดึก ถ้าคุณนอนดึก อาการที่ตามมาก็จะคล้ายๆ ออฟฟิศซินโดรม มึนหัว เช้ามาไม่ค่อยมีแรง อ่อนเพลียเรื้อรัง อีกอันหนึ่งที่เจอเยอะๆ ในยุคปัจจุบันคือไม่ทานข้าวเช้า ซึ่งจะทำให้เลือดไม่ค่อยมี สารอาหารน้อยลง พอเลือดไม่มีก็ปวดหัว เชื่อไหมว่าคำถามที่ผมต้องตอบเมื่อปีแรกกับปีนี้ก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่า เป็นคนกลุ่มใหม่เท่านั้นเอง”

ปรับรูปแบบชีวิต พิชิตโรค

“จริงๆ การดูแลตัวเองไม่ยากและเป็นเรื่องพื้นฐานจริงๆ นะ ไล่จากการกินก่อน พยายามกินง่ายๆ อย่ากินตามกิเลส คุณจะเห็นว่าทุกวันนี้ คนบ้านเราจะมี 2 ประเภท คือแบบสุดโต่งที่กินแบบเลวร้ายไปเลยกับคนที่กินดีมากๆ ออร์แกนิกสุดขีด ผมว่ากลับมาที่ตรงกลางดีกว่า ก็คือ กินไม่ตามกิเลส กินไม่มากไป ไม่ใช่มื้อหนึ่งกินให้อิ่มไปเลย เอาให้มีความสุขที่สุด จริงๆ ไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้น ถ้ามนุษย์ทำแค่นี้ ก็ป่วยน้อยลงมากแล้ว”

“สำหรับการนอนก็ให้เป็นเวลา ถ้าเป็นสมัยก่อนก็ 3 ทุ่ม แต่ผมก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าคนเมือง เอาสักประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง หรือไม่ก็ 5 ทุ่ม กำลังดี ตื่นมาตี 5 มาเดินออกกำลังกายตอนเช้าๆ ส่วนการออกกำลังกายก็เหมือนกัน อย่าสุดโต่ง ไม่ใช่ว่าคนไม่ออกก็ไม่ออกเลย แต่พอออกก็ออกแบบจริงจัง ต้องปั้นกล้าม ไม่จำเป็นต้องขนาดนั้น เป้าหมายสำคัญของการออกกำลังกาย คือการที่ทำให้เลือดลมหมุนเวียนและเพื่อสร้างความกล้าหาญในจิตใจ เช่น คุณบอกว่า ฉันต้องตื่นตี 5 เพื่อมาเดินออกกำลังกายประมาณสัก 30 นาที คุณว่าต้องใช้ความกล้าหาญไหม มนุษย์เราพอได้ออกกำลังกายทุกวัน เราจะเกิดความกล้า หมายความว่าคุณจะเริ่มรู้สึกว่าฉันป็นคนที่ดูแลร่างกายตัวเองได้ ฉะนั้น การออกกำลังกายคือความรับผิดชอบ คนที่ทำเรื่องนี้ได้ดีคือต่างชาตินะ ประเทศญี่ปุ่น สิ่งคโปร์ เขาบอกว่าการออกกำลังกายคือหน้าที่คุณ ไม่ใช่แฟชั่น”

“อันที่สี่คือการทำใจของเราให้สงบ นั่นคือการทำสมาธิ การสวดมนต์ หรือว่ากิจกรรมใดๆ ในเชิงศาสนาของท่าน ข้อนี้สำคัญนะ เพราะว่าถ้าเราหาความสุขทางใจไม่เป็น เราจะวิ่งหาความสุขทางกายแบบมหาศาลเลย ทั้งหาเงินหาทอง มีกิ๊ก กินให้อร่อยที่สุด ไปเที่ยวในที่สุดๆ ไปเลย แต่พอมนุษย์เรามีความสุขทางใจเป็นนะ เราจะไม่เวอร์ ไม่อยากได้อยากมีจนเกินไป ถ้าเรามีความสุขทางใจเราจะจบ ฉะนั้น สี่หัวข้อเอง กินให้ดี นอนให้ดี ออกกำลังกายให้มีเป้าหมายที่ดี แล้วก็หาความสุขทางใจให้เป็น นี่จะนำไปสู่มีความสุขสูงสุดในชีวิตได้แล้ว”

ความท้าทายสร้างความตระหนักเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

“อย่างที่บอก สิ่งที่เป็นปัญหาและผมยังแก้ไม่ตก ก็คือปัญหาในการทำคลินิกที่ยิ่งทำคนไข้ก็ยิ่งมามากขึ้น ผมยังหาวิธีการจัดการกับเรื่องนี้ไม่สำเร็จสักที ถามว่าอยากทำไหม ผมก็กำลังจะหาวิธีการทำต่อไปนะ เพราะผมอยากแก้ที่ต้นเหตุมากกว่า อีกเรื่องก็คือการสื่อสารผ่านช่องยูทูป คือก่อนหน้านี้ คนไม่สนใจ วันนี้คนสนใจ พอคนสนใจเขาก็มีการถามเข้ามาเยอะ ก็จะมีเรื่องที่ต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรดีให้รองรับคนกลุ่มนี้ จะทำเป็นกิจกรรมไหม สร้างทีมไหม ทีมที่ไม่ต้องเสียเงิน ผมหมายถึงว่าอาจจะต้องสร้างทีมภายนอกที่เขาสามารถช่วยผมในเรื่องการที่จะตอบคำถาม เป็นที่พึ่งทางใจให้เขาได้ และให้เขามีสุขภาพที่ดีขึ้น ตอนนี้กำลังอยู่ในกระบวนการอยู่”

หมอที่ดีที่สุดก็คือตัวเราเอง

“ในความคิดผม ถ้าเราไม่ได้เป็นหมอให้ตัวเอง ค่าใช้จ่ายเราจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันเลย สมมติว่าวันนี้คุณไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่นอนหลับให้ดี ไม่กินให้ดี ในวันนี้อาจจะยังไม่เป็นไร แต่บวกไปสัก 15 ปี คุณจะเริ่มรู้สึกละว่าไม่น่าเลย ทำไมเราไม่ทำตั้งแต่ 15 ปี ที่แล้ว ทำไมฉันไม่ออกกำลังกาย ดูสิ วันนี้ปวดเข่าไปหมด กล้ามเนื้อขาไม่มีเลย แขนห้อย แต่ถ้าคุณเป็นหมอให้กับตัวเอง เราจะเริ่มมี mindset แล้วว่าฉันจะต้องทำทุกมื้อของฉันให้ดี ทำทุกวันของฉันให้โอเค ผมว่าทำไปเรื่อยๆ สำคัญกว่าไปหาหมอเก่งๆ นะคุณ แทนที่เราจะมานั่งเมมชื่อเมมเบอร์คุณหมอเก่งๆ เราลองมาเริ่มที่ตัวเองว่า เช้าวันนี้ เราจะไปเดินออกกำลังกายสัก 20 นาที กลับมาเรากินอาหารที่ไม่มีของทอดมากนัก พอชีวิตผ่านไป 20 ปี คุณก็ยังมีสุขภาพไม่แย่มาก อาจะป่วยตามวัย ชราตามวัย ฉะนั้น หมายความว่า ถ้าทุกคนเป็นหมอให้กับตัวเอง ค่าใช้จ่ายในชีวิตคุณจะลดลง พอค่าใช้จ่ายในชีวิตคุณลดลง ชีวิตคุณก็ไม่ต้องหาเงินเยอะมาก คุณก็ไม่ต้องหัวปั่นเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นทุกวัน ต้องเก็บเงินทำประกันชีวิต ปีหนึ่งสักห้าหมื่น ซึ่งถ้าคุณแข็งแรงคุณอาจจะจ่ายแค่หมื่นห้า คุณก็ไม่ต้องเครียดกับการหาเงินละ นี่แค่คุณคนเดียวนะ แต่ถ้าทั้งครอบครัว ลูก สามี ด้วย ดังนั้น ถ้าคนในครอบครัวของคุณดูแลตัวเองได้ ก็จะเป็นหลักประกันที่ใหญ่มากในครอบครัวว่า หนึ่งคุณไม่ต้องวิ่งหาเงินเยอะ ถ้าไม่ต้องวิ่งหาเงินเยอะ คุณก็มีเงินไปเที่ยว มีความสุขกับชีวิต มีความสุขกับคุณพ่อ-คุณแม่คุณ มีเวลาให้กันและกัน ปลายทางก็เกิดความสุข ซึ่งความสุขประเภทนี้จะทำให้ตัวเองและประเทศเราไม่เหนื่อย อย่าทำให้ตัวเองเสียนิสัย มาเป็นหมอให้ตัวเองเพื่อให้เป็นหลักประกันที่ดีที่สุด ที่ไม่ต้องใช้เงิน แต่เลือกปรับที่วิถีในตัวเราแทน”

ผลลัพธ์ของการให้ คือความรู้ที่ได้รับและความสุขของคนไข้

“ผมคิดว่าสิ่งที่ได้มากที่สุดน่าจะเป็นความรู้ พอเราต้องทำอะไรที่มีความรับผิดชอบสูงๆ อย่างเรื่องสุขภาพแบบนี้ เราต้องมีความรับผิดชอบด้านความรู้เราด้วย ไม่ใช่พูดส่งๆ ไป นี่คือความรู้ที่เราต้องขวนขวายหามา สองผมได้ความรู้จากคนไข้ที่เดินเข้ามาหาและถามเข้ามา เพราะเมื่อคุณต้องนั่งตอบคำถามเยอะมาก คุณก็จะมีความรู้มากขึ้นตามมา ซึ่งเวลาเราเห็นคนไข้สามารถดูแลตัวเองได้นี่คือสุขสุดๆ ละว่าเขาสามารถเป็นหัวหน้าครอบครัวได้ เขาสามารถดูแลคุณพ่อคุณแม่ได้ หรือจากที่เคยจ่ายเงินเดือนหลายสตางค์กับการรักษาพยาบาล เช่น ค่ารักษาจากเดือนละ 5,000 บาท ถ้าเขาดูแลตัวเองได้ เงินที่ต้องเสียต่อปี เขาสามารถพาที่บ้านไปเที่ยวได้เลยนะ และผมก็อยากจ่ายความสุขแบบนี้ให้ครอบครัวที่เขามีความเครียดในการหาเงินเพื่อดูแลสุขภาพ ซึ่งถ้าเราช่วยเขาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เขาจะมีความสุขทางใจขึ้นเยอะ โอกาสที่คนจะเครียด ฆ่าตัวตาย มีความทุกข์ใจจะลดลงตามไปด้วย และผมก็อยากให้คนมีความสุขทางใจแบบนี้มากขึ้น นี่คือ passion ของผม ฉะนั้น สิ่งที่ผมทำ ผมไม่ได้ขอแค่สุขภาพดี แต่อยากให้มีความสุข ความสุขโดยภาพรวมของคนไข้ก็คือความสุขของผม ไม่รู้เวอร์ไปป่าวนะ (หัวเราะ)”

การดูแลสุขภาพเป็นหน้าที่ของทุกคน

“เป้าหมายที่ผมอยากทำก็คือ ภายใน 15-20 ปี ผมอยากจะให้คนรู้สึกว่าการดูแลสุขภาพคือหน้าที่คุณ ถ้าอยู่ดีๆ มีใครเดินเข้ามาในคลินิกผมหรือว่าอยู่ในเว็บไซต์ ในเฟซบุ๊ค แล้วมาบอกว่า “หนูดูแลสุขภาพด้วยวิธีนี้ แล้วดีขึ้นอย่างนี้แล้วนะ” ผมจะโคตรมีความสุขเลย แต่เชื่อไหมว่า ณ วันนี้มีแค่ 1% เอง 100 คน อาจจะมีแค่คนเดียวที่พิมพ์แบบนี้ แต่อีก 99% คือการถาม ผมคาดหวังว่าวันหนึ่ง จะ… สัก 50% ที่สามารถดูแลตัวเองได้ ผมจะมีความสุขมากเลย เพราะนี่คือของจริง ยิ่งกว่าได้คำชมอีก”





ภาพ: Zuphachai Laokunrak, www.thearokaya.co.th
อ้างอิง: www.thearokaya.co.th

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles