‘วรพจน์ โอสถาภิรัตน์’ โครงการ ‘พื้นที่นี้…ดีจัง’ ขับเคลื่อนสังคมสู่ชมชนที่ยังยืน

จากความเชื่อที่ว่า ‘เด็กเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตที่รอการเติบโตเพื่อเป็นพืชพันธุ์ของวันใหม่ ผลิดอกออกผลในท้องทุ่งของอนาคต ทว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น มิอาจเติบใหญ่ได้ในพื้นที่แห้งแล้งและกันดาร แต่บนแผ่นดินอันร่มรื่น ชุ่มชื้น และอิสระ เพื่อให้การฝังรากนั้นสามารถหยั่งลึกและยั่งยืน’ โครงการพื้นที่นี้… ดีจัง จึงถูกออกแบบขึ้น เพื่อทำให้ความเชื่อทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง โดยมี วรพจน์ โอสถาภิรัตน์ (ตั้ม) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการผลักดันและขับเคลื่อนร่วมกับทีมงานของเขา ไม่ว่าจะเป็น ปริตอนงค์ ถวัลย์วิวัฒนกุล (โซ่), พิจิตรา ศิลป์เลิศปรีชา (เกียร์), สืบสาย พูลมี (เซียน) รวมทั้งเหล่าอาสาสมัครและเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ ด้วยยุทธศาสตร์การทำงานทั้งแบบแนวลึกเพื่อสร้างเด็กให้เป็นนักพัฒนาที่สามารถเติบโตและขับเคลื่อนชุมชน ตลอดจนแนวกว้างกับการสร้างเครือข่ายที่ทำงานด้วยพลังบวกในการต่อยอดความเชื่อของพวกเขาอย่างสร้างสรรคและครบในทุกมิติ

 

ต้นกำเนิดพื้นที่สร้างสรรค์ ทางเลือกใหม่ห่างไกลแหล่งอโคจร      

“เราเริ่มต้นมาจากการทำหนังสือแจกฟรีในช่วงปี 2528 เพื่อสื่อสารกับวัยรุ่น แต่ทำได้อยู่ 3 เล่ม ก็ขาดทุน เลยเปลี่ยนจากหนังสือมาทำกลุ่มชื่อ ‘กลุ่มดินสอสี’ โดยกลุ่มจะทำงานอยู่ 3 ด้าน 1) เด็กและเยาวชน 2) ศิลปะและวัฒนธรรม 3) รณรงค์ด้านสังคมเพื่อจะช่วยระดมทุนให้กับองค์กรหรือมูลนิธิต่างๆ เราทำงานผ่านกิจกรรมอย่างการจัดละครเวที คอนเสิร์ต นิทรรศการศิลปะ ขณะเดียวกันเราก็มีเป้าหมายในการสนับสนุนองค์กรที่ทำงานด้านสังคมด้วย ซึ่งก็ขับเคลื่อนตัวมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2553 ทาง สสส. มีแผนงานที่เรียกว่า ‘แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน’ ดำเนินการโดย ‘สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน’ หรือ สสย. ซึ่งได้มาชวนกลุ่มดินสอสีเข้าไปร่วมพูดคุย ตอนนั้นทาง สสย. อยากจะทำเรื่อง ‘พื้นที่สร้างสรรค์’ ซึ่งตอนนั้น คำนี้ยังเป็นคำใหม่และกำลังเข้ามาในเมืองไทย ทีนี้พอพวกเราไปคุยก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นที่รู้จักหรือสามารถขยายผลไปได้ เราจึงเริ่มต้นมาจากสมมติฐานที่เขาทำวิจัยกันอยู่ ซึ่งก็พบว่าเด็กๆ จะใช้เวลาอยู่ในแหล่งอบายมุขที่เข้าถึงง่ายกันมาก แต่ถ้าเรามีพื้นที่สร้างสรรค์ที่ดี น่าสนใจ และสามารถคนเข้าถึงได้ดีกว่าแหล่งอโคจร ก็อาจช่วยลดปัญหาตรงนี้ได้ โดยเราตั้งธงว่าอยากสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ที่คนสามารถเข้าถึงได้สักใน 5 นาที จะได้ไหม หลังจากการพูดคุย จึงลองไปคิดกันดูว่าเราจะทำพื้นที่สร้างสรรค์นี้อย่างไรและรูปแบบไหน”

จากต้นตอปัญหาสู่การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า

“เราคิดว่าสังคมไทยยังขาดพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาใช้ประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์หรือเป็นพื้นที่เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับชุมชนและสังคม สำหรับเด็กไทย พวกเขายังขาดพื้นที่เล่นเชิงสร้างสรรค์ที่ปลอดภัย ซึ่งถ้าจะเล่นก็ต้องไปห้างสรรพสินค้าหรือสวนสนุก ต้องเสียสตางค์ แต่เอาเข้าจริง หลักการเล่นสำหรับเด็ก พวกเขาสามารถเล่นได้ทุกที่ เล่นอะไรง่ายๆ ได้ เช่น แค่มีกองทรายสักกองเขาก็เล่นได้แล้ว ซึ่งการเล่นแบบนั้น เขาจะสามารถใช้จินตนาการ ได้ปีนป่ายต้นไม้ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงทางร่างกายด้วย

เรื่องที่ 2 คือเมื่อเยาวชนเรียนจบมัธยมแล้ว โดยส่วนใหญ่ก็ต้องไปต่อมหาวิทยาลัยนอกจังหวัดตัวเอง เช่น เข้ามาในกรุงเทพฯ หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งพวกเขาจะถูกพรากไปจากชุมชนของตัวเอง เราจึงอยากสร้างให้เห็นว่าชุมชนสามารถมีคุณค่าและมีที่ทาง มีโอกาสให้เยาวชนเหล่านี้ยังสามารถอยู่ในชุมชน ในบ้านเกิดตัวเอง แล้วสร้างสรรค์ชุมชนไปด้วยกันได้ ซึ่งตรงนี้จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการกระจุกตัวในเมืองหรือเศรษฐกิจ

เรื่องที่ 3 คือเรื่องของชุมชน เราเห็นว่าชุมชนกำลังล่มสลายเนื่องจากการเข้ามาของความเจริญที่ไม่ได้คำนึงถึงรากเหง้าของคนและชุมชน ถ้าเรามีพื้นที่สร้างสรรค์อยู่ในทุกชุมชน ก็จะสามารถทำให้ทั้งเด็ก รวมถึงผู้อาวุโสซึ่งถูกทอดทิ้งไปแล้วได้กลับมาในฐานะของผู้มีความรู้ เป็นครูเป็นอาจารย์ ก็จะทำให้ชุมชนตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง มีความเข้มแข็งเกิดขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป โดยไม่ได้ล่มสลายไป แล้วก็พุ่งเป้าไปที่การเสริมให้ชุมชนสามารถมีความเข้มแข็งและเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

เรื่องที่ 4 เราหวังว่า การเราอาจจะมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงนโยบายอะไรบางอย่างได้บ้าง ซึ่งถ้าเราสามารถสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ในรูปแบบอื่นๆ จากสนามเด็กเล่นที่มีหน้าตาเหมือนกันไปหมด ของเล่นถูกตั้งไว้กลางแดด แต่ไม่มีใครไปเล่นเลย มาเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตและสามารถเชื่อมโยงคนในชุมชนเข้ามาได้ โดยสามารถทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้าใจและสนับสนุนได้ ก็อาจจะสามารถขยายมาถึงระดับประเทศในการขอแรงสนับสนุนให้มีครีเอทีฟสเปซในทุกชุมชน โดยในระยะแรก เราเลยเสนอว่าเป็น 1 ชุมชน 1 พื้นที่สร้างสรรค์ แล้วกระจายตัวไป”

‘เล่น เรียนรู้ ริเริ่ม ร่วมทำ และแบ่งปัน’ 5 คุณสมบัติของพื้นที่สร้างสรรค์

“ในขั้นแรกดินสอสีได้ออกแบบและนำวิธีเชิงการตลาดเข้ามา โดยตั้งชื่อโครงการขึ้นว่า ‘พื้นที่นี้…ดีจัง’ ซึ่งมาจากพื้นที่สร้างสรรค์นี่แหละ จากนั้นก็ทำโลโก้ เพลง สร้างแบรนด์ขึ้นมาเป็นตัวตั้งต้น แล้วนำแบรนด์ไปเสนอ สสส. เพื่อที่จะดำเนินการต่อ เมื่อได้ทุนมาทำแบรนด์ มีคอนเซ็ปต์แล้ว สสย. จึงเลยชวนภาคี ซึ่งเขามีภารกิจที่ทำสื่อเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนอยู่แล้วทั่วประเทศ ประมาณ 50 องค์กร มาระดมสมองกันว่า ถ้าเราจะทำเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ เราจะนิยามมันว่าอย่างไร โดยเราเรียกการระดมสมองที่ว่านี้ว่า ‘ยุทธการยกมือขึ้น’ เพื่อถามว่าใครอยากมาทำเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์กับเราบ้าง จากตรงนั้น เราเลยกำหนดเป็นแนวคิดเบื้องต้นของพื้นที่สร้างสรรค์ขึ้นมาก่อนว่าน่าจะมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ก็กลายมาเป็น 5 นิ้วมือ คือ ‘เล่น เรียนรู้ ริเริ่ม ร่วมทำ แบ่งปัน’ หลังจากนั้น เราก็ชวนเครือข่ายในยุทธการยกมือขึ้นที่สนใจและมีความพร้อมมาลองเป็นภาคีนำร่อง แล้วทำงานไปด้วยกัน”

ยุทธการ ‘เจาะไข่แดง ขยายไข่ขาว เขย่าจาน’

“ลักษณะทำงานของโครงการพื้นที่นี้…ดีจัง ตัวดินสอสีเองจะไม่ได้เป็นคนทำนะ แต่จะเป็นลักษณะของการทำงานร่วมกับเครือข่าย ที่เป็นการพัฒนาภาคีเครือข่ายขึ้นมา ฉะนั้น กระบวนการทำงานจะมี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนประสานงานกลาง ซึ่งดินสอสีทำอยู่ เช่น การพัฒนาศักยภาพ การสร้างแบรนด์ ประชาสัมพันธ์ โดยส่วนกลางนี้ ต่อมาใช้ชื่อ ‘สโมสรพื้นที่นี้…ดีจัง’

ขณะที่ภาคีเครือข่ายจะเป็นคนดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ในกระบวนการยุทธการยกมือขึ้นที่เขาค่อยๆ ร่วมมือกันเข้ามา เริ่มต้นเรามีประมาณ 4-5 ภาคีนำร่อง จนถึงตอนนี้จะมี 17 โครงการหลัก โดยใน 17 โครงการหลักนี้ก็จะมีโครงการและภาคีย่อยๆ ของตัวเอง เราเรียกวิธีการสร้างเครือข่ายนี้ว่า ‘เจาะไข่แดง ขยายไข่ขาว เขย่าจาน’ ซึ่งหมายถึงตัวภาคีนำร่องเป็นไข่แดง โดยเขาก็มีหน้าที่ไปหาภาคีเพิ่มในพื้นที่ตัวเองซึ่งคือไข่ขาว เช่นว่า สมมติเขามาจากพัทลุง เขาก็ไปหาภาคีที่พัทลุงที่เป็นไข่ขาวของเขาที่เขาจะเป็นคนดูแล การเขย่าจานก็หมายถึง เราทำแล้วจะต้องสื่อสารกับสังคม กับคนในชุมชน เพื่อให้ได้ไข่ดาวอร่อยๆ โดยตอนนี้เรามีไข่ขาวประมาณสองร้อยกว่าใบใน 37 จังหวัดทั่วประเทศ”

‘สื่อสารและสร้างสรรค์เพื่อก่อร่างการมีส่วนร่วม’

“วิธีการคือภาคีเครือข่ายจะทำงานกับเด็กและเยาวชน เริ่มต้นด้วยการสำรวจก่อน โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า 3 ส. นั่นคือ ‘สื่อสาร สร้างสรรค์ มีส่วนร่วม’ มาเป็นแนวทางในการทำงานในแต่ละพื้นที่ เช่น ในพื้นที่ภาคอีสาน เรามีโครงการดีอีหลีอีสานบ้านเฮา ที่หมู่บ้านจีกแดก อำเภอพนมดงรัก เด็กกับผู้ใหญ่จะไปสำรวจป่าชุมชนซึ่งเคยเสื่อมโทรม โดยเด็กไปถามผู้ใหญ่ว่าทำไมป่าถึงเป็นแบบนี้ จึงเกิดไอเดียที่ชวนคนมาปลูกต้นไม้ในป่าชุมชน เกิดโครงการ ‘ปั่นปันสีเขียว’ ขึ้น โดยชวนเด็กๆ มาปั่นจักรยานและใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘ศิลปะ’ นั่นคือการปั่นไปแล้วก็ไปทำกิจกรรมในป่า เก็บใบไม้มาระบายสี ทำหน้ากาก มาทำเป็นรูปสัตว์อะไรต่างๆ เมื่อเขาผ่านกระบวนการศิลปะ เขาจะได้ไปปลูกต้นไม้ และกลับมาเขียนบทกวีว่ารู้สึกอย่างไร ซึ่งบทกวีกับผลงานศิลปะจะถูกนำกลับมาจัดแสดงที่บ้านของภาคีเครือข่ายที่จะเปิดเป็นแกลเลอรี่ชุมชน กระบวนการแบบนี้จะทำให้เด็กๆ มีโอกาสได้สร้างความผูกพันกับป่าโดยมีศิลปะเป็นตัวเชื่อมโยง ส่วนเรื่องจักรยาน เราก็ไม่ได้ทำแค่จักรยาน เนื่องจากว่าเด็กๆ บางคนไม่มีจักรยาน เขาก็จะไปขอสปอนเซอร์จนได้จักรยานมา แล้วเปิดเป็นร้านซ่อมจักรยาน โดยให้นำจักรยานเก่าๆ ของเด็กๆ มาซ่อมได้ แล้วเขาก็ให้เด็กๆ มาเรียนรู้เรื่องการซ่อมจักรยานเพื่อหารายได้เข้ากองทุน และกองทุนนี้สามารถเป็นค่าขนมให้เด็กๆ ได้อีกทีหนึ่ง มันก็จะเกิดกระบวนการที่บูรณาการทุกอย่างเข้ามาให้เป็นสิ่งเดียวกัน เราเรียกว่า ‘สหกระบวนการ’ แต่เป้าหมายใหญ่ก็เพื่อให้เด็กผูกพันกับชุมชนและเห็นคุณค่าของชุมชน”

หากปัญหาเปรียบเหมือนเส้น ทางออกคือการทำเส้นลบให้สั้นลง ด้วยการทำให้เส้นบวกให้ยาวขึ้น

“โครงการต่างๆ เราคิดจากปัจจัยการที่คนภาคีเครือข่ายซึ่งอยู่ในพื้นที่ทำงานร่วมกับเยาวชนด้วยการสำรวจสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยไอเดียของพื้นที่นี้…ดีจังจะไม่ได้ไปเริ่มต้นที่การปัญหาเชิงประเด็น แต่เราอยากทำพื้นที่สร้างสรรค์ให้สามารถเป็นองค์รวม แล้วให้ทุกเรื่องสามารถเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะในความเป็นจริง ปัญหาไม่ได้แยกออกจากกัน ปัญหายาเสพติดก็เกี่ยวข้องกับชุมชนไม่เข้มแข็ง ชุมชนไม่เข้มแข็งก็ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องท้องไม่พร้อม เป็นปัญหาเรื่องการย้ายถิ่น ดังนั้น 1) เรามองให้การทำงานเป็นไปเชิงองค์รวม สร้างสุขภาวะที่เป็นองค์รวมไม่ใช่ด้านใดด้านหนึ่ง 2) เราเน้นการทำงานเชิงบวก เราคิดกันว่า ถ้าปัญหาคือเส้น เราจะทำให้เส้นอื่นสั้นลง บางทีอาจไม่ได้หมายถึงจะต้องไปลบเส้นนั้นเส้นเดียว แต่เราสามารถขีดเส้นของเราให้ยาวขึ้น แล้วถ้าเราทำอะไรด้านบวกมากขึ้น ก็จะทำให้เส้นที่ไม่ดีหรือเส้นที่เราไม่ต้องการสั้นลงด้วยตัวมันเอง”

ผลลัพธ์ที่ไม่ใช่เพียงแค่เครือข่าย แต่คือเครือญาติและมิตรภาพ

“ถามว่าเราวัดผลอย่างไรบ้าง หลังจากการจัดกิจกรรมต่างๆ เราจะมีการวัดผลเชิงปริมาณทั่วๆ ไปคือจำนวนคนมาร่วมกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ถ้าในแง่ของความชื่นชมหรือความพอใจ ก็จะมีฟีดแบคอย่างการถามไถ่ว่าปีหน้าจะจัดอีกไหม จัดเมื่อไหร่ จนเดี๋ยวนี้ หลายๆ กิจกรรมก็กลายเป็นงานประจำปีไปแล้ว แต่ถ้าในเชิงลึก เราก็ติดตามผลต่อว่าเด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมเขาเป็นอย่างไร ซึ่งแม้เราจะมี KPI เป็นตัวชี้วัด แต่เราคิดว่าแบบนั้นมันแห้งแล้งไปหน่อย วัดอะไรไม่ค่อยได้ เราเลยมีการวัดผลด้วย ‘ตัวชี้วัดที่มีชีวิต’ ที่เป็นตัวคน ซึ่งความสำเร็จข้อแรกที่เห็นได้คือตัวเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการของเรามาตั้งแต่เป็นนักเรียน เป็นนักศึกษา แล้วปัจจุบันเป็น active citizen ที่เราเห็นการเติบโต เห็นการงอกงามของเขา แม้อาจจะยังไม่ใช่จำนวนมาก แต่ว่าเขามีความเป็นผู้นำ มีอิมแพคในการทำงานและดำเนินโครงการต่อ นั่นก็หมายความว่าโครงการจะไม่ได้จบลงตรงรุ่นแรก แต่มีรุ่น 2 ขึ้นมาแล้ว และกำลังจะมีรุ่น 3 ต่อไป นี่จึงเป็นตัวชี้วัดว่าจะเกิดความยั่งยืนขึ้น

คอนเซ็ปต์ของพื้นที่นี้…ดีจัง ได้เข้าไปเปลี่ยนความคิดคน โดยไม่จำเป็นจะต้องไปเริ่มต้นที่ปัญหาอย่างเดียว แล้วก็ยังสามารถสร้างการเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมได้ ซึ่งนี่เป็นการเปลี่ยนความคิดคนว่าเราไม่ต้องซื้อหาความสุข ด้านหนึ่งเราเลยได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน ซึ่งพอคนมีส่วนร่วม มันจะเกิดความเป็นเจ้าของ พอเป็นเจ้าของก็จะไม่ดูดาย แล้วก็จะดูแลสารทุกข์สุกดิบ ซึ่งการที่เราพัฒนาไปถึง 17 โครงการและขยายผลเป็นเครือข่ายต่างๆ เอาจริงๆ มันไม่ใช่แค่เครือข่ายธรรมดา แต่เป็นเครือญาติที่ทำงานร่วมกัน เป็นมิตรภาพต่อกัน”

‘มิตรภาพ’ หนทางสู่การเรียนรู้ เข้าใจ และการลดหน่อเชื้อของความรุนแรง

“หนึ่งในตัวอย่างของมิตรภาพก็อย่างเช่น การทำงานใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัญหาในพื้นที่ก็คือเด็กมุสลิมส่วนหนึ่งไม่ได้เข้าไปในระบบ เพราะว่าเขาเรียนโรงเรียนศาสนาของเขาเอง ซึ่งทำให้เขามีเวลาว่าง ส่วนหนึ่งก็จะไปอยู่กันตามสวนยาง ต้มน้ำกระท่อมดื่มกัน พอเราทำกิจกรรม อย่างเช่น เรามีเครือข่ายอยู่ที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งที่แว้งจะมีป่าฮาลาบาลา ซึ่งมีนกเหงือกอยู่เยอะที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย เราจึงเริ่มต้นจากการสร้างกิจกรรมการไปดูนกเงือกที่แว้งและไปชมทะเลหมอก แล้วเราก็ชวนเด็กเหล่านี้มาร่วมกิจกรรม ไปเก็บขยะตามน้ำตกที่อยู่ในอุทยานที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้

นอกจากนี้ ในโครงการพื้นที่นี้…ดีจัง จะมีเครื่องมือที่เราเรียกว่า ‘การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามพื้นที่’ เมื่อเครือข่ายจังหวัดต่างๆ มีการจัดกิจกรรมอะไรขึ้น เราจะพาเครือข่ายที่อยู่จังหวัดและภาคอื่นไปดู ช่วย และร่วมงานกัน ซึ่งทำให้โลกของเด็กๆ กว้างขึ้น ซึ่งการเรียนรู้และเข้าใจทำให้เกิดมิตรภาพ และมิตรภาพนี่แหละที่เป็นการลดหน่อเชื้อของความรุนแรงไปด้วย

ด้วยการเลือกทำกิจกรรมสนุกและมีประโยชน์แทนการตำหนิ ทำให้เด็กๆ มีความมั่นใจมากขึ้น เห็นว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง จนกระทั่งพวกเขากลายมาเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมต่อมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คนในชุมชนก็เห็นประโยชน์จากโครงการที่เราทำว่าสามารถดึงเด็กวัยรุ่นที่อยู่นอกระบบการศึกษาสามัญให้ออกจากสิ่งที่เคยทำ ลดความรุนแรงลง”

ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าด้วยการสร้างคุณค่า ความแข็งแกร่ง และร่วมสมัย

“ผลที่ได้จากการทำโครงการต่างๆ คือชุมชนที่กำลังล่มสลายหลังจากปะทะกับความเจริญซึ่งเขาเองสู้ไม่ได้อยู่แล้ว ก็เกิดความพยายามที่จะนำเอาคุณค่าที่ตัวเองมีอยู่กลับมา สร้างให้แข็งแรง ร่วมสมัย และยังอยู่ได้ในโลกสมัยใหม่ได้ ซึ่งนั่นทำให้ชุมชนเกิดความภูมิใจ คนเฒ่าคนแก่ก็ได้เจอคนหนุ่มคนสาว คนหนุ่มคนสาวก็เริ่มคิดได้ว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในเมือง มาเป็นแรงงานในโรงงานก็ได้ แต่สามารถอยู่ในชุมชนตัวเองได้”

เมื่อ ‘เด็ก’ เข้าก่อการชุมชน

“แม้กิจกรรมต่างๆ จะทำโดยคนในพื้นที่ก่อน แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ชุมชนก็อาจจะยังรู้สึกถึงความแปลกหน้า วิธีการส่วนใหญ่ของพวกเราคือการเริ่มต้นจากเด็กและเยาวชนก่อน แล้วก็สร้างเครื่องมือและกิจกรรมให้ผู้ใหญ่เข้ามามีส่วนร่วม โดยเราใช้วิธีการที่เรียกว่า ‘เด็กก่อการชุมชน’ ซึ่งจะเข้าไปก่อกวนชุมชนเพื่อให้เกิดความตื่นเต้นและตื่นตัวขึ้น เหตุผลที่เราไปจับที่เด็กและเยาวชนก่อน เพราะโดยธรรมชาติเด็กจะไม่มีอคติ ไม่กลัวความแปลกหน้า เมื่อเราเริ่มจากเด็กและเยาวชนได้สำเร็จ เด็กๆ ก็จะสื่อไปถึงผู้ใหญ่ ถึงชุมชน ฉะนั้น ในกรณีของพื้นที่นี้…ดีจัง จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเป็นคนข้างนอกเข้าไปทำงาน แต่มักเป็นปัญหาว่าเราจะค่อยๆ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและให้ชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานที่เราทำได้อย่างไรมากกว่า”

ปัญหาที่ยังต้องหาทางออก

“เรื่องแรก เราพบว่าชุมชนอ่อนแอ ในลักษณะของการถูกทำให้อ่อนแอ ทุกคนจำเป็นต้องดิ้นรน รวมทั้งเรื่องชุมชนแตกสลาย ความสัมพันธ์ในชุมชนไม่มี ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าทุกคนก็ต้องเห็นแก่ตัวเอง อยู่กับตัวเอง เหมือนในกรุงเทพฯ ที่คนอยู่หมู่บ้านจัดสรร แต่บ้านข้างกันก็ไม่รู้จักกัน นี่คือเป็นปัญหา เมื่อปัญหาเป็นแบบนี้ คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถสร้างสายสัมพันธ์ให้กลับมา อะไรจะเป็นเครื่องมือ คุณค่า รากเหง้าของชุมชน หรือว่ากิจกรรมที่จะดึงดูดคนเข้ามา จริงๆ แล้ว ชุมชนเองเป็นผลผลิตของปัญหาที่ค่อนข้างปลายทาง ที่เราไปเจอส่วนหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาของทุกพื้นที่คือมาจากระบบราชการด้วย ระบบราชการที่มาจากส่วนกลาง กำหนดจากส่วนกลาง ซึ่งบางครั้งไม่สอดคล้องไปกับพื้นที่ เพราะเขาไม่ได้ดึงเอาสิ่งที่มีจากพื้นที่ขึ้นมาเป็นนโยบาย ซึ่งก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้ขัดขวางการมีส่วนร่วมของชุมชน ของประชาชน เมื่อประชาชนมีส่วนร่วมไม่ได้ พวกเขาก็รู้สึกไม่เป็นเจ้าของ ไม่ได้ช่วยกันพัฒนา และนำไปความอ่อนแอของชุมชน แต่ถ้าเขาสามารถเห็นอัตลักษณ์ของตัวเอง ก็จะหาคุณค่าของตัวเองเจอ

อีกหนึ่งเรื่องคือความคิดของคนที่เราจะต้องค่อยๆ ขับเคลื่อนเขา เพราะความคิดคนเปลี่ยนช้า แต่ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนไม่ได้ ฉะนั้น เรามีหน้าที่ปลูกต้นไม้ แต่มันจะงอกหรือไม่งอก หรืออาจจะต้องตำน้ำพริกละลายแม่น้ำบ้าง อาจจะไม่สามารถใช้วิธีคิดคำนวณกำไรขาดทุนได้ แต่นี่เป็นสิ่งที่เราต้องทำและเปลี่ยนแปลงให้เขาเข้ามาสนับสนุนและมีส่วนร่วมกับเราให้มากขึ้นในลำดับต่อไป แต่ก็ต้องค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ เล่าให้เห็น”

พื้นที่สร้างสรรค์ส่วนคาบเกี่ยวกับคำว่า ‘สาธารณะ’ พื้นที่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของได้

“คำว่าพื้นที่สร้างสรรค์จริงๆ บางส่วนมันคาบเกี่ยวกับคำว่า ‘สาธารณะ’ ก็คือมันเป็นพื้นที่ตรงกลาง แต่ว่าคำว่าสาธารณะในเมืองไทยกลายเป็นว่าไม่มีเจ้าของ ไม่ต้องมีใครสนใจ หรือจะเป็นที่ที่รัฐจัดให้อย่างสวนสาธารณะ แต่ไม่ใช่ ‘สาธารณะ’ ในความหมายที่ทุกคนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ ทำอย่างไรเราถึงเปลี่ยนความคิดนี้ได้ จริงๆ เมื่อก่อนเรามีงานวัดซึ่งจริงๆ แล้ว มันก็คือพื้นที่สร้างสรรค์ในอดีต เป็นกุศโลบายที่คนในอดีตออกแบบให้วัดเป็นที่ที่ให้คนมาพบปะสร้างความสุขให้กัน มาเรียนรู้กัน และเป็นพื้นที่สาธารณะ ถ้าเราสามารถเปลี่ยนความคิดของคนให้รู้สึกว่าคำว่า ‘สาธารณะ’ หมายถึง ทุกคนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ ทุกคนจะช่วยกันดูแล จัดสรรทรัพยากรที่มีในชุมชนช่วยกันดูแลได้ นี่ก็เป็นความคิดที่เราคิดว่าเราพยายามจะมุ่งไปสู่ตรงนั้น จากที่เราเปลี่ยนมาได้แล้ว คือเขาเห็นแล้วว่ามีกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชนเป็นประโยชน์อย่างไร เขาก็สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนให้มาร่วม ไม่ต้องไปเข้าห้างเสมอไป”

ฝันสูงสุดคือการทำความฝันคนอื่นให้เป็นจริง

“กลุ่มดินสอสีมีอายุการทำงานยาวนานมา 30 ปี นี่น่าจะเป็นการยืนยันในสิ่งที่เราเชื่อว่า แม้เราไม่ได้เห็น แต่ก็มีคนเล็กคนน้อยอยู่ตามที่ต่างๆ เป็นคนที่มีความหวังและความฝันในการทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นอยู่เต็มไปหมด ดินสอสีมีปรัชญาอยู่ว่า เราอยากเป็นเหมือนหมายเลข 0 ที่แม้ตัวเองอาจจะดูไม่มีค่า ถ้าเราไปเติมท้ายคนอื่น ก็จะไปช่วยเพิ่มค่าให้คนอื่นได้ ฝันของเราคือการทำความฝันคนอื่นให้เป็นจริง ซึ่งเมื่อเราทำงานนี้ เราได้ไปเจอความฝันและผู้คนมากมายตามที่ต่างๆ บนดอย ริมทะเล ในเมืองใหญ่ ในสลัม ในจุดเล็กๆ ไปจนถึงในที่ขนาดใหญ่ เราพบผู้คนที่มีความหวังและความฝันอยู่เต็มไปหมด แล้วเขาก็ได้ลงมือทำในสิ่งที่เขาอยากทำ สังคมมีความหวังจากผู้คนเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ที่อยู่ตามที่ต่างๆ ได้จริงและสามารถเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้จริง เพราะฉะนั้น เวลาเรามองไปแล้วเห็นข่ายใยแห่งความหวัง มันเหมือนกับดวงดาวดวงเล็กๆ ที่อยู่แต่ละที่มาเชื่อมโยงต่อกันเป็นข่ายใหญ่ โดยมีเราเป็นส่วนหนึ่งที่เขาช่วยให้เกิดเครือข่ายนี้ขึ้น ทำให้ดวงดาวแต่ละดวงไม่ต้องกระพริบแสงโดยลำพัง ความหวังได้ถูกเชื่อมโยง และนำไปสู่พลังของการเปลี่ยนแปลง ถ้าเรามีจิตนาการและหัวใจที่ใหญ่พอ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้

สิ่งที่ได้เหล่านี้ได้ทำให้พวกเรามีความมั่นใจ มั่นคง มีความสุข และความสดชื่นขึ้น ที่สำคัญคือพื้นที่นี้…ดีจัง ทำให้เราได้เดินทาง เราสามารถไปทุกจังหวัดในเมืองไทย แล้วทุกๆ ที่ก็จะมีเพื่อนที่เรารู้จักคุ้นเคย ซึ่งแม้จะลำบากหรือเจออุปสรรค แต่ก็เป็นการเติมพลังใจให้เราด้วย บางทีเราอาจมีช่วงที่เหนื่อยและท้อ แต่การได้เดินทางก็เป็นการเยียวยาตัวเราอีกครั้ง ทั้งในแง่ผู้คน สิ่งแวดล้อมที่เราไปถึง ไปดูพระอาทิตย์ตกที่มีความสวยงามแตกต่างกันไป มีเช้าวันใหม่รอเราอยู่ เรารู้สึกว่างานที่ทำอาจจะต้องเริ่มต้นจากตรงนี้ แล้วพยายามทำให้มากขึ้นเพื่อให้คนได้เห็นถึงความสวยงามของชีวิต ความสุขของผู้คน แล้วก็ความหวังความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า”

เติมเชื้อความหวังด้วยพลังของความเปลี่ยนแปลง

“พลังใจของพวกเรา ถ้าพูดอย่างเป็นรูปธรรม ก็คือจากความเปลี่ยนแปลงที่เราได้เห็นจากผู้คน อย่างในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งดินสอสีทำงานกับหมู่บ้านนี้ก่อนที่จะมาเป็นเครือข่ายพื้นที่นี้…ดีจัง ได้ไปช่วยเขารณรงค์แก้ไขปัญหาเรื่องสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วย ได้เจอเด็กๆ ตั้งแต่เขายังวิ่งเล่น บางคนเจอตอนเป็นนักศึกษาราชภัฎกาญจน์ จนตอนนี้เขาจบปริญญาโทที่เชียงใหม่แล้วกลายมาเป็นผู้นำชุมชน แล้วก็สามารถขับเคลื่อนชุมชนด้วยตัวเองได้ ฉะนั้น เวลาเราเข้าหมู่บ้าน แล้วได้เห็น เราก็มีความสุขแล้ว เราอาจจะเคยหมดหวังกับบางเรื่อง ก็ทำให้มีความหวังลักษณะแบบนี้มาเพิ่มเติม มาช่วยชโลมใจ

เราชอบเรื่องหนึ่ง คือเรื่องต้นลาน ที่คนจะนำใบมาทำใบลาน ซึ่งต้นลานจะมีอายุ 50 ปี แล้วจึงค่อยออกดอกออกผล เมื่อออกดอกออกผมแล้วมันจะตาย ซึ่งต้องรอไปอีก 50 ปี แต่ว่าตอนที่มันตาย ลูกของมันจะตกลงมาที่พื้นแล้วกลายเป็นต้นใหม่ต่อไป ชาวบ้านเลยเรียกว่าต้นลูกฆ่าแม่ คือถ้าปล่อยลูกแม่จะตายลง แต่ลูกก็จะเกิดใหม่อีก 50 ปี ถึงจะเห็นดอกเห็นผล บางทีงานที่พวกเราทำก็เป็นแบบนั้นนะ เราอาจจะไม่ได้ทำงานที่สามารถเห็นผลได้ในปี 2 ปี 10 ปี 20 ปี 30 ปี 50 ปี หรืออาจจะไม่ได้เห็นตลอดชั่วชีวิตของเรา แต่ผลหรือความเปลี่ยนแปลงที่ดีจะเกิดขึ้นแน่ๆ”

วันนี้และก้าวต่อๆ ไป

“ตอนนี้เราทำงานมาปีนี้ก็ปีที่ 10 แล้ว ชื่อโครงการปีนี้ตั้งไว้ว่า ‘พื้นที่นี้…ดีจัง ยั่งยืน’ เพราะเราคิดว่าพื้นที่นี้…ดีจัง จะไม่หายไปแล้ว เพราะมันได้ปักหมุดความยั่งยืนลงไปในพื้นที่แล้ว เรามีคนทำที่จากเดิม 10 ปีที่แล้ว เขาอาจจะเพิ่งกลับไปอยู่บ้าน แต่ตอนนี้เขามีสถานะเป็นผู้นำชุมชนไปแล้ว และมีเด็กและเยาวชนก้าวขึ้นมารับช่วงต่อ เพราะฉะนั้น สถานะของพื้นที่นี้…ดีจัง จะกลายเป็นหน่วยหนึ่งของชุมชนที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมต่อไป ทุกๆ ชุมชนที่พื้นที่นี้…ดีจัง เข้าไปจะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทำการขับเคลื่อน และมีผู้มาสานต่อ นอกจากนี้ พื้นที่นี้…ดีจัง จะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนสังคม ได้เสนอความคิดใหม่ๆ ผลลัพธ์ใหม่ๆ ขับเคลื่อนสังคมอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่ทำกิจกรรม และไม่ใช่แค่ทำพื้นที่ตัวเองแล้ว แต่จะเป็นการเสนอแนวคิดใหม่ๆ ให้สังคม เช่น การศึกษาที่มาจากชุมชน มาจากต้นทุนที่ชุมชนมี ทำให้การศึกษามันเป็นเรื่องสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ รวมถึงการทำ ‘ดีจังฟอรั่ม’ ที่จะดึงเอาคนที่เป็นเครือข่ายมาจัดเวิร์กช็อปกันเพื่อเป็นกลไกในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของคนกับเครือข่าย เช่น เด็กๆ ที่เข้ามาร่วม เขาเปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้ จากคนมาเข้าร่วมไปสู่การเป็นผู้จัดงาน ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้มีกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญที่ทำให้เด็กโตขึ้น เข้าใจชีวิตมากขึ้น และมีทักษะในการทำงานอะไรต่อมิอะไรต่อไป ท้ายสุดคือ พื้นที่นี้…ดีจัง กำลังอยู่ในขั้นตอนที่จะเปลี่ยนสถานะจากการทำกิจกรรมไปสู่นักขับเคลื่อนสังคม และหวังว่างานอาสาสมัครจะถูกมองเป็นอาชีพและเป็นมืออาชีพที่จะเป็นส่วนหนึ่งซึ่งแนบเนื้อไปกับชุมชนและสังคมต่อไป”

ปริตอนงค์ ถวัลย์วิวัฒนกุล (โซ่), วรพจน์ โอสถาภิรัตน์ (ตั้ม), พิจิตรา ศิลป์เลิศปรีชา (เกียร์), สืบสาย พูลมี (เซียน)

ภาพ: Zuphachai Laokunrak, Facebook: djungspace, www.thaihealth.or.th, Sopida Asiaponpan
อ้างอิง: Facebook: djungspace,www.thaihealth.or.th

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles