‘หัวใจมีหู’ กรมสุขภาพจิตชวนคนไทย ‘ฟังด้วยหัวใจ’ ช่วยฉุดคนจากการคิดฆ่าตัวตาย

“สู้ๆ”
“สู้ ๆ ดิแก”
“อย่ายอมแพ้ดิ”
“มีคนลำบากกว่าแกตั้งเยอะ”
“เรื่องแค่นี้เอง ชั้นยังเคยเจอมากกว่านี้เลย”

เราอาจจะเคยให้กำลังใจเพื่อนหรือคนใกล้ตัวในยามที่พวกเขากำลังท้อแท้ ทุกข์ใจ หรือซึมเศร้าด้วยประโยคเหล่านี้ เพราะหวังดีว่าพวกเขาจะฮึดขึ้นสู้กับปัญหาที่เผชิญ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การพูดเพื่อปลอบหรือเตือนสติแบบนี้ไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่อาจจะยิ่งเป็นการตอกย้ำให้พวกเขาจมดิ่งกับปัญหาลงไปเรื่อย ๆ

กรมสุขภาพจิต ออกโครงการ ‘หัวใจมีหู’ รณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตาย เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กันยายนของทุกปี เพื่อรณรงค์ให้คนในสังคมรับบทบาทของการเป็นผู้ฟังที่ดี นำเสนอคลิปภาพยนตร์สั้น โครงการ ‘น้ำ’ ที่สร้างจากเรื่องราวจริงในสังคมไทย 2 เรื่องด้วยกัน โดยเน้นที่กลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น ดำเนินเรื่องให้เข้าใจง่าย ใข้ภาพแสดงความรู้สึกของคนที่มีปัญหาชีวิต โดยคนที่ประสบปัญหาเหล่านั้นมักสะท้อนความทุกข์และความอึดอัดในใจเหมือนการกำลังจมอยู่ใต้น้ำ พวกเขาจะรู้สึกจมดิ่ง ไม่มีทางออก รู้สึกชีวิตไม่มีความหมายที่จะอยู่ต่อ ในช่วงเวลาที่พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวดิ่งจม โอกาสที่จะคิดถึงการฆ่าตัวตายก็มีสูง ยิ่งใช้คำพูดเตือนสติหรือให้กำลังใจอย่างหวังดี อาจทำให้ยิ่งรู้สึกแย่ เพราะพวกเขาจะรู้สึกตัวเองไร้ค่าที่ไม่สามารถคิดได้ทำได้ตามคำพูดเหล่านั้น

เครื่องมือสำคัญที่ใช้สำหรับช่วยเหลือพวกเขาได้ดีที่สุดคือ หูและหัวใจ ในการรับฟัง ให้พวกเขาได้ระบายความเครียดออกมา สิ่งสำคัญคือ ต้องรับฟังอย่างไม่มีเงื่อนไข ฟังจากมุมมองของอีกฝ่าย ไม่ใช่ของเรา ฟังด้วยหัวใจ ไม่ต้องตัดสิน ไม่ต้องปลอบ ไม่เปรียบเทียบ เพราะจะยิ่งทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิม  เพราะบริบทชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน เพียงรับฟังอย่างจริงใจ นอกจากทำให้ผู้พูดได้ปลดปล่อยแล้ว ยังทำให้พวกเขารู้สึกมีคนที่พร้อมจะเป็นเพื่อนและอยู่เคียงข้างเขา ลดความคิดอยากตาย เหมือนมีมือมาฉุดให้พวกเขาหลุดออกจากภาวะจมดิ่งนั้น

กรมสุขภาพจิต เผยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย ในปี 2561-2562 พบเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ร้อยละ 53.04 ปัญหาจากสุรา ร้อยละ 29 โรคทางกาย ร้อยละ 25.7 ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 19 โรคทางจิต ร้อยละ 12 และโรคซึมเศร้า ร้อยละ 7.8 และพบว่า ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายจะไม่กลับมาทำร้ายตัวเองซ้ำใน 1 ปี ถึงร้อยละ 94.27 ซึ่งสภาพสังคมปัจจุบัน คนเราอยู่กันอย่างตัวใครตัวมันมากขึ้น  ใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองอารมณ์และความต้องการ มากกว่าการแลกเปลี่ยนสื่อสารกันอย่างจริงใจ ทำให้ผู้ที่กำลังมีคว่ามทุกข์รู้สึกโดดเดี่ยว กรมสุขภาพจิตจึงอยากสื่อสารให้คนไทยทุกคนเข้าใจ ร่วมกันเป็นผู้ฟังที่ดี และช่วยกันส่งผ่านสิ่งนี้ต่อไปถึงคนรอบข้าง…

ใช้หัวใจ ‘ฟัง’ ให้ได้ยิน…ในวันที่เขายังมีลมหายใจอยู่ข้างๆคุณ

https://www.facebook.com/THAIDMH/videos/646280799192362/

https://www.facebook.com/THAIDMH/videos/906731253042154/

 

  

อ้างอิง: Mhc7, กรมสุขภาพจิต

จงจิตร สมิทธิ์

Head of Creative บริษัท Far East Fame Line DDB มีความเชื่อว่างานโฆษณาที่ดีใช้แค่ Creativity ไม่พอ แต่ต้องใช้ Humankind Creativity ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตสังคมและโลกไปในทางที่ดีขึ้นด้วย

See all articles