The Beauty : แอนิเมชันสั้นช็อคทุกสายตากับการกลายพันธุ์ครั้งใหม่ของสัตว์ใต้ท้องทะเล

“จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพลาสติกบูรณาการตัวตนเข้ากับชีวิตใต้ท้องทะเล” Pascal Schelbli ผู้กำกับหนังแอนนิเมชันเรื่อง The Beauty ตั้งคำถามชวนคิด และไม่ใช่คำถามธรรมดา เพราะเขาได้นำเสนอภาพที่สมจริงให้ปรากฏต่อสายตาทุกคนด้วย ซึ่งนอกจากจะช็อคแล้ว ยังสร้างความกระอักกระอ่วนใจตามมาว่าจะยอมรับได้หรือว่านั่นคือความงดงาม โลกใต้น้ำที่หลายคนจินตนาการถึงความมีชีวิตชีวาของสรรพสัตว์หลากสีสัน เหล่าปลาการ์ตูน แนวปะการังอันงดงาม ปลาไหลมอเรย์ที่ลึกลับชวนฉงน ยังมีฝูงแมงกะพรุนสะท้อนแสงกระเพื่อมเป็นทิวแถว ทั้งหมดเป็นความงามที่เห็นจนคุ้นตาจากสารคดีหรือภาพถ่ายของเหล่านักดำน้ำเมื่อหลายปีก่อน และยังมีสื่อเคลื่อนไหวอื่นอีกมากมายทำให้เราคงหลงชื่นใจไปกับภาพแฟนตาซี โดยไม่สำเนียกเลยว่าทั้งหมดนั้นกำลังจะกลายไปเป็นอดีตในไม่ช้า

จากรายงานอุตสาหกรรมพลาสติกโลกให้ข้อมูลการขยายตัวของการผลิตพลาสติกต่อปีในอัตราร้อยละ 8.6 จาก 1.5 ล้านตันกลายมาเป็น 368 ล้านตันต่อปี นับตั้งแต่ปี คศ. 1950 ถึงปัจจุบัน นั่นเป็นข่าวร้ายว่าความสวยงามใต้ทะเลจะจากเราไปเร็วกว่าที่คิด พลาสติกเป็นวิกฤตปัญหาสำคัญของโลก แม้หลายองค์กรในหลายประเทศจะพยายามรณรงค์นำมารีไซเคิลเพื่อลดปริมาณขยะพิษ แต่ข้อเท็จจริงคือ เราไม่มีวันจะกำจัดได้หมดและยังมีอีกจำนวนมหาศาลที่ไม่อาจนำมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้ ซึ่งขยะพลาสติกมากมายเหล่านั้นก็จะหล่นลงในทะเลและกระจายตัวในหลากหลายรูปแบบ ท้ายที่สุดก็จะอยู่ปะปนกับชีวิตสัตว์น้ำจนดูราวกับเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

แอนิเมชัน The Beauty เริ่มต้นฉากแรกด้วยความสวยงามของท้องทะเลคล้ายกับภาพลวงตา ด้วยบทบรรยายรูปแบบภาษากวีที่พาผู้ชมจมดิ่งไปสู่ใต้ท้องทะเลลึก แล้วขยายภาพความงามเหล่านั้นให้ชัดเจน และพบว่าที่แท้จริงแล้ว นั่นคือแหล่งที่หมักหมมของปัญหาขยะพลาสติกมหาศาลซึ่งล้วนเกิดจากการบริโภคในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าแตะ ช้อนส้อมพลากสติก ขวดน้ำพีวีซี ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หรือยางรถยนต์ อาจดูเกินจริงที่ทั้งหมดกลายพันธุ์ไปเป็นสัตว์น้ำเสียเอง แต่ไม่เกินจริงตรงที่มีขยะเหล่านี้ในท้องทะเลจริงๆ นี่ไม่เพียงเป็นการเตือนภัยพิบัติที่เรากำลังเผชิญ แต่เป็นการประท้วงถึงความไม่รับผิดชอบของผู้คนในระบบสังคมบริโภคด้วย

ด้วยความยาวเพียงเวลา 4 นาทีกว่า สามารถให้ภาพความเสื่อมโทรมของธรรมชาติได้ชวนขนลุกอย่างยิ่ง ไม่แปลกใจเลยที่หนังจะได้รับรางวัลจากสถาบันและเทศกาลการประกวดหนังมากมายรวมถึงรางวัลชนะเลิศจาก ออสการ์ สาขา Student  Academy Awards 2020 ที่ผ่านมาด้วย หนังส่งประกวดในนามสถาบันทำหนังจากประเทศเยอรมัน Filmakademie Baden-Württemberg – Germany ทั้งนี้นักทำหนังไม่ได้หวังจะประสบความสำเร็จจากการประกวดรางวัลมากมายนัก ทว่าพวกเขามีความคาดหวังให้หนังเป็นสื่อแทนการกระตุ้นเตือนสังคมโลก แทนความห่วงใยต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเล เหนืออื่นใดเขาคาดหวังจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อแก้วิกฏตปัญหานี้โดยเร่งด่วน

แปลและเรียบเรียงจาก: www.thisiscolossal.com
อ้างอิง: www.pascalschelbli.ch, www.statista.com

 

 

Tags

Tags: , ,

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles