‘น.พ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา’ นวดดัดจัดสรีระกับวิสาหกิจเพื่อชุมชน SHE

มีคนเคยกล่าวว่า “การให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการให้โอกาสที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้อื่นให้ดีขึ้นได้ และจะยิ่งใหญ่มากไปอีกหากผู้รับเห็นคุณค่าของโอกาสนั้นและตั้งใจทําในสิ่งที่ดียิ่งขึ้นไป”

วิสาหกิจเพื่อชุมชนนามว่า ‘SHE (Social Health Enterprise)’ แห่งนี้ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งแห่งการให้โอกาส ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย คุณหมอพูลชัย จิตอนันตวิทยา กับความตั้งใจแรกเริ่มที่เพียงแค่อยากให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการยืดกล้ามเนื้อข้อต่อตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ผสานการยืดเหยียดและกดจุดคลายกล้ามเนื้อ แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกลับยิ่งใหญ่กว่านั้น เพราะ SHE ยังให้ผลต่อเนื่องไปสู่การสร้างการยอมรับ สร้างโอกาส ตลอดจนความเคารพและเห็นคุณค่าในตัวเองของผู้เข้าร่วมโครงการ ทั้งสตรีที่เคยต้องโทษให้กลับมายืนหยัดได้อย่างมั่นคง รวมไปถึงเด็กๆ บนดอยที่สามารถเลี้ยงชีพของเขาและครอบครัวให้อยู่ดีกินดี

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่คุณหมอพูลชัยเล่าสู่กันฟัง พร้อมๆ ไปกับการเปิดโอกาสให้เราทดลองสิ่งที่คุณหมอเรียกว่า Human Maintenance Service ผ่านการดัดจัดสรีระนั้น ทำให้เราเห็นความประโยชน์ของมันด้วยตัวเอง รวมไปถึงความจริงจัง จริงใจ และมุ่งมั่นของคุณหมอ โดยที่เราจะส่งต่อเรื่องราวดีๆ ที่ว่าให้ยังคงอยู่ผ่านบทสัมภาษณ์ฉบับนี้

วิสาหกิจเพื่อชุมชนแก้ปัญหาความเจ็บป่วยเรื้อรังในสังคมเมือง

“ปัญหาทางสังคมที่ผมเลือกเป็นปัญหาของคนเมืองที่เจ็บป่วยเรื้อรังโดยไม่รู้ตัวจากการทำงาน การใช้ชีวิต การขับรถ รถติด ซึ่งเรียกว่า workplace stress ในฐานะที่ผมเป็นอายุรแพทย์โรคหัวใจ มีคนที่มาด้วยอาการคล้ายโรคหัวใจ เหนื่อยง่าย ความดันขึ้น หัวใจเต้นแรง ปวดศรีษะ กลางคืนนอนไม่หลับ เดินนิดหน่อยก็เหนื่อย แต่ว่าเมื่อตรวจร่างกายแล้ว พบว่าเขาไม่ได้เป็นโรคหัวใจ แต่เป็นอาการกล้ามเนื้อตึง แข็ง ค้างไปทั้งตัวเลย ผมเองเคยรักษาเขาด้วยวิธีการเหมือนหมอทั่วไป เป็นความดันให้ยาความดัน ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ ให้ยานอนหลับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เขาไม่สดชื่นไม่กระฉับกระเฉง เพราะว่ายาไปทำหน้าที่บล็อค ซึ่งอาการ workplace stress ถ้าเปรียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เหมือนรถคันหนึ่งที่ต้องแบกน้ำหนักเยอะๆ แล้วเราแก้ไขด้วยการเติมสารเร่งเครื่องเพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเครื่องยนต์พัง ขณะที่สิ่งที่ถูกต้องก็คือการให้รถคันนั้นบรรทุกตามน้ำหนักที่เขาออกแบบมา ดังนั้น ผมจึงค้นหาวิธีในการลดโหลดของกล้ามเนื้อที่ตึงในร่างกาย โดยเรียกกระบวนการนี้ว่า ‘ดัดจัดสรีระ’ ซึ่งเมื่อตอนเริ่มต้น ผมเทรนให้กับกลุ่มแพทย์แผนไทย 7 คน แล้วใช้ที่นี่เป็นพื้นที่ในการพัฒนากระบวนการอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกระบวนการนี้สั้นลง”

ฝึกอาชีพ สร้างโอกาสให้ผู้ต้องคดีในเรือนจำหญิง

“การฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องคดีในเรือนจำเกิดขึ้นตอนที่ผมมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมเรือนจำหญิงที่ธัญบุรี เมื่อไปก็เห็นว่าเรามีผู้หญิงอยู่ในเรือนจำตั้ง 40,000 คน แล้วผู้หญิงเหล่านี้ถูกตีตราว่าเป็นคนขี้คุก เมื่อออกมาแล้วก็ไม่สามารถหางานปกติทำได้ ส่วนใหญ่ทำให้พวกเขาต้องวนเวียนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ ด้วยแนวคิดที่ว่า เรามีอาชีพที่ดีอยู่ในมือของเรา เรานำเอาอาชีพที่ดีไปให้เขาได้ไหม เพราะจากประสบการณ์ คนที่เคยได้รับการดัดจัดสรีระจะรู้สึกขอบคุณ ขอบใจ ใน setting แบบนี้ ผมเลยลองไปคุยกับทางเรือนจำ แล้วก็ทดลองสอน สอนแล้วก็รับมาอยู่ด้วย โดยเวลารับมาอยู่ด้วย เราต้องเข้าใจบริบทของเขาว่าถ้าเขากลับไปที่บ้าน ก็จะเจอกับเครือข่ายยาเสพติด ทำให้โอกาสที่กลับไปสู่เครือข่ายแบบเดิมมีสูง เราก็เลยตั้งที่นี่ให้เป็นบ้านกึ่งวิถีรับเขาเข้ามาอุปการะ มีที่พัก ที่กิน ที่นอน หางานให้ มีเงินค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ซึ่งงานก็เจริญเติบโตได้ดี แต่ข้อจำกัดของการเทรนในเรือนจำก็คือ เราจะไม่ทราบกำหนดวันเวลาที่พวกเขาจะได้รับการปล่อยตัว และบ่อยครั้ง เมื่อเราไม่ทราบกำหนดวันและไม่ได้ไปรับ ญาติจะมารับหรือเขากลับไปที่บ้าน แป๊บเดียวเขาก็กลับเข้าไปสู่วงจรเดิม ด้วยข้อจำกัดตรงนั้น ทำให้เรา scaling งานของเราได้ลำบากพอสมควร”

สานต่อกับการกระจายความรู้สู่เด็กดอย

“ตอนนั้น ประจวบเหมาะกับพระบรมราโชบายของในหลวง รัชกาลที่ 10 ในเรื่องการศึกษา ว่าพระองค์มีพระประสงค์อยากให้เด็กๆ เรียนไปแล้วมีงานทำ มีคุณธรรมและศีลธรรม รู้จักตอบแทนพระคุณแผ่นดิน ซึ่งอาจารย์เกษม วัฒนชัยท่านเป็นอาจารย์ที่สอนผมและเป็นองคมนตรี เมื่อท่านเผยแพร่เรื่องนี้ขึ้นมา ผมก็เลยนำไปคุยกับผู้ว่าฯ ที่พิษณุโลกเพราะว่าสนิทกัน ท่านก็เลยให้ลงนามความร่วมมือร่วมกับโรงเรียนชาติตระการวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนของเด็กดอย ถามว่าทำต้องไปเลือกเด็กดอย ก็เพราะว่าในช่วงนั้น ผมทำงานกับทางโครงการพัฒนาดอยตุงด้วย ซึ่งโครงการนี้สร้างแรงบันดาลใจให้ผมเรื่องหนึ่งก็คือ ถ้าเราทำให้คนที่อยู่กับป่าได้ เขาจะมีรายได้พอเพียง มีรายได้จากหลายทาง ไม่ได้มีรายได้แค่จากพืชไร่ที่จะต้องรอและถูกกลไกการตลาดบิดเบือนทำให้ต้องเป็นหนี้เป็นสินต่อเนื่อง พวกเขาจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ซึ่งโรงเรียนชาติตระการวิทยา ลูกศิษย์ส่วนใหญ่จะเป็นชาวม้งที่อยู่บนภูเขาแถบนั้นลงมาเรียนกัน ซึ่งเมื่อเขาจบ ม.3 บางคนก็ไม่ได้เรียนต่อ เพราะว่าพ่อแม่ต้องการให้ช่วยกันทำงานที่ไร่ พอจบ ม. 6 ถ้าเขาไม่ได้เรียนดีหรือไม่ได้ทุน พ่อแม่ก็จะให้ไปทำงานในไร่อีก ไปแต่งงานแล้วก็มีลูก สาเหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าวงจรหนี้สินของพ่อแม่ไม่สามารถทำให้พ่อแม่เขามีเครดิตพอที่จะไปกู้ ก.ย.ส. ได้ คือตัวพ่อแม่ก็ยากจนจากหนี้ทางการเกษตร แล้วที่ดินที่มีก็ไม่ได้เป็นที่ดินจากเอกสารสิทธิ์ ไม่ได้เป็นโฉนด ไม่ได้เป็น นส.3 เป็นแค่รัฐบาลยอมให้ใช้พื้นที่เพื่ออยู่อาศัย เมื่อไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันใดๆ ทั้งสิ้น ก็เลยไม่สามารถเข้าสู่ระบบเงินกู้ได้เช่นกัน ถ้าจะทำก็ต้องเป็นเงินกู้นอกระบบ แล้วถ้ากู้ยืมเพื่อการศึกษา เราก็รู้อยู่นะครับว่าเด็กพอกู้ยืมมาแล้ว บางสภาพแวดล้อมของการเรียนในเมืองก็ทำให้เด็กเดินไม่ตรงทาง กลายเป็นหนี้เสียของครอบครัวไป ลูกลงมาแล้วแต่งงานไปอยู่กับคนอื่น หายไปเลยก็มี เราไปคุยปัญหาสังคมเหล่านี้กับทางผู้นำชุมชน เขาบอกว่าเขาอยากให้ลูกหลานเขาลงมาทำงานกันเป็นกลุ่ม ช่วยดูแลกัน แต่เขาไม่มีต้นทุนนะที่จะส่งลูกเรียน ถ้าผมช่วยสอนให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รับลูกหลานเขาลงมาทำงาน เขาก็จะยินดี เริ่มต้นเราพาเด็กมา 2 คน แล้วก็เอามาเพิ่มอีก 3 คน โดยทั้ง 5 คน เขาโตเกิน 12 แล้ว เรื่องความแข็งแกร่งทางร่างกายของเขาจะมีโดยธรรมชาติ เพราะเขาต้องช่วยพ่อแม่ตั้งแต่อายุยังไม่ 5 ขวบ ในการทำไร่ ทำข้าว ทำทุกอย่างในครอบครัว ไม่ได้เป็นเด็กเหมือนเด็กพื้นราบ ซึ่งเมื่อเราให้เขามาฝึกการดัดจัดสริระ จึงได้บุคลากรที่มีประสิทธิภาพดี”

‘ดัด จัด สรีระ’ รักษาทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในองค์กร

“ผมได้คิดค้นท่าการนวดที่ทำให้เหลือ 10 นาที โดยเรียกว่า ‘Human Maintenance Service’ ซึ่งการจะทำให้องค์กรสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ คนในองค์กรต้องมีสุขภาพที่ดีก่อน เพื่อให้เขามีสมรรถนะที่ดี ถ้าองค์กรไหนพนักงานเปลี่ยนเรื่อยๆ บริษัทก็จะไม่ได้คะแนน แล้วนักลงทุนในปัจจุบันเขาจะดูนะว่าบริษัทที่ดูแลพนักงานดี พนักงานทุ่มเทให้กับองค์กร บริษัทนั้นน่าจะเจริญเติบโตได้ดี เขาก็จะซื้อหุ้นบริษัทมากกว่าบริษัทที่ไม่ได้ทำเรื่องเกี่ยวกับการดูแลพนักงานให้ดี นี่ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย แต่เป็นกันทั่วโลก”

“ตอนนี้ องค์กรเอกชนให้ความสนใจ ซึ่งเราต้อง scale up โดยที่เรามีกลุ่มเป้าหมายหลักๆ ร่วมกับทางกระทรวงแรงงานก็คือพื้นที่ EEC ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเป็นสิทธิ์ประกันสังคม ตอนนี้เรารอเสนอให้บอร์ดประกันสังคมใหญ่พิจารณาเพื่อรอให้ประกาศเป็นทางการ แต่ระหว่างนี้ เขามีข้อแม้ว่าเราต้องมีกำลังคนให้มากพอ ผมก็เลยขึ้นไปเทรนนิ่ง เด็กๆ และอีกส่วนหนึ่งเราก็ยังไม่ได้ทิ้งกลุ่มผู้ต้องโทษ ซึ่งผมเองก็มีโอกาสเข้าไปเป็นคณะกรรมการกรรมธิการร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ใหม่ ว่าให้มีบริบทของภาคเอกชนเข้าไปเตรียมความพร้อมก่อนการปล่อยตัว เพราะตอนนี้ ทักษะที่เขาสอนอยู่ในเรือนจำยังเป็นอาชีพเก่าที่โลกภายนอกไม่ทำกันแล้ว พอออกมาก็หางานทำข้างนอกไม่ได้ ไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ แต่ด้วยทักษะการดัดจัดสรีระพิสูจน์แล้วว่า ถ้าออกมาและอยู่รวมกลุ่มกับเราในการเป็นส่วนหนึ่งของ social enterprise เราจะสามารถทำให้คุณเลี้ยงดูครอบครัวคุณได้ วันนี้เราเริ่มทำโครงการเตรียมพร้อมก่อนปล่อยรุ่นละ 200 คน ปีะละ 4-5 รุ่น เพื่อจะรองรับพื้นที่ EEC โดยเรื่องนี้เราเข้าไปพร้อมกับกระทรวงแรงงานที่ต้องการเห็นคนทำงานมีความสุข ปลอดโรค มีความปลอดภัย และกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการเห็นระบบอุตสาหกรรมมีโครงสร้างพื้นฐานที่เรียกว่า Human Maintenance Service ซึ่งยังไม่เคยมีในประเทศไหน โดยโปรเจ็กต์นี้จะเริ่มในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 นี้”

ฝึกทักษะเยาวชน ไม่ใช่แค่สร้างอาชีพ แต่ยังคืนป่าสู่อ้อมกอดธรรมชาติ

“จนถึงปัจจุบัน นอกจากเราจะฝึกคนในเรือนจำอยู่ที่ประมาณ 800 แล้ว สำหรับเด็กๆ ที่ต้องมีอายุขั้นต่ำตามที่กระทรวงแรงงานกำหนดคืออายุ 15 ปี อยู่ที่ประมาณ 80 คน แต่เด็กๆ บนดอย ตอนนี้กำลังจะอัพขึ้นเร็วมาก เนื่องจากว่า เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้มาเห็นผลลัพธ์เรื่องเด็กๆ มีงานทำ เขาก็รับรู้ว่าเด็กๆ มีความสามารถ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ผมกำลังต่อเชื่อมเพื่อทำให้ทุกคนรู้ว่าเด็กไทยมีความสามารถมากนะ เขาอาจจะไม่จบมหาวิทยาลัย แต่เขาสามารถทำงานเลี้ยงครอบครัวเป็นสัมมาชีพได้ และเมื่อเขามีสัมมาชีพแล้ว สิ่งที่เราได้คืนตามมาด้วยก็คือป่า ซึ่งวิธีนี้ผมเจริญรอยตามแนวทางการแก้ไขปัญหาของสมเด็จย่าที่พระองค์ทรงรับสั่งว่า อย่านั่งรถไปปลูกป่า ต้องทำให้คนอยู่กับป่า ให้เขาเห็นว่าป่ามีประโยชน์อย่างไร แล้วเขาจะรักษาป่าไว้ ซึ่งเราต้องการป่าต้นน้ำแค่ 60% อีก 20 % เป็นป่าเศรษฐกิจ อีก 10% เป็นป่าที่เอาพืชสวนแทรกเข้าไปได้ แล้วก็ที่เหลือก็เป็นพื้นที่ทำกิน อย่าไปบอกเขาบอกว่า ตรงนี้ทั้ง 100% เป็นอุทยานแห่งชาติ คุณต้องออกไปจากพื้นที่นี้ เพราะเมื่อคนธรรมดาออกไปจากพื้นที่นี้ นายทุนก็จะเข้ามา การที่เราจะป้องกันนายทุนไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ เราต้องให้คนในพื้นที่ยังอยู่กับพื้นที่ของเขา และที่สำคัญนอกจากคนแล้ว ต้องมีวัฒนธรรมของพวกเขาซึ่งยึดโยงหลักชีวิตของพวกเขาไว้ด้วยกันด้วย”

อุปสรรคที่ต้องข้ามผ่านคือ ‘ค่านิยม’ ที่มีมาแต่เดิม

“จริงๆ ที่ผมเจอก็คือเรื่องค่านิยมดั้งเดิมของคนในเรือนจำที่ฉันต้องมีแฟน ฉันต้องมีนั่นมีนี่ แล้วถึงจะรู้สึกว่าชีวิตฉันมีความสุข หรือค่านิยมของเด็กก็จะบอกว่าไม่เคยต้องทำงานต่อเนื่อง ต้องมาทำงาน ต้องตื่นแต่เช้า ต้องมารับผิดชอบ รู้สึกว่าไม่คุ้นเคย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องอาศัยการสร้างวินัยเพื่อที่จะเอาชนะทั้งค่านิยมและความไม่คุ้นเคย เมื่อเขาคุ้นเคย เขาก็ทำออกมาได้ดี ซึ่งเราต้องค่อยๆ สร้างวินัยให้เขาทีละนิด เพราะฉะนั้น นอกจากจะเทรนทักษะความรู้เรื่องการนวดแล้ว เราก็ต้องเทรนในแง่ของนิสัย จิตใจไปด้วย โดยส่วนใหญ่จะใช้ group conversation ทุกๆ สัปดาห์ เพื่อกลับมานั่งคุยกันว่า สัปดาห์นี้มีเรื่องอะไรที่พวกเราทำแล้วรู้สึกว่าเราไม่พอใจในผลงานของเราบ้าง เราเห็นพฤติกรรมอะไรที่ไม่เหมาะสมบ้าง ก็จะทำเป็น peer discussion กัน ทำให้เขาเองค่อยๆ เกิดการตระหนักรู้ แล้วก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะอยู่ร่วมกันกับเพื่อนฝูง อยู่ร่วมกันกับลูกค้า พร้อมๆ กับทักษะการให้บริการและความปลอดภัยเพื่อให้ลูกค้าเกิดความสบายใจในการนวดรักษา”

ความสำเร็จจะเกิดขึ้นเมื่อสังคมให้โอกาสกันและกัน

คนส่วนหนึ่งตีค่าความสำเร็จผ่านชื่อเสียง เงินทอง การมีบ้าน มีรถ ทว่าความสำเร็จในชีวิตการทำงานของคุณหมอคือการยอมรับและให้โอกาสกัน “ความสำเร็จที่ผมคิดว่าจับต้องได้ก็คือ การที่ผู้คนเริ่มยอมรับผู้ต้องโทษกับคนที่เคยก้าวพลาด จนเกิดวัฒธรรมการให้โอกาส สองก็คือ เรื่องคนหิวป่าหาย กับคนบนดอย ถ้าครอบครัวพวกเขามีทางเลือก คงไม่มีใครอยากทำลายป่า ซึ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เมื่อเราให้โอกาสกัน”

ความเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นคือ mindset ที่คนเคารพและเห็นคุณค่าในตัวเอง

“สิ่งที่เห็นคือพวกเขารู้ว่าตัวเขามีค่า เพราะเยาวชนที่พยายามหาอัตลักษณ์ของตัวเอง ต้องแต่งตัวแบบเกริล์กรุ๊ปวงนั้นนะ ต้องแร็พโย่วเหมือนคนนี้ แต่วันนี้เด็กเหล่านี้เขาก้าวข้ามเรื่องพวกนี้มาแล้ว พวกเขาบอกว่าเขาหาเงินได้ เขาทำให้พ่อแม่มีความสุข เขากลับบ้านเขานวดให้พ่อแม่เขา ให้คนข้างบ้านเขา แล้วทุกคนก็มีความสุข นี่คือสิ่งที่พวกเขาได้ เขารู้สึกว่าเขามีตัวตนในชุมชน ได้รับการยอมรับ คนในโรงเรียนยอมรับ คุณครูเจอหน้า คุณครูก็บอกว่า ชั่วโมงนั้นว่างไหม เธอมานวดให้ครูหน่อย และนี่คือสิ่งที่เยาวชนไทยเราต้องการ คือการทำให้คนยอมรับ การยอมรับในคุณค่าที่เขาเป็น”

“สำหรับคนที่เคยต้องคดีเอง ก็เป็นไปในแบบเดียวกัน เพราะว่าคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น เกิดมาในสังคมที่เต็มไปด้วยเสียงด่าทอประจำวัน การที่ต้องมาทำงานแล้วได้ยินเสียงชื่นชม ได้รับการปฏิบัติด้วยความเท่าเทียมกันกับคนอื่น พวกเขาก็จะเปลี่ยนทัศนคติว่าฉันไม่ใช่กากเดนของสังคม ฉันแค่เคยก้าวพลาด แล้ววันนี้ฉันได้ก้าวมาอยู่ในจุดที่ถูกต้องของชีวิตแล้ว”

พลังใจที่ได้จากการสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น

“สิ่งที่เป็นกำลังใจ เป็นความสุขของทุกๆ วันนี้ คือการที่มีคนมาบอกว่าผมเป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา หรือการเจอเราแล้วเขามองเห็นโอกาส ทั้งในแง่ของการได้รับความช่วยเหลือเพื่อให้เขามีอาชีพที่น่าภาคภูมิใจ รวมทั้งการเห็นโอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการสร้างอาชีพผ่านองค์กรของเราด้วย”







ภาพ: Zuphachai Laokunrak, Facebook: SHE Social Health Enterprise
อ้างอิง: Facebook: SHE Social Health Enterprise

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles