SOLATUBE เทคโนโลยีท่อนำแสงอาทิตย์ช่วยส่องสว่างภายในอาคารโดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้า

ในธารกระแสลดการใช้พลังงานฟอซซิลที่มีแต่ใช้แล้วหมดไป ทิ้งไว้ทั้งมลพิษให้ตัวเราจนถึงรุ่นลูกหลาน พลังงานทางเลือกได้ผุดขึ้นมาให้เลือกมากมาย หลายทางดูเป็นคำตอบที่มีความหวังให้กับอนาคตของมนุษยชาติ อีกทางที่น่าสนใจคือการเลือกใช้พลังงานจากธรรมชาติมาใช้อย่างไม่ซับซ้อน อย่างเช่นการใช้แสงสว่างภายในอาคารที่ใช้หลอดไฟผลิตความสว่างด้วยไฟฟ้า แต่เราสามารถมีทางเลือกที่เรียบง่ายกว่านั้นด้วยการเข้าใจธรรมชาติแสง และดึงมันเข้ามาภายในด้วยพึ่งไฟฟ้าให้น้อยที่สุด หรือไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเลยก็ได้

เทคโนโลยีขจัดความมืดในอาคารด้วยท่อนำแสงอาทิตย์ ดูจะเป็นคำตอบที่น่าสนใจของสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศทางเขตเส้นศูนย์สูตรแบบประเทศไทยที่มีแสงอาทิตย์เป็นทรัพยากรอย่างเหลือเฟือ การดึงแสงอาทิตย์เข้ามาส่องสว่างภายในนั้น เราจะคุ้นเคยกับ skylight แบบต่างๆ ที่เป็นทั้งกระจก หลังคาลอนใส ที่เป็นการให้แสงอาทิตย์ส่องลงมาโดยตรง สภาพแสงจะมีความเข้มต่างกันไปตามช่วงเวลาของวัน บางเวลาแสงจะส่องผ่านหลังคาใสมาโดยตรงแบบเป็นลำ ทำให้ไม่เหมาะกับการใช้งานในหลายกิจกรรม เพราะมีความเข้มเกินสายตาจะใช้ได้

แต่กับเทคโนโลยีท่อนำแสงอาทิตย์ หรือ SOLAR TUBES ผลิตภัณฑ์ของบริษัท SOLATUBE นั้น ก็ใช้หลักการดึงแสงอาทิตย์เข้ามายังในอาคารแบบไม่ให้ส่องสว่างลงมาตรงๆ จนเกิดปัญหาแสงจ้าเกินควร แต่เป็นการสร้างท่อนำแสงที่มีวัสดุภายในท่อเป็นวัสดุผิวมันอย่างเช่นอลูมิเนียม ลักษณะของท่อนำแสงจะออกแบบให้มีลักษณะเฉียงเป็นขยัก หรือไม่ก็เป็นท่อแบบสปริง เพื่อลดความจัดจ้าของแสงอาทิตย์ ส่วนบนสุดจะปิดท่อด้วยโดมใสจากอะครีลิค เมื่อแสงอาทิตย์ส่องเข้ามาจะสะท้อนไปมาภายในท่อก่อนจะส่องลงไปยังแผ่นกระจายแสงปลายท่อใต้ฝ้าภายในอาคาร ขนาดท่อมีให้เลือกตามการใช้งานตามขนาดพื้นที่ภายใน ท่อมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30-50 เซนติเมตร ระยะห่างการติดตั้ง มีระยะที่แนะนำคือ 5-6 เมตร ท่อนำแสง 1 จุด สามารถส่องสว่างได้ในพื้นที่ 25-36 ตารางเมตร ความยาวของท่อจากการติดตั้งบนหลังคาถึงฝ้าไม่ควรเกิน 3 เมตร ถ้าระยะเกินนี้ปริมาณแสงจะลดลงจนสลัวไปเกินการใช้งานได้

ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลายอย่างเข้ามาผสมกับท่อนำแสง เราสามารถเลือกปรับความสว่างด้วยลิ้นเปิดปิดภายในท่อ โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลสำหรับผลิตไฟฟ้าให้กลไกที่ใช้กับท่อนำแสงอาทิตย์ หากแสงคือทรัพยากรที่ได้เปล่า ความคิดสร้างสรรค์คือเครื่องมือใช้ทรัพยากรให้โลกเราน่าอยู่

อ้างอิง: wikipedia.orgwww.solatube.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles