‘Portal’ โปรเจ็กต์จอกลมขนาดใหญ่ที่เชื่อมโลกกลมๆ และคนแปลกหน้าให้ได้รู้จักทักทายกัน

บริเวณหน้าสถานีรถไฟของเมืองวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย (Vilnius, Lithuania) และบนลานสาธารณะกลางเมืองลับบลิน ในโปแลนด์ (Lublin, Poland) สองเมืองในสองประเทศที่ตั้งอยู่ห่างกัน 376 ไมล์ ต่างมีวัตถุทรงกลมขนาดใหญ่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่เหมือนกัน และชาวเมืองจากทั้งสองฝั่งก็ต่างเดินเข้าไปยืนดูด้วยความสนใจ

วัตถุที่ว่านี้มีชื่อว่า Portal ประกอบไปด้วยจอภาพทรงกลมขนาดใหญ่และกล้องวิดีโอด้านหน้า คล้ายๆ กับที่อยู่บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ของเรานั่นแหละ โดย Portal ที่ลิทัวเนียจะฉายภาพให้คนที่นั่นเห็นความเป็นไปในเมืองลับบลิน โปแลนด์ ส่วนจอที่โปแลนด์ก็จะมีภาพของชาวเมืองวิลนีอุส ในลิทัวเนีย พร้อมสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นๆ แบบ real time ให้คนโปแลนด์ที่มายืนดูอยู่หน้า Portal ได้เห็น คล้ายๆ กับเวลาที่เรา VDO call กับเพื่อนๆ ของเราอีกเหมือนกัน… ต่างกันก็เพียงว่าทุกคนที่ยืนมองหน้ากันหรือโบกไม้โบกมือหากันผ่าน Portal จากสองเมืองดังกล่าว ล้วนเป็นคนแปลกหน้าด้วยกันทั้งสิ้น

คอนเซ็ปต์ของ Portal ดูจะเข้ากันได้ดีกับช่วงเวลาปัจจุบันที่ผู้คนส่วนมากไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศได้ แต่ Benediktas Gylys ประธานของ Benediktas Gylys Foundation ผู้ริเริ่มโปรเจ็กต์ Portal นี้ กล่าวว่าเหตุผลที่ว่าเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว พวกเขาริเริ่มการทดลอง Portal มาตั้งแต่ 5 ปีก่อนแล้ว

“เรามองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้คือการที่คนเราแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน และแม้เราจะมีความรู้มากมาย มีเทคโนโลยีก้าวไกล แต่เรากลับขาดซึ่งความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะเรามักจะมองเห็นแต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา คนรอบข้าง และคนที่อยู่ในสังคมเดียวกับเราเท่านั้น แต่กับคนอื่นๆ นอกเหนือจากนั้น เรากลับตัดขาดออกจากกันไปเลย”

และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนช่องว่างระหว่างผู้คนที่ Gylys ว่ามานี้เอง คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตัดสินใจพัฒนาโปรเจ็กต์ Portal

“การแบ่งพรมแดนประเทศเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเรามีโลกทัศน์แคบและขาดความเข้าใจกัน” Gylys กล่าวเพิ่มเติม  บวกกับคนส่วนมากก็มักสบายใจที่จะพูดคุยกับคนที่พูดภาษาเดียวกันกับเรา อยู่ในสังคมเดียวกัน จนหลายครั้งนำไปสู่ความนิยมในเผ่าพันธุ์ตนเอง (Tribalism) ที่มากเกินไป หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าการแบ่งฝ่ายเป็น “เรา” และ​ “เขา”​ ที่แย่ไปขึ้นกว่านั้นคือ ที่ผ่านมา เทคโนโลยีต่างๆ ที่มนุษย์มีกลับไม่เคยแก้ไขปัญหานี้ได้เลย ในทางตรงกันข้าม หลายครั้งเทคโนโลยีกลับยิ่งเพิ่มความแตกแยกและช่องว่างระหว่างผู้คนในสังคมอีกด้วย

จริงอยู่ที่ Portal อาจไม่สามารถทำให้คนเราเข้าอกเข้าใจกันขึ้นมาได้ทันที แต่มันก็นับเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อพยายามสร้างสะพานเชื่อมระหว่างคนสองกลุ่มได้อย่างน่าสนใจกว่าครั้งไหนๆ อย่างน้อย Portal ก็เปิดโอกาสให้คนจากสองประเทศได้มองเห็นกันและกัน ได้ส่งยิ้มโบกมือหากัน หรือแลกเปลี่ยนบางอย่างซึ่งกันและกันผ่านจอขนาดยักษ์ … และการที่คนแปลกหน้าจากสองประเทศติดต่อกันผ่านจอยักษ์ตลอดระยะเวลาที่ Portal ไปตั้งอยู่ ก็อาจมีเรื่องราวน่ารักๆ บางอย่างเกิดขึ้นมาก็เป็นได้

หลังจากที่เมืองวิลนีอุสและลับบลินแล้ว Gylys มีแผนจะนำ Portal ไปตั้งไว้ที่เมืองเรคยาวิค ประเทศไอซ์แลนด์ (Reykjavik, Iceland) และมหานครลอนดอน ในสหราชอาณาจักรอีกด้วย (โดย Portal อันหนึ่งจะยังคงอยู่ที่เมืองวิลนีอุสเป็นหลัก)​ รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้แฟนๆ เข้าไปเสนอความเห็นในเว็บไซต์อีกด้วยว่าอยากจะให้ Portal ไปตั้งอยู่ที่เมืองไหนบนโลกนี้บ้าง

แปลและเรียบเรียงจาก:
portalcities.orgmymodernmet.comFacebook: Benediktas Gylys Foundation

Tags

Tags: ,

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles