ญาณี รัชต์บริรักษ์ กับ 19 ปีบนเส้นทางการสร้างสุขภาวะทางปัญญาให้คนไทย

ในยุคสมัยที่คนในสังคมต่างต้องเผชิญกับแรงกดดันและปัญหาที่ซับซ้อน หลากหลาย และรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การทำงาน การเรียนรู้และปรับตัวให้ทันท่วงทีท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การรับมือกับความไม่แน่นอนของปัจจัยด้านสังคม เศรษฐกิจ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสังคมออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทในแทบจะทุกด้านของชีวิต ได้นำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาวะของคนไทยในปัจจุบัน ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คือหนึ่งในหลายๆ องค์กรของบ้านเราที่ทำงานกันอย่างขะมักเขม้นเพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมสุขภาวะด้านต่างๆ ให้กับคนในประเทศไทยเรานี้ ‘ญาณี รัชต์บริรักษ์’ หรือ ‘พี่สู่’ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คือฟันเฟือสำคัญกับบทบาทของคนทำงานสร้างสุขจากภายใน โครงการที่เธอและสมาชิกในเครือข่ายภาคีร่วมกันขับเคลื่อนกว่า 50 โครงการต่อปี ได้ก่อกำเนิดเครือข่ายงานสุขภาวะทางปัญญาบนฐานการขับเคลื่อนงานอย่างกัลยาณมิตรที่มีเป้าหมายร่วมกัน จนกลายเป็นแรงสนับสนุนจากสังคมที่ช่วยให้คนมีความสุขจากภายในขึ้นได้ เรามาฟังเธอเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน รวมทั้งคำถามที่ว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอยังทำงานที่มีเป้าหมายคือคนอื่นไม่ใช่ตัวเธอเองตลอด 19 ปีที่ผ่านมากัน

สร้างกิเลสได้ ก็สร้างสาธารณประโยชน์ได้เช่นกัน

หลังจากการเรียนจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เอกการตลาด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่เริ่มต้นเส้นทางสายอาชีพกับงานด้านการตลาด อยู่ในแวดวง FMCG (Fast Moving Consumer Goods) หรือกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน สายงานที่จะใครๆ บอกว่าจะทำให้ชีวิตก้าวหน้าได้แบบก้าวกระโดด 

“หลังจากการทำงานในสาย FMCG มาพักใหญ่ๆ เราเกิดแรงบันดาลใจบางอย่างที่อยากจะเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานให้เป็นการทำงานที่ทางพุทธเรียกว่าเป็น ‘สัมมาอาชีวะ’ คือทำงานสร้างรายได้ ขณะเดียวกันก็สามารถหล่อเลี้ยงด้านในและทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นและสังคมด้วย แทนที่จะทำให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรือเพียงเพื่อผลกำไรและความสุขเฉพาะตัวเพียงอย่างเดียว ตอนนั้นเลยตระเวนวอล์กอินไปหว่านใบสมัครในองค์กรต่างๆ จนมีวันหนึ่ง เพื่อนอีเมลมาบอกว่ามีการรับสมัครงานด้านสื่อสารการตลาดที่ สสส. อยู่นะ หลังจากนั้นทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการการคัดเลือก ทำข้อเขียน สัมภาษณ์ จนได้เข้ามาทำงานที่นี่ ในช่วงแรกเราทำงานด้านงานสื่อสารการตลาด (Social Marketing) ทำแคมเปญต่างๆ ทั้งสเกลใหญ่และเล็กราวๆ 10-15 แคมเปญต่อปี เรียกว่ามีแคมเปญออกมาทุกเดือน อย่างเช่น ‘จน เครียด กินเหล้า’ ‘ให้เหล้าเท่ากับแช่ง’ ‘งดเหล้าเข้าพรรษา’ ‘งานต่อต้านควันบุหรี่มือสอง’ ใน 5 ปีแรกที่ทำที่ สสส. ก็จะทำงานด้านของงานสื่อสารการตลาดเหล่านี้ จนมาทำงานด้านการสร้างเสริมระบบนิเวศสื่อสุขภาวะและการสร้างเสริมสุขภาะทางปัญญากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ภายใต้สำนัก 11 ในปัจจุบัน

“อาจมีหลายคนมองว่างานสื่อสารการตลาดเป็นงานกระตุ้นหรือสร้างกิเลสให้คน แต่สำหรับเราเหรียญมี 2 ด้านเสมอ เรามองเห็นถึงประโยชน์ของการตลาดว่าสามารถใช้ประโยชน์เพื่อสังคมได้ ซึ่งด้วยประสบการณ์ที่เราทำงานด้านการตลาดมา จะมีพาร์ทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับงานสื่อสารการตลาด ซึ่งเราได้ใช้พาร์ทนั้นแหละมาทำการตลาดเพื่อสังคมอย่างในปัจจุบัน” 

บทบาทของสำนัก 11

“สำนัก 11 มีชื่อเต็มว่า ‘สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา’ ดูแลแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา นั่นหมายถึง เราทำงานในเรื่องการสร้างนิเวศสื่อที่เอื้อต่อการทำให้คนมีวิถีสุภาวะ สักเมื่อ 20 ปีก่อน สื่อหลักๆ คือโทรทัศน์และวิทยุ แต่ตอนนี้สื่อเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัลกันหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ฐานของคนรับสื่อจึงเปลี่ยนไปด้วย จากการเป็นผู้รับสื่อก็กลายเป็นผู้ใช้สื่อด้วย งานของเราคือจะทำอย่างไรให้นิเวศของการใช้สื่อตรงนี้สามารถเชื่อมโยงไปกับระบบ ทั้งช่องทางสื่อ เนื้อหา กลไก กติกา และนโยบายต่างๆ ที่จะเกื้อหนุนให้คนได้รับสื่อที่ดี และใช้สื่อที่เอื้อต่อการมีวิถีสุขภาวะดี ควบคู่กับงานสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งส่งเสริมให้ผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้เข้าถึงโอกาส ช่องทาง พื้นที่ และกระบวนการในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาด้านใน

ด้วยเป้าหมายหลักของ สสส. คือการมุ่งสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา โดยคำว่า ‘สุขภาวะ’ ประกอบด้วย 4 มิติ คือ สุขภาวะทางกาย จิต สังคม รวมถึงมิติของปัญญา ที่หมายถึงการมีศักยภาพในการเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น มีความสัมพันธ์ที่ดี เกิดจิตสำนึกใหม่ที่ตระหนักถึงความเชื่อมโยงตนเองกับสังคมและโลก 

“งานของเราคือการทำให้ผู้คนสามารถพัฒนาศักยภาพภายในให้มีความมั่นคง เข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น แล้วเชื่อมโยงตัวเองกับสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติซึ่งไม่ใช่ประโยชน์เพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะทำให้จิตเราใหญ่ขึ้นด้วย การทำจิตของมนุษย์ให้ขยายใหญ่ขึ้นก็เพื่อที่จะใช้ในการเกื้อกูลผู้อื่นได้ต่อไป” 

โครงการต้นแบบเพื่อสร้างเสริมระบบนิเวศสื่อสุขภาวะและสุขภาวะทางปัญญา

“ในหนึ่งปี เราทำโครงการประมาณ 40-45 โครงการ และยังมีโครงการย่อยๆ ที่เราเข้าไปสนับสนุนทางภาคียุทธศาสตร์ในพื้นที่ด้วย หนึ่งในงานที่อิมแพคกับคนหมู่มาก คือโครงการพัฒนานักสื่อสารสุขภาวะ ซึ่งเป็นโครงการที่คนทั่วไปจะได้รับการพัฒนาศักยภาพให้รู้เท่าทันสื่อ รู้จักใช้สื่อ เข้าใจการรับสื่อที่ถูกต้อง และปล่อยสื่อออกไปอย่างเกื้อหนุนต่อสุขภาพของผู้อื่นด้วย เราทำโครงการตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำงานกับชุมชนในพื้นที่ กับกลุ่มคนทุกวัย โดยจะเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนมากหน่อยเพื่อให้พวกเขาเป็นตัวกลางที่จะมาสื่อสารเรื่องราวของชุมชนโดยเชื่อมโยงกลับมาผ่านเรื่องของสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารเพื่อสุขภาพ กิจกรรมทางกาย หรืองานลดเหล้าลดบุหรี่ต่างๆ 

“เรื่องที่สองยังอยู่ในขั้นตอนการขับเคลื่อนอยู่ ซึ่งถ้าสำเร็จ เราคิดว่าจะส่งอิมแพคต่อสังคมมากทีเดียวค่ะ นั่นคือการขับเคลื่อนกฎหมายนโยบายคุ้มครองเด็กจากสื่อออนไลน์ กฎหมายที่สังคมไทยยังไม่มี ในประเทศไทยเรามีนโยบายคุ้มครองเด็ก มีกฎหมาย พรบ. คอมพิวเตอร์ แต่ยังไม่เท่าทันกับโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาอย่างในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น เวลาที่มีคดีล่วงละเมิด คดีที่เกี่ยวกับเพศ ไซเบอร์บูลลี่ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน หรือมีเด็กและเยาวชนเป็นเหยื่อ กฎหมายยังตามไม่ทัน นี่เป็นภารกิจที่พวกเรากำลังทำร่วมกับภาคีในการผลักดันให้ร่างกฎหมายนี้เท่าทันสถานการณ์มากขึ้น เราตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้สำเร็จค่ะ

“ในด้านงานสุขภาวะทางปัญญา ที่สสส.ร่วมขับเคลื่อนกับภาคีเครือข่ายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ก่อเกิดต้นแบบ พื้นที่ เครื่องมือและกลไกด้านการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา ทั้งในด้านของการส่งเสริมกระบวนการจิตอาสาเพื่อพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา อาทิ ธนาคารจิตอาสา ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา การส่งเสริมกระบวนการและพื้นที่แห่งการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) การส่งเสริมวิถีการอยู่ดีและตายดีผ่านโครงการชุมชนกรุณาและหลักสูตรวิชาชีวิต การพัฒนา Mindfulness ในกลุ่มคนและองค์กรผ่านเครื่องมือกระบวนการและพื้นที่ที่หลากหลาย และการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิชาการและงานวิจัยด้านสุขภาวะทางปัญญาเพื่อการขับเคลื่อนงานอย่างยั่งยืน รวมทั้งการสื่อสารงานด้านสุขภาวะทางปัญญาสู่สังคม”

สำหรับ ‘Soul Connect Fest มหกรรมพบเพื่อนใจ’ คือโครงการล่าสุดที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นโครงการที่เปิดพื้นที่เพื่อส่งต่อนวัตกรรมสร้างสุขภาวะทางปัญญา เสริมภูมิคุ้มกันใจให้กลับมาเชื่อมโยงกับชีวิตตัวเองและสร้างความสัมพันธ์ในสังคม โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สสส. ร่วมกับเครือข่ายภาคี สถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาควิชาการ องค์กรภาคสังคม  

“Soul Connect Fest ถือเป็นอีกโครงการต้นแบบที่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ที่ได้รับการพัฒนาได้เห็นคุณค่าของตัวเองและสามารถเชื่อมโยงตัวเองกลับไปที่สังคม ภารกิจของแผนนี้คือการเข้าไปสร้างช่องทาง กระบวนการ และพื้นที่ในการที่จะนำพาผู้คนเข้ามามีประสบการณ์ในการพัฒนาด้านในของเขา ภายในงานนี้จะประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นงานประชุมวิชาการเครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา และส่วนที่ 2 คือ Soul Connect Fest ซึ่งได้รวมกว่า 50 กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนได้เข้ามาชิมลอง ซึ่งคนที่มาร่วมอาจยังไม่บรรลุหรือตื่นรู้จากกิจกรรมตรงนั้นแบบทันที แต่เรียกว่าได้มาทดลอง เพื่อลองนำกลับไปใช้กับตัวเอง หรือบางคนที่สนใจจะทำอย่างต่อเนื่องก็สามารถต่อยอดเองได้ เช่น ‘กิจกรรมอิเคบานะ การจัดดอกไม้จัดใจ’ ที่ผู้เข้าร่วมสามารถไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ภาคีเครือข่ายซึ่งมีการจัดกิจกรรมนี้อยู่แล้วได้หลังจากงานจบ หรือกิจกรรมอย่าง ‘Life Count Down’ ซึ่งผู้เข้าร่วมจะหยิบกาชาปองขึ้นมาและมีข้อความบอกว่า เขาจะมีชีวิตอยู่ได้กี่วัน เป้าหมายของกิจกรรมนี้คือการทำให้ผู้เข้าร่วมได้ตระหนักรู้ว่าชีวิตเราต้องการสิ่งใดและสิ่งไหนเป็นสิ่งสำคัญ อะไรที่เรายังไม่ได้ทำ บางคนอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายในชีวิตประจำวันตื่น ทำงาน เดินทาง จนอาจไม่มีโอกาสได้เข้ามาตั้งคำถามกับคุณค่าของชีวิตของตัวเองอย่างจริงจัง นี่ก็เลยกลายเป็นโอกาสที่ทำให้ได้กลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง” 

ความหมายของชีวิตเพื่อการพัฒนาตัวเองและเกื้อกูลโลกใบนี้ 

“ตอนที่ลาออกมาจากบริษัทเอกชน คนรอบข้าง รวมถึงครอบครัว ตั้งคำถามกับเราว่า ‘ออกมาทำไมกัน ในเมื่ออยู่ที่บริษัทเดิมซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติก็ดีอยู่แล้ว รายได้ดี อนาคตไกล เห็นความสำเร็จแบบตรงหน้าได้เลย’ ถึงขนาดที่ครอบครัวของเราถามกันอยู่เป็นปีๆ ว่า เหนื่อยหรือยังกับการทำงานอยู่ที่นี่ จนเลิกถามไปแล้ว และปีนี้ที่เข้าปีที่ 19 ของเราที่ สสส. ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราอยู่ที่นี่ได้นานคงเป็นเพราะการทำงานในทุกๆ วันมาเติมเต็มมิติด้านในให้กับเรา จริงๆ ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าตัวเองจะทำงานอยู่ที่นี่ได้นานขนาดนี้ เพราะก่อนหน้า เราเปลี่ยนงานค่อนข้างบ่อย ลาออกไม่เท่าไหร่ก็จะมีคนไปชวนไปทำที่ใหม่แล้ว และเป็นอย่างนั้นเสมอ เลข 19 เป็นการตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจนว่าระหว่างทางที่ผ่านมาต้องมีความสุขบางอย่างที่หล่อเลี้ยงการทำงานของเรา

“จริงๆ ในเรื่องภายในหรือจิตใจของเรา คงเปลี่ยนไปตั้งแต่ตอนที่เราหางานในเชิงสังคมแล้วล่ะ และคงจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อีกโดยที่เราไม่รู้ตัว เมื่อมาทำงานในภาคสังคม เราไม่ได้มาคุยกันในห้องประชุมว่า ยอดขายหรือกำไรปีนี้จะต้องได้เท่าไหร่ เราจะได้โบนัสกี่เดือน แต่คำถามที่เกิดขึ้นในแต่ละวันคือเราจะทำอย่างไรให้เกิดงานดีๆ ที่ชุมชนนี้ ที่สังคมนี้ เป็นงานที่เราทำแล้วเกิดความปิติ เมื่อใดก็ตามที่งานของเราสร้างประโยชน์ให้สังคม ไม่ว่าจุดเล็กหรือจุดใหญ่ ทุกๆ ครั้ง มันทำให้หัวใจเราพองโตและอาจช่วยพัฒนาไปสู่การมีจิตใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ (ยิ้ม) เราคิดว่าการได้มาทำงานที่เป้าหมายออกไปนอกตัว เกื้อกูลคนอื่น เป็นสิ่งที่เรามั่นใจว่า เมื่ออยู่ปลายทางของชีวิตแล้วมองย้อนกลับมา เราจะไม่รู้สึกเสียใจแน่ๆ และคิดว่าตัวเองตัดสินใจถูกแล้วที่มาอยู่ในจุดนี้ ซึ่งท้ายที่สุดเราพบว่าประโยชน์วนกลับมาที่ตัวเราเองตรงที่เรามีโอกาสได้พัฒนาสุขภาวะทางปัญญาตัวเอง และได้รับความสุขและอิ่มเอมใจ”

สื่อสารคุณค่า ร่วมสร้างความหมาย เพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะกายใจสังคมและปัญญา 

“ในเรื่องชีวิตส่วนตัว เป้าหมายระยะยาวคือเราอยากพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะด้านสุขภาวะทางปัญญา/จิตวิญญาณของเราให้เข้มแข็งและมั่นคงขึ้น เรียกว่าอยากให้ภายในเราตื่นรู้มากขึ้น มีทั้ง Self-awareness (การตระหนักรู้ตัวเอง) และ Self-reflection (การสำรวจและสะท้อนตัวเอง) ที่จะทำให้เราเติบโตขึ้นในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้ ให้ตัวเราพึ่งพาตัวเองได้ แล้วเมื่อใดที่เราพึ่งพาตัวเองได้ เราจะมีหัวใจที่ไปเกื้อกูลคนอื่นได้ดีขึ้นด้วย 

“สำหรับเรื่องงาน เราอยากจะทำให้ทุกๆ โครงการทั้งในปัจจุบันและอนาคตประสบความสำเร็จ เพราะทันทีที่งานของเราไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ นั่นหมายถึงสังคมจะได้รับประโยชน์ทันที และนั่นจะนำไปสู่ความยั่งยืนในสังคมทั้งในแง่ของระบบนิเวศสื่อและสุขภาวะทางปัญญาด้วย 

“ส่วนอนาคตของสำนัก 11 ก็จะดำเนินไปเพื่อประโยชน์ของสังคมในการที่จะไปสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งมิติทางกาย ทางใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และจิตวิญญาณ ขณะเดียวกัน การบรรลุภารกิจกับเป้าหมายของงานยังหมายรวมไปถึงการพัฒนาสมาชิกในสำนักเองให้มีความเจริญงอกงามทางด้านใน เพราะฉะนั้น ในสำนัก 11 เราจะสร้างบรรยากาศและนิเวศแห่งการเกื้อกูลอยู่เสมอ และเราพยายามเปิดโอกาสและสนับสนุนให้บุคลากรได้เข้าไปมีประสบการณ์ตรงในงานสุขภาวะทางปัญญา เพราะอย่างที่บอก เมื่อใดที่เราได้เรียนรู้และเติบโตภายในได้อย่างดีแล้ว เราจะสามารถเป็นฟันเฟืองเพื่อสร้างและส่งต่อการเติบโตภายในให้กับสังคมต่อไปได้อย่างดีด้วยค่ะ”

ภาพ: เกตน์สิรี วงศ์วาร
ข้อมูลและภาพเพิ่มเติม: www.thaihealth.or.th, www.facebook.com/SoulConnectFest

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles