‘Strong is The New Pretty’ ภาพถ่ายชวนให้เด็กผู้หญิงกล้าเป็นตัวของตัวเอง

‘Strong is the new pretty’ คือชื่อผลงานภาพถ่ายจากช่างภาพชาวอเมริกัน Kate T. Parker ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการเป็นคุณแม่ของลูกสาวสุดที่รักสองคน โดยใจความที่เธอต้องการจะสื่อสารผ่านผลงานชุดนี้ก็คือ เด็กผู้หญิงนั้นไม่จำเป็นต้องวางตัวอยู่ในกรอบที่สังคมกำหนดไว้ว่าควรจะเรียบร้อย สะอาด สวยงาม อ่อนโยน เพียบพร้อม ชอบเล่นตุ๊กตา ชอบเสื้อผ้าฟูฟ่อง ชอบของสีชมพู อะไรแบบนี้เสมอไป

ในทางกลับกัน เด็กผู้หญิงควรจะได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานสมวัยตามที่เด็กหนึ่งคนควรจะเป็น ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการส่งเสียงดังโหวกเหวกโวยวาย ชอบผจญภัย ชอบลุย เล่นเลอะเทอะ มอมแมม ปีนต้นไม้ เล่นกีฬา ตีลังกาผาดโผนก็ได้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้มักจะถูกตีตราแบบเหมารวมว่าเป็นนิสัยของเด็กผู้ชายเท่านั้น คอนเซ็ปต์ Strong is the new pretty จึงเกิดขึ้นมาเพื่อกระตุ้น (empower) ให้ผู้หญิงยืนหยัดกล้าหาญที่จะเป็นตัวของตัวเอง ให้ความสำคัญกับคุณค่าภายใน ไม่ใช่ภายนอก 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า คำว่า ‘เพศ’ และคำว่า ‘เพศสภาวะ’ เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกันแต่มักจะถูกเข้าใจสับสนปนเปกัน เพศสภาวะเป็นบทบาททางเพศที่ถูกหล่อหลอมและสร้างขึ้นจากสังคม เช่น การแต่งตัว ภาษา บทบาทหน้าที่ ฯลฯ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ความคาดหวังของสังคมนั้นไป ‘กดทับ’ หรือ ‘กีดกัน’ โอกาสที่เด็กผู้หญิง หรือผู้หญิงคนหนึ่ง พึงจะได้รับ-ได้ทำ-ได้เป็น ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ตัวอย่างที่คุ้นๆ อยู่ก็เช่น ผู้หญิงไม่ต้องเรียนหนังสือสูงๆ ก็ได้ ผู้หญิงเหมาะกับการอยู่บ้านทำงานบ้านเลี้ยงลูกเท่านั้น ผู้หญิงไม่ได้รับการยอมรับเชื่อถือในอาชีพสำคัญๆ เช่น หมอ นักบินอวกาศ นักการเมือง ฯลฯ และบางอาชีพที่ผู้หญิงกับผู้ชายทำเหมือนกันแต่ผู้หญิงกลับได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า (อย่างที่เขาเรียกกันว่ามี glass ceiling หรือ กำแพงใสที่มาปิดกั้นไว้ไม่ให้ตัวเลขสูงไปกว่านี้โดยไม่มีเหตุผล)

ความคิดเหมารวมเกี่ยวกับบทบาททางเพศนั้นฝังตัวอยู่ในสังคมมานานแล้ว จนเกิดความเคยชินและเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งที่เราเกิดมาแล้ว ‘ต้อง’ ทำตามทุกคน ผู้ชายต้องเป็นแบบนั้น ผู้หญิงต้องเป็นแบบนี้ และกลายเป็นปัญหาที่ซุกตัวเป็นระเบิดเวลาอยู่ตามที่ต่างๆ อย่างปัญหาการหย่าร้างของคู่แต่งงานบางทีก็มีสาเหตุมาจากปัญหากระจุกกระจิกอย่างเรื่องการทำงานบ้านนี่เอง เพราะในขณะที่ผู้หญิงยุคใหม่ออกไปทำงานนอกบ้าน แต่พอกลับมาบ้านก็ต้องกลับมาทำงานบ้านอีก (หรือบางทีอาจจะต้องเลี้ยงลูกด้วย) ซึ่งฝ่ายผู้ชายที่ไม่ช่วยทำงานบ้านก็เพราะถูกครอบครัวเลี้ยงมาแบบนั้น เป็นปัญหาที่สะสมสืบทอดกันมา บางครั้งปัญหาก็ร้ายแรงไปถึงขั้นข่มเหงทำร้ายร่างกาย ด้วยความคิดที่ฝังลึกมาว่าเพศหญิงคือเพศที่อ่อนแอ เป็นรองผู้ชาย และเป็นวัตถุทางเพศ

หวังว่าภาพถ่ายเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้หญิงเกิดความเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง และกล้าหาญที่จะเป็นตัวเอง พร้อมกับกระตุกให้สังคมได้ฉุกคิดและเลิกอคติเหมารวมที่เกิดขึ้นโดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้างนี้ ตลอดจนหันมาเคารพให้เกียรติ ‘คุณค่า’ ของมนุษย์ทุกคนที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างเท่าเทียมกัน

ขอปิดท้ายด้วยประโยคซึ้งใจจากคุณแม่ช่างภาพ
“You don’t need to be pretty, perfect or compliant to be loved.”
(เธอไม่จำเป็นต้องสวย เพียบพร้อม หรือว่าง่าย…ถึงจะถูกรัก) 

Kate T. Parker คุณแม่ช่างภาพและลูกสาวทั้งสอง

อ้างอิง: Blog.Kate T. Parker PhotographyKate T. Parker Photography

วนัทยา มงคล

อดีตกองบก.นิตยสาร GM Plus และ DDT ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ ชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อโลก

See all articles