Resource Revolution โคมไฟส่องสว่างกลางวัน-กลางคืน และผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลให้ใช้ดื่มกิน

เพราะทุกพื้นที่บนโลกมีความแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศ ทำให้มีปัญหาแตกต่างกันไป หากมองว่าการออกแบบคือการแก้ปัญหาแล้วนั้น ในฐานะนักออกแบบคือการมองปัญหาให้ตรงเป้า เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่เรียบง่ายที่สุด เหมาะสมกับบริบทของแต่ละถิ่นที่

ในหลายพื้นที่ของประเทศชิลีเองก็เช่นกัน มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งน้ำจืดของคนรายได้น้อย และนอกจากจะเข้าถึงได้ยาก ยังมีแนวโน้มที่จะมีราคาสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างเช่นชุมชนที่ตั้งใกล้ชายฝั่งหลายแห่ง ในประเทศชิลีมีชุมชนแบบนี้กว่า 800 แห่ง จำนวนกว่า 110,000 ครัวเรือน ลักษณะการตั้งชุมชนเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ เป็นชุมชนแออัดที่ปลูกบ้านเรียงติดชิดกันไป ทำให้บ้านมีลักษณะที่อยู่อาศัยที่ปิดหน้าต่างตลอดเวลา ทั้งประเด็นเรื่องความปลอดภัย และสภาพอากาศ ทำให้สภาพภายในบ้านเหล่านี้มีลักษณะมืด แม้จะเป็นเวลากลางวันก็ต้องการเปิดไฟตลอดเวลา ถึงจะใช้งานได้ แสงสว่างภายในบ้านมาจากโคมไฟมีข้อจำกัดที่การต่อสายไฟเข้าบ้านมาจากแหล่งภายนอกที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดเหตุไฟไหม้อยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ในชุมชนเหล่านี้ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงน้ำจืด พวกเขาใช้น้ำจืดจากการซื้อน้ำ โดยรถบรรทุกน้ำ ที่จะมาขายในชุมชนแค่สัปดาห์ละครั้ง และขายในราคาแพงอีกด้วย

หากมองให้เห็นปัญหาแท้ ปัญญาก็เกิดตามมา เมื่อ Henry Glogau นักศึกษาสาขา Architecture and Extreme Environments จาก Royal Danish Academy Of Fine Arts ประเทศเดนมาร์ก ได้เดินทางไปในประเทศชิลีและพบปัญหาที่เกิดขึ้นกับขาวชุมชนเหล่านี้ จนเกิดแรงบันดาลใจที่จะใช้การออกแบบมายกระดับคุณภาพชีวิตให้ชาวชุมชนเหล่านี้ดีขึ้น จนเกิดเป็นโปรเจ็กต์ Resource Revolution เขามองไปยังภูมิประเทศของชิลีที่มีชายฝั่งยาว เพราะเป็นประเทศที่วางตัวขนานทะเลแปซิฟิกด้วยความยาวกว่า 6,435 กิโลเมตร และยังมีทรัพยากรที่หาได้ทั่วไป ไม่มีค่าใช้จ่าย เขาจึงพุ่งความสนใจไปที่แสงแดดและน้ำทะเล

Glogau สร้างโคมไฟต้นแบบ ที่เป็นทั้งแหล่งแสงสว่างในบ้านมืดสลัวทั้งกลางวันและกลางคืน อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตน้ำจืดให้คนในบ้านได้อีกด้วย วิธีการคือการนำน้ำทะเลที่มีอยู่ทั่วไป ไม่มีค่าใช้จ่ายจากการซื้อ นำมาเติมในโคมไฟ ในเวลากลางวันน้ำเค็มที่มาเติมจะระเหยกลายเป็นไอภายในโคมที่เป็นช่องแสง ไอน้ำจะกลายเป็นน้ำที่เกาะไปยังผิวภายในที่มีร่องขนาดเล็กคล้ายเปลือกใบไม้ แล้วหยดมารวมกันที่ใต้โคม กลายเป็นน้ำจืดที่ผลิตได้ 440 มิลลิลิตรต่อวัน และลดระดับความเค็มจาก 36,000 ppm ลดลงเหลือ 20 ppm ในระดับที่ใช้ดื่มได้

ในเวลากลางวัน โคมตัวนี้จะเป็นช่องแสงกระจายแสงจากหลังคาสู่ภายในบ้าน ทำให้ภายในบ้านมีแสงสว่างเพียงพอต่อการใช้งาน จากนั้นเกลือที่เหลือจากการระเหย มันจะกลายแหล่งพลังงานจากปฏิกิริยาเคมี โดยมีท่อกักเก็บจากทองแดงและสังกะสีสู่แบตเตอรี 12 ก้อน ซึ่งให้พลังงาน 9.53 โวลต์ มีความเพียงพอที่ให้พลังงานกับแถบไฟ LED ในตอนกลางคืน และยังชาร์จโดยแผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กในระหว่างวันอีกด้วย

โครงการนี้เป็นต้นแบบที่มี TECHO เป็น NGO ในท้องถิ่นช่วยให้ความช่วยเหลือในการติดตั้งในชุมชน ถ้ามันสามารถถูกผลิตซ้ำจนมีราคาถูกพอ มันจะช่วยยกคุณภาพชีวิตคนในชุมชนกว่าแสนครัวเรือนได้เป็นอย่างดี

ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเริ่มต้นจากการมองปัญหา ผนวกเข้าไปกับการรู้ว่าจะไปแก้ปัญหาที่ไหน เท่านั้นเอง

แปลและเรียบเรียงจาก: royaldanishacademy.com
ที่มา: dornob.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles