บ้านประหยัดพลังงานขนาดเล็กสำหรับ 4 คน ครบทั้งที่นอน ห้องน้ำ ห้องครัว ที่ทานอาหาร

ปัญหาที่อยู่อาศัยในศตวรรษที่ 21 มีความซับซ้อนตามบริบทที่นอกจากจะเป็นความซับซ้อนของคนแล้ว สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญคือการที่ทรัพยากรอันมีจำกัดบนโลกไม่ได้มีเท่าเดิม ทางแก้อีกทางคือการพิจารณาการนำวัสดุที่กลายเป็นของเหลือใช้ หรือใช้แล้วให้นำกลับมาใช้ พร้อมกับการคิดให้รอบคอบถึงการสร้างสิ่งใหม่ โดยรบกวนโลกให้น้อยที่สุด

อย่างในงานประชุม United Nations High-Level Political Forum on Sustainable Development ที่จัดไปเมื่อสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการเสนอบ้านขนาดเล็กที่เป็นต้นแบบสำหรับการอยู่อาศัยที่ยั่งยืน ตั้งแสดงที่ UN Plaza ในเมืองแมนฮัตตัน โดยฝีมือของทีมจาก Yale Center for Ecosystems in Architecture แห่งมหาวิทยาลัยเยล และ Gray Organschi Architecture พวกเขาออกแบบและสร้างบ้านที่อยู่ได้ด้วยตัวเองสำหรับ UN Environment และ UN Habitat ภายใต้เงื่อนไขสำหรับภูมิอากาศและบริบทแบบนิวยอร์ค

บ้านต้นแบบนี้สร้างในพื้นที่ขยาดย่อม 22 ตารางเมตร ภายในบรรจุพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยในชีวิตประจำวันได้ครบตามความต้องการพื้นฐานของมนุษย์สำหรับ 4 คน มีทั้งพื้นที่หลับนอน ครัว ทานอาหาร และห้องน้ำ

นิยามการออกแบบให้บ้านนี้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวมันเองคือการสร้างสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่เหมาะสมโดยใช้พลังงานน้อย กักเก็บ และสร้างพลังงานใช้เอง ทั้งการเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ สร้างพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้ใช้กับในบ้าน กักเก็บน้ำใช้แล้วนำมาใช้อีกครั้งให้คุ้มค่าสุด โดยใช้รดแปลงผัก การดึงแสงธรรมชาติเข้ามายังภายในบ้าน ลดการใช้ดวงโคมไฟฟ้า การออกแบบให้มีการระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติจากการออกแบบช่องหน้าต่างที่สัมพันธ์กับทิศทางเคลื่อนไหวของอากาศ

นอกจากการสร้างพลังงานไปพร้อมกับลดการใช้พลังงานแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารอีกด้วยเช่นกัน บ้านต้นแบบนี้มีแปลงผักผนังภายนอกขนาด 4.5 ตารางเมตร และสามารถเพิ่มไปยังผนังฝั่งตรงข้ามได้อีก 4.5 ตารางเมตร พร้อมกับแปลงผักในร่มขนาด 1 ตารางเมตรที่สามารถเป็นตัวกรองอากาศภายในบ้านไปพร้อมกัน น้ำที่ใช้แล้วก็ถูกดึงลงไปเก็บที่ถังเก็บน้ำใช้แล้วใต้ถุนบ้าน เพื่อนำกลับมารดแปลงผักอีกครั้งหนึ่ง

วัสดุที่เลือกใช้ก็เป็นสิ่งสำคัญให้บ้านนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะใช้โครงสร้างที่เป็นไม้ประกบ (cross-laminated timber) วัสดุนี้ก็ผลิตในประเทศ โดยมาจากทางส่วนเหนือของสหรัฐอเมริกา และยังประกอบไปจากวัสดุที่เหลือจากงานเก่านำมาประกอบใหม่ ให้มันสร้างผลกระทบกับโลกน้อยที่สุดตามไอเดีย หน่วยแรกที่ทำการทดลองสร้าง สามารถสร้างได้ภายใน 4 สัปดาห์ หลังจากบ้านต้นแบบนี้ได้จัดแสดงที่แมนฮัตตันจบลงแล้วในวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ มันมีโครงการจะนำไปประกอบเพื่อเวียนจัดในซานฟรานซิสโก เอลควาดอร์ และเคนยาอีกด้วย

วิทยาการด้านการก่อสร้างที่ดี ควรจะให้มนุษย์มีสิทธิ์ที่พบคุณภาพชีวิตที่ดีในราคาที่ถูกลง พื้นที่ใช้สอยถูกวางแผนมาอย่างคุ้มค่า ใช้วัสดุน้อยลง สิ่งนั้นคือหัวใจของความก้าวหน้าที่ดีใช่หรือไม่ ถ้าปัญหาการจัดสรรยังเกิดความเหลื่อมล้ำอยู่ในสังคมได้ เราจะสามารถให้บ้านที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตกับคนได้จำนวนมากแน่นอน

 

อ้างอิง: www.unenvironment.org, esto.com, grayorganschi.com, www.architecture.yale.edu

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles