หากพูดถึงแหล่งค้าดอกไม้สดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ทุกคนคงนึกถึง ‘ปากคลองตลาด’ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ปากคลองตลาดนี้ได้รับการจัดอันดับแหล่งขายสินค้าเกษตรกรรมผักสด, ผลไม้, ดอกไม้สด เป็นอันดับ 4 ของโลก และยังเป็นอันดับ 3 ของโลกในตลาดการค้ากล้วยไม้ด้วย ซึ่งหากเป็นเมื่อก่อนเราก็จะเห็นแผงดอกไม้สดนานาพันธุ์วางกองกันเต็มพื้นที่ ทั้งด้านในตลาด อาคารหน้าร้าน และบนทางเท้า ในช่วงเวลาค่ำยามที่ร้านค้าประดับไฟ ดอกไม้หลากหลายก็จะแข่งกันเปล่งสีสันยั่วยวนผู้คนที่มีใจรักในดอกไม้ให้มาเลือกซื้อ และรวมถึงบรรดานักท่องเที่ยวให้มาเดินชมกันไม่ขาดสาย ทว่าหลังจาก กทม. จัดระเบียบแผงค้าบนทางเท้าแล้ว สีสันทั้งหลายก็สูญหายไปในพริบตา… และนี่คือกระบวนการสร้างสรรค์ด้วยศิลปะผนวกกับกิจกรรมเชิงปฏิสัมพันธ์ที่จะมาช่วยกระตุ้นหัวใจดึงความเป็นปากคลองฯ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หรืออย่างน้อยก็ให้ได้ระลึกถึงกันบ้างด้วยโครงการ ‘ปากคลอง Strike Back เดินหลงในดงดอก’
โครงการ ‘ปากคลอง Strike Back เดินหลงในดงดอก’ เป็นกิจกรรมผสมผสานทั้งการจัดแสดงภาพศิลปะพร้อมกับลูกเล่นอันหลากหลาย เชิญชวนผู้เข้าร่วมงานให้ได้สัมผัสกับความงดงามของพันธุ์ไม้และยังได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวปากคลอง นำความสดชื่นของชีวิตผู้คนและดอกไม้มาประทับบนรอยยิ้ม โดยมีด้วยกัน 4 ขั้นตอน คือ 1) ตามหาภาพถ่าย ‘มนุษย์ปากคลอง’ ซึ่งมีภาพถ่ายแนวป๊อบอาร์ทซ่อนไว้ตามผนังอาคาร 8 พื้นที่ 2) การเล่นเกมทายปัญหา Flower Quiz จากเพจ Humans of Flower Market เมื่อเล่นเสร็จจะได้รู้ว่า แต่ละคนเหมาะสมกับดอกไม้อะไร พร้อมกับได้รับแผนที่ออนไลน์ให้ออกผจญภัยค้นหาดอกไม้นั้น 3) Flower Tracking: Hide and Seek in Flower Market ตามหา AR Tracking สัญลักษณ์ดอกไม้พันธุ์เมื่อพบแล้วจะได้รับ interactive filter 4) Secret Flower Crown เมื่อเราซื้อดอกไม้แล้วถ่ายรูปส่งมาที่ inbox FB Page: Humans of Flower Market จะได้รับ interactive filter เป็นมงกุฎดอกไม้ลับเพื่อส่งต่อผ่านโลกออนไลน์ไปอวดเพื่อน
ความจริงก่อนหน้าที่จะเกิดโปรเจ็กต์นี้ ทีมงานเคยเข้ามาสำรวจพื้นที่และทำการวิจัยในระบบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมชุมชนมาแล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงภาคสนามในวิชาเรียนชั้นปริญญาโท ศศมน รัตนลังการ( นุ้ย) ผู้ถ่ายภาพ ‘มนุษย์ปากคลอง’ เล่าให้เราฟังว่า “บนถนนที่เราเห็นมีรูปแบบชีวิตที่หมุนเวียนกันตลอด 24 ชั่วโมง แม่ค้าผลัดกันใช้พื้นที่ และไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่ขายของใครคนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายชีวิตที่ทำมาหากินอยู่ร่วมกัน คือหากไม่มีแผงขายตรงนี้จะมีอีกหลายชีวิตที่ได้รับผลกระทบ อย่างพวงมาลัยดอกหนึ่งมีส่วนประกอบที่มาจากหลายแหล่งดอกมะลิ, ดอกรัก, ดอกบัว, ดอกบานไม่รู้โรย หรือดอกกุหลาบ ซึ่งล้วนมาจากหลายสวน หลายครอบครัว หลายชีวิต หรืออย่างริบบิ้นที่ใช้ประดับพวงมาลัยก็ได้มาจากชาวนาที่อยุธยาทำมาส่งในช่วงว่างจากการทำนา ยังมีแม่ค้าขายอาหารตามสั่งที่เดินส่งอาหารให้แม่ค้าตามแผงที่ต้องนั่งเฝ้าแผงทั้งวัน ยังมีหมอนวดที่หารายได้จากการนวดเป็นประจำและอีกหลายอาชีพ คือเป็นระบบนิเวศชุมชนที่มีตัวตนและพึ่งพากันตลอดเวลา…” ชีวิตที่ปากคลองนี้จึงซ่อนเรื่องราวที่มากด้วยความหมายอย่างที่คิดไม่ถึง
โปรเจ็กต์ ‘ปากคลอง Strike Back เดินหลงในดงดอก’ ริเริ่มโดย ผศ. ดร. สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาศิลปากร ผู้ซึ่งสนใจชุมชนนี้มาอย่างต่อเนื่อง และ ศศมน รัตนาลังการ (นุ้ย) ลูกศิษย์ในชั้นเรียนที่ได้มีโอกาสลงพื้นที่เข้าไปพูดคุยกับแม่ค้าจนเกิดความคุ้นเคย เกิดไอเดียสร้างสรรค์ถ่ายทอดเรื่องราวของปากคลองตลาดขึ้น รวมถึงนักออกแบบอย่าง สุภัทรชัย เชื่อธรรมสอน (หน่อไม้) ที่เข้ามาร่วมทำงานด้วยในภายหลัง จัดเป็นกิจกรรมของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร (Arch SU) ทำงานร่วมกับทีม FB Page: Humans of Flower Market และ Splendour Solis โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), กฎบัตรแห่งชาติ และกฎบัตรรัตนโกสินทร์ งานมีตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน – 11 ตุลาคม 63
“…ที่นี่ยังมีชาวต่างชาติ ทั้งฝรั่ง เขมร ลาว และพม่า เป็นความหลากหลายของชีวิต มีการออกกำลังกายตอนเช้าที่จัดการกันเองภายในชุมชน ซึ่งเป็นอะไรที่น่ารักมาก บางทีมีแม่ค้าจากตลาดท่าเตียนมาร่วมออกกำลังกายด้วย แล้วเมื่อไหร่ที่อาจารย์หน่อง (ผศ. ดร. สุพิชชา โตวิวิชญ์) ไปลงตลาดก็จะชวนนุ้ยไปลงด้วย เลยเหมือนต่อเนื่องพยายามคิดว่าทำยังไงให้ที่นี่มีชีวิตอยู่ตลอด จนมาเปิดเพจในเฟสนำรูปถ่ายมาลงและทำหนังสือ แล้วพอหลังจากที่ทางกทม.เขาสั่งย้ายแผงค้า เราไปเดินอีกทีแม่ค้าก็บ่นว่าไม่มีใครรู้หรอกว่าเขาย้ายมาขายที่นี่ บางทีเขาต้องไปนั่งที่เดิมแล้วพอมีคนสั่งก็โทรให้ไปส่ง นั่งที่เดิมที่เคยขายแต่ไม่มีแผงค้า นุ้ยเลยบอกอาจารย์ว่าทำไมไม่ทำโปรเจ็กต์ตามหามนุษย์ปากคลองล่ะเผื่อจะมีคนเล่นบนเฟส…”
ไม่ว่าเราจะเป็นคนรักดอกไม้หรือไม่ แต่หากไปร่วมงานนี้ จึงไม่ใช่เพียงไปเดินเล่นถ่ายภาพเพื่อแลกความสนุกสนานเท่านั้น แต่เสมือนไปเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะจัดแสดงแนวป๊อปอาร์ทที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ซึ่งผ่านการวิจัยและทำงานมาอย่างจริงจัง แม้จะไม่ทำให้ภาพบรรยากาศแบบเก่ากลับคืนมาได้ แต่ก็เป็นเสียงสะท้อนความต้องการของชุมชนและภาคประชาชนที่ส่งไปยังภาครัฐให้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องจัดระเบียบทางเท้าได้บ้างว่า ทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดและทุกชีวิตยังมีตัวตนอยู่บนพื้นที่นั้นได้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์
อ้างอิง: www.facebook.com/manuspakkhlong