VAC-Library ห้องสมุดกลายเป็นห้องสนุกด้วยเกษตรแบบผสมผสานในกรุงฮานอย

ปัญหาของเมืองใหญ่ในบริบทคือการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม ยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา การใช้พื้นที่ต้องระมัดระวัง เพราะการเจริญเติบโตของเมืองที่ไร้ทิศทางจะไม่นำพาไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งปัญหาในอนาคตที่ต้องตามแก้กันไม่รู้จบ

อย่างในกรณีของเมืองหลวงอายุพันปี กรุงฮานอย เวียดนาม เป็นเมืองที่มีการเจริญเติบโตมานาน หลายพื้นที่ถูกจับจองจากความเจริญที่เข้ามาเรื่อยๆ ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชากร ปัญหาเรื่องเมืองก็ตามเช่นกัน เราจะสามารถเห็นตึกแถวแสนแคบที่ขึ้นสูงจนเป็นรูปแบบแปลกตาที่มีความเฉพาะมาก และในย่านที่ไม่ไกลจากทะเลสาบฮหว่านเกี๊ยม ซึ่งเป็นศูนย์กลางของย่านเมืองเก่าในฮานอย ได้เกิดโครงการเชิงทดลอง เพื่อหาคำตอบให้กับเมืองที่หนาแน่น

โครงการทดลองนี้คือห้องสมุดขนาดเล็กชื่อว่า VAC-Library โดยที่มาของชื่อมาจากอักษรเวียดนาม 3 ตัวคือ Vườn แปลว่า สวน, Ao แปลว่า สระน้ำ  และ Chuồng แปลว่า กรง มันถูกออกแบบโดยสำนักสถาปนิกเวียดนาม Farming Architects ด้วยแนวคิดที่ต้องการสร้างสถาปัตยกรรมขนาดเล็กที่สร้างการพึ่งพาตัวเองได้ในบริบทเมือง ห้องสมุดนี้ออกแบบรองรับแนวคิดเรื่องเกษตรแบบผสมผสานที่พึ่งพากันในสภาวะแวดล้อมเมือง ในรูปแบบกริดไม้สี่เหลี่ยมที่ต่อตัวกัน มันทำหน้าที่ทั้งปลูกพืช เลี้ยงปลา เป็นห้องสมุดผสมฟาร์มในเมือง เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศที่ยั่งยืน

ในพื้นที่กริดไม้นี้สามารถให้เด็กปีนป่ายเล่นกับสถาปัตยกรรม ในขณะที่เด็กสามารถเฝ้าสังเกตการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องสมุดนี้ไปพร้อมกัน ห้องสมุดตั้งอยู่ใกล้สระน้ำที่ใช้น้ำหมุนเวียนจากบ่อปลาเพื่อให้สารอาหารแก่พืช ไนไตรต์แบคทีเรียจะย่อยของเสียจากปลาในสระน้ำไปเป็นปุ๋ยของพืช ระบบการบำบัดใช้พลังงานที่ผลิตได้ในตัวมันเองจากแผงโซลาร์เซลล์เพื่อสูบน้ำและจ่ายไฟฟ้ากับโคมไฟในห้องสมุด ตัวห้องสมุดออกแบบให้เป็นกริด มันสามารถกลายเป็นรูปทรงไปตามที่ว่างของบ้านแต่ละหลังที่มีขนาดไม่เท่ากันได้ กริดไม้นี้ถูกออกแบบให้แทรกกระถางต้นไม้สำหรับปลูกผักสวนครัวแนวตั้ง ตามแนวคิดของสถาปนิกต้องการลดมลภาวะทางสายตาที่นิยมการปลูกผักตามระเบียงในลังโฟมที่ไม่สวยงาม ให้มาปลูกอย่างเป็นระบบ และมีความสวยงามแบบงานทดลองตัวนี้

สำหรับ VAC มันคือการรวมกันของ สวน สระน้ำ  และกรง เพื่อให้กริดนี้สามารถช่วยแก้ปัญหาของเมือง ไปพร้อมกับการเล่นของเด็กในเมือง ถึงแม้ว่ามันจะเป็นโครงการเชิงทดลอง แต่ถ้าปรับใช้ในเสกลที่มากขึ้น มันอาจจะเป็นอีกคำตอบให้กับเมืองแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นได้

อ้างอิง: Facebook: Farming Architectswww.dezeen.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles