ในการเล่าเรื่องสไตล์นิยายวิทยาศาสตร์ หรือ ไซ-ไฟ นั้นคือการจินตนาการถึงโลกในอนาคต โดยมีพื้นฐานจากความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีที่มีอยู่จริงในโลกปัจจุบัน นำมาผสมผสานกับแนวคิดส่วนตัว แล้วคาดการณ์สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น หลายสิ่งก็เป็นเพียงความเพ้อฝัน แต่หลายสิ่งก็ดูจะกลายเป็นเรื่องจริงไปเมื่อเวลาผ่านพ้น และที่สำคัญไม่ได้อยู่เพียงการคาดการณ์ความเจริญของโลกในอนาคตหรอก หากแต่อยู่ที่มุมมองที่ผู้เล่าเรื่องต้องการจะพูดซะมากกว่า
‘Product Wars’ เป็นหนังสั้นแนวไซ-ไฟ ที่พูดถึงวิวัฒนาการของนวตกรรมในโลกยุคใหม่เพื่อนำไปใช้กับสิ่งที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ ‘สินค้า’ ไม่มีใครปฏิเสธการดำรงชีวิตโดยปราศจากการซื้อ และหากยิ่งได้ครอบครอง ‘สินค้า’ ที่มีความทันสมัยเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นตัวบ่งบอกถึง “รสนิยม” และ “ความทันสมัย”ของผู้นั้นไปด้วย แต่จะเกิดอะไรขึ้น…ถ้าสินค้าทั้งหลายนั้นถูกพัฒนาไปจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิต ที่พร้อมจะเสนอขายตัวเอง แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบกับผู้คนได้ราวกับพนักงานขายคนหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้นสินค้าเหล่านั้นกำลังคิดการณ์ใหญ่ พวกมันรวมตัวกันวางแผนเพื่อ..ยึดครองโลก ดูเป็นเรื่องขำขันบนสถานการณ์เกินจริง ซึ่งคงไม่วันจะเกิดขึ้นได้ แต่นี่คือภาพสะท้อนสังคมในยุคปัจจุบันให้เห็นว่า โลกเราขณะนี้กำลังที่บ้าคลั่งกับการบริโภคมากมายจนเกินพอดี และยังเป็นต้นเหตุของภัยพิบัติทั้งหลาย ที่คุกคามเราอยู่ การบริโภคที่ไม่อาจหยุดยั้งนี่เองคือตัวกระตุ้นสำคัญให้เกิดปัญหาอื่นตามมา มนุษย์เป็นผู้คิดค้นระบบบริโภค และผลิตสินค้าเพื่อการใช้สอยตามความต้องการ ทว่าเมื่อมองมุมกลับบางทีเราเองนั่นแหละ ที่กำลังตกเป็นทาสแห่งการบริโภคอย่างโงหัวไม่ขึ้น ยากที่จะปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระ
Stephan Zlotedcus เป็นทั้งผู้กำกับฯ และ เขียนบทสร้างหนังสั้นเรื่องนี้ในนามของ ‘PUNK CITY Production’ และก่อนหน้านั้นเขาก็เป็นโปรดิวเซอร์ และกับกับฯ หนังสั้นแนวนี้มาแล้วหลายเรื่อง ด้วยความถนัดในการใช้โปรแกรมการแต่งภาพ ทำเอฟเฟคได้สมจริง หนังของเขาดึงดูดความสนใจให้กับผู้ชม และด้วยมุมมองสะท้อนสังคม เผยด้านมืดของการหลงใหลในโลกแห่งวัตถุ จนลืมคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต เช่นเรื่อง True Skin (2012) ที่ใช้กรุงเทพฯ เป็นฉากหลังพูดถึงความแปลกปลอมในวิถีชีวิตยามค่ำคืน
‘Product Wars’ นี้ก็เช่นกันที่พูดเรื่องสิ่งแปลกปลอมที่ปนอยู่ในโลก บางทีก็น่าอึดอัดใจ เพราะสังคมที่ต้องการความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ย่อมหมายถึงการเร่งผลิตสินค้า แต่ในเวลาเดียวกันสินค้าที่ถูกผลิตมาอย่างล้นเหลือเกินความจำเป็นมากมายมหาศาล และเป็นตัวการของมลพิษทั้งหลาย ขยะ และสภาพแวดล้อมที่เสียไป นี่เป็นปัญหาให้ขบคิดต่อไปว่า ภายใต้ระบบบริโภคของโลกนี้ เราจะมีทางออกอย่างไรเพื่ออนาคต
อ้างอิง: h1films.com, imdb.com