ความปลอดภัยในการเดินทางเป็นอีกหนึ่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันที่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ถ้าเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นมา โดยเฉพาะคนที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพื่อไปทำงานหรือไปเรียนเป็นประจำ บางครั้งความรีบร้อนก็อาจทำให้สะดุดล้ม หรือการใช้เส้นทางเดิมทุกวันก็ทำให้เราเปิดโหมดออโต้ในสมองจนลืมมองทางและก้าวพลาดไปได้
และแม้ว่าเราจะเห็นป้ายเตือน “โปรดระวัง…” หรือเสียงเตือน “Please Mind the Gap Between Train and Platform” อยู่บ่อยๆ แต่อะไรที่มันบ่อยจนเคยชินก็อาจกลายเป็นความชาชินและถูกมองข้ามไปโดยไม่รู้ตัว จุดนี้เองที่ทำให้หน่วยงานด้านคมนาคมในลอนดอน (Transport for London) จัดทำแคมเปญพิเศษเพื่อลดอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางโดยชวนศิลปินชาวลอนดอน Andrew Hudson มาสร้างชิ้นงานภาพโปสเตอร์จำนวน 18 ชิ้นที่โดดเด่นด้วยสีสันสดใสและข้อความตัวอักษรที่ใหญ่สะใจ เปลี่ยนวลีที่เราเคยชินตาให้กลายเป็นความสะดุดตาจนไม่อาจมองข้ามไป เช่น “Mind the Gap” เตือนให้ระวังช่องว่างระหว่างรถไฟฟ้ากับตัวสถานี หรือ “Hold the Handrail” เตือนให้จับราวบันไดขณะเดินขึ้นลงบันได หรือ “Watch Your Step” ระวังตอนก้าวขึ้นลงรถเมล์ เป็นต้น
แคมเปญนี้มีการร่วมงานกับเอเจนซี่ VCCP London ที่มาดูแลวิธีการสื่อสาร และทีม Wavemaker ที่ดูแลเรื่องการวางแผนสื่อ โดยมีเป้าหมายหลักคือการเตือนใจให้ผู้โดยสารใช้ความระมัดระวังในการเดินทางอยู่เสมอ เพราะอุบัติเหตุมักจะเกิดตอนที่เราเผลอหรือประมาทนั่นเอง การเล่นกับวลีคำเตือนที่คุ้นเคย ด้วยตัวอักษรใหญ่และสีสันสดใส เป็นความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ชิ้นงานที่เป็นเชิงบวกและมีความชัดเจนเข้าใจง่ายเพื่อกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวกกับผู้พบเห็นได้ทันที
โปสเตอร์คำเตือนอันแสนสะดุดตานี้ถูกนำไปเผยแพร่ตามสื่อโฆษณาต่างๆ ทั่วเครือข่ายการคมนาคมของลอนดอน รวมถึงป้ายโฆษณาดิจิทัลที่ทำให้ใช้ลูกเล่นอย่างภาพสามมิติ หรือภาพเคลื่อนไหวมาช่วยเพิ่มความน่าสนใจเข้าไปอีก เช่น คำเตือนให้เดินทางระมัดระวังหลังการดื่มแอลกอฮอล์ก็จะเป็นภาพขยับไปมาเหมือนมุมมองของคนเมา
ถือเป็นชิ้นงานที่โดดเด่นเห็นแล้วได้ผลทางความรู้สึกจริงๆ ทั้งภาพและเนื้อหาที่ตรงประเด็นและได้ผลกับคนทุกวัย ไม่ว่าจะเด็กเล็กหรือผู้สูงวัยก็ดูออกทันที ถ้าบ้านเรานำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับป้ายเตือนในที่สาธารณะให้เยอะๆ บ้าง อาจช่วยลดอุบัติเหตุได้ไม่มากก็น้อยค่ะ
“โปรดระวังเป็นพิเศษ หากท่านดื่มแอลกอฮอล์มา”
“เดินดีกว่า อย่ารีบวิ่ง”
“ระวังสะดุด”
“โปรดระวังช่องว่าง (ระหว่างขบวนรถไฟกับชานชาลา)”
“โปรดจับราวบันได”
“โปรดระวังประตูกำลังปิด”
อ้างอิง: itsnicethat.com