‘วรินทร์ อาจวิไล’ อิมมานูเอลสตริงออร์เครสตรา ยกระดับชุมชนคลองเตยด้วยดนตรี

เราเจอครูต้นกล้วย วรินทร์ อาจวิไล เมื่อสี่ปีก่อน โดยสมัยนั้นอิมมานูเอลสตริงออร์เครสตรายังไม่ถูกตั้งเป็นมูลนิธิในนามของมูลนิธิมิวสิกฟอร์ไลฟ์ ในวันนั้นเราเดินตามครูต้นกล้วยทะลุตรอกซอกซอยแผ่นสังกะสีเพื่อไปยังบ้านของเขา ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านในของชุมชนน้องใหม่ สลัมคลองเตย ครูต้นกล้วยเป็นนักดนตรีไวโอลินที่เคยอยู่ในวงออร์เครสตราของมหาวิทยาลัยมหิดล แต่ด้วยความที่ต้องแบ่งเวลามาสอนดนตรีให้กับเด็กในชุมชนคลองเตยด้วย สุดท้ายครูต้นกล้วยผู้เชื่อว่าดนตรีจะสามารถพัฒนาและยกระดับชุมชนได้ทั้งในเรื่องของการแก้ปัญหายาเสพติด ความเหลื่อมล้ำ และการประกอบอาชีพที่ไม่สุจริตของคนในชุมชน ครูต้นกล้วยจึงตัดสินใจออกจากวงออร์เครสตราซึ่งมีรายได้หลายหมื่นต่อเดือน เพื่อมาเป็นครูสอนดนตรีให้กับเด็กๆ ที่อิมมานูเอลสตริงออร์เครสตราอย่างจริงจัง

จากครั้งสุดท้ายที่เราได้คุยกับครูต้นกล้วยมาจนวันนี้ อิมมานูเอลสตริงออร์เครสตรา โรงเรียนสอนดนตรีสำหรับเด็กในชุมชนคลองเตยกลายเป็นที่รู้จักดีในแวดวงดนตรี มีความช่วยเหลือและการสนับสนุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากที่ครูต้นกล้วยต้องคอยเดินเคาะประตูตามฝาบ้านเพื่อตามเด็กให้ไปเรียน กลายเป็นว่าทุกวันนี้มีผู้สนใจเดินเข้ามาสมัครเรียนยังพื้นที่แห่งนี้เป็นจำนวนมากด้วยตัวเอง

จุดเริ่มต้นของอิมมานูเอลสตริงออร์เครสตรา

สมัยผมแปดขวบ มีมิชชันนารีจากประเทศนอร์เวย์เข้ามาเผยแพร่ศาสนาที่ชุมชนคลองเตย ตอนนั้นอาจาร์ยของผม (Solveig Johannessen) ซึ่งเป็นภรรยาของมิชชั่นนารี แกเป็นนักดนตรีที่เล่นดนตรีเพื่อศาสนาก็เดินทางเข้ามาด้วย แกเป่าออร์แกนและพอเล่นไวโอลินได้ แกเลยเริ่มสอนดนตรีให้กับคนในโบสถ์ที่ชุมชนนี้ก่อน จากนั้นก็ไปเปิดศูนย์ที่ชุมนุมน้องใหม่ซึ่งเป็นเขตของบ้านผม แกก็พยายามไปหาเด็กในชุมชนให้มาเรียนกับแกจนไปเจอผมเข้า ซึ่งตอนนั้นผมอายุแปดขวบเอง และที่นี่ก็ยังไม่ได้เริ่มก่อตั้งด้วยซ้ำ จนพอโตมา ผมสอบเข้าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ที่มหิดลได้ ก็มีโอกาสเข้าไปอยู่ในวงออเครสตราหนึ่งปี ตอนนั้นเรารู้สึกกว่ามันเจ๋งสุดๆ แล้ว บวกกับรายได้จากการอยู่ในวงออเคสตรามันดีมากด้วย บอกเลยว่ามันเป็นงานที่นักดนตรีหลายคนใฝ่ฝัน มันเป็นตัวพิสูจน์อย่างหนึ่งเลยว่าถ้าคุณได้อยู่วงนี้ก็ถือว่าคุณเป็นนักไวโอลินมืออาชีพของจริง ตอนนั้นเราอยากพิสูจน์ให้แม่เห็นด้วยว่าการเรียนดนตรีไม่ใช่แค่ต้องเป็นครูอย่างเดียว มันหารายได้แบบอื่นได้ด้วย

จนวันหนึ่งที่อิมมานูเอลสตริงออร์เครสตราเริ่มมีเด็กมาเรียนเยอะขึ้น เวลานั้นอาจารย์ผมต้องเป็นคนดูแลนักเรียนเกือบร้อย แกดูแลไม่ไหว ผมก็เลยมาช่วยสอนอาทิตย์ละครั้งเพราะผมมีวันหยุดแค่วันเดียวคือวันอาทิตย์ ตอนมาช่วยที่นี่แรกๆ เราก็ไม่ได้คิดว่าจะมาสอนเป็นเรื่องเป็นราวนะครับ คิดว่าแค่มาช่วย แต่พอเราเห็นอาจารย์เราลำบากเราก็เลยรู้สึกว่าเราอยากทำตรงนี้ พอมาทำเยอะๆ เข้า กลายเป็นว่าเราไม่มีเวลาซ้อมดนตรีของตัวเองเลย จนท้ายที่สุดเราเลยเลือกที่จะออกจากวงออร์เครสตราเพื่อมาช่วยพัฒนาชุมชนที่เราเกิดและโตมา ทีแรกอาจารย์ก็จ่ายเราเป็นชั่วโมงครับ จนพอเราทำงานเยอะมาก ตั้งแต่บ่ายโมงถึงสามทุ่มทุกวัน อาจารย์บอกไม่มีเงินจ่ายให้แล้วล่ะ แกเลยเสนอเป็นเงินเดือนให้เรา มันไม่ได้มากมายอะไรหรอกครับ แต่เราเองพอใจตรงนั้นแล้ว พอเข้ามาช่วยแก เราก็เข้ามาจัดระบบบของโรงเรียนและสร้างวงดนตรีเล็กๆ ขึ้น มีการจัดคอนเสิร์ตเพื่อระดมทุนเข้าโรงเรียน

ไม่เริ่มต้น ไม่เห็นปลายทาง

ที่ผ่านมาเราจัดคอนเสิร์ตปีละสามครั้งเพื่อระดมทุนให้กับพื้นที่ทางดนตรีแห่งนี้ ตอนจัดครั้งแรกเราไม่ค่อยได้อะไรเท่าไหร่หรอกครับ เข้าเนื้อด้วยซ้ำ เพราะเรามีค่าเช่าสถานที่ ค่าอาหารเด็ก และอีกหลายอย่าง ที่ผ่านมาเราใช้วิธีกระจายงาน เช่น อย่างผมเองมีเพื่อนเป็นนักดนตรีที่มหิดลก็จะชวนให้เขามาช่วยเล่นฟรีให้ และก็มีอาจารย์ดนตรีจากข้างนอกเข้ามาช่วยบ้าง ซึ่งจากการจัดคอนเสิร์ตระดมทุนในครั้งแรกนั้นก็เริ่มมีการพูดปากต่อปากจนมีผู้สนับสนุนเข้ามา

อย่านั่งรอความช่วยเหลือ จงพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นด้วยการลงมือทำ

ที่นี่เราพยายามก้าวไปสู่สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เราขับเคลื่อนให้เกิดเรื่องราวใหม่ทางดนตรีอยู่เสมอ จนคนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเรามักบอกว่า เราไม่เหมือนที่อื่นที่พอได้รับความช่วยเหลือแล้วไม่รู้จักพัฒนาตัวเอง วันหนึ่งมีคนปล่อยไวรัลเรื่องของเราออกไป ช่วงนั้นมีนักข่าวโทรมาทุกวัน โดยที่ตอนนั้นทางมหาวิทยาลัยมหิดลไม่เคยรู้มาก่อนเลยด้วยซ้ำว่ามีเด็กจากชุมชนคลองเตยเคยไปเรียนอยู่ที่นั่นและเล่นอยู่ในวงออร์เครสตราของเขาด้วย เพราะที่นั่นค่าเทอมแพงมาก ต้องบอกว่าเด็กที่เรียนดนตรีที่มหิดลส่วนใหญ่มีฐานะในระดับปากกลางถึงดีมาก พอเขารู้เรื่องเรา เขาก็ทึ่งว่าเราเป็นเด็กมาจากชุมชนแบบนี้แต่มีความบากบั่นที่จะไปสอบเรียนจนเข้าวงออร์เครสตราได้ ช่วงนั้นทางคณบดีฃเชิญเรากลับไปคุยที่มหิดล โห…แล้วแต่ละคำถามที่เขาคุยกับผมมาแนวจิตวิทยาทั้งนั้นเลยครับ เรานี่ตื่นเต้นมาก เพราะสมัยเล่นออร์เครสตราอยู่ที่นั่นเราก็เป็นพวกเด็กตัวน้อยๆ โดนว่าบ่อย เพราะแต่งตัวไม่เรียบร้อยบ้างอะไรบ้าง ซึ่งการกลับไปคราวนั้นมันเป็นการกลับไปคุยกันอย่างเป็นทางการกับเขา จนในที่สุดคณบดีก็เลยส่งเรื่องไปให้เพื่อนเขาอีกคนที่มีกำลังในการสนับสนุนดนตรีให้กับชุมชนคลองเตยตรงนี้ได้ ซึ่งท่านผู้นั้นก็ช่วยเราในหลายๆ เรื่องจนวันนี้

เริ่มต้นจากศูนย์เพื่อความเท่าเทียม

ปัจจุบัน นักเรียนทั้งหมดของอิมมานูเอลสตริงออร์เครสตรามีเป็นร้อยคนครับ แต่ถ้ามาเรียนประจำจริงๆ คือประมาณ 50-60 คน เรารับตั้งแต่อายุ 713 ปี โดยในหนึ่งอาทิตย์เขาจะต้องมาเรียนสามถึงสี่ครั้ง เพราะมีทั้งการเรียนเดี่ยว เรียนวง มีทฤษฏี ต้องบอกว่าเวลาเรารับนักเรียน เราจะไม่รับคนที่มีพื้นฐานดนตรีมาก่อนเลยนะครับ เพราะถ้าเรารับคนที่มีพื้นฐานมีประสบการณ์มาก่อนแล้ว มันก็จะมีปัญหาตามมาว่าบางคนรู้สึกว่าฉันเก่งฉันดีกว่าคนอื่น ซึ่งเราไม่อยากให้มีอะไรแบบนั้น และสมัยก่อน เราเคยเปิดรับสมัครเด็กใหม่ในช่วงกลางทาง มันก็เกิดปัญหาตามมาอีกว่าเด็กบางคนที่เข้ามาในช่วงนั้นรู้สึกว่าตัวเองว้าเหว่ไม่เข้ากลุ่ม เพราะเพื่อนเขาสนิทกันไปหมดแล้ว หลังๆ มา ตั้งแต่ช่วงเปิดคอร์สใหม่ เราเลยจัดค่ายเป็นเวลาหนึ่งเดือนเพื่อให้เด็กๆ ได้มาใช้เวลาร่วมกัน สร้างความสัมพันธ์กันก่อน ทุกวันนี้นักเรียนที่นี่เลยรู้สึกว่าอยากจะมาโรงเรียนเพื่อจะได้มาเจอคนรุ่นเดียวกันที่เล่นดนตรีเหมือนกัน ชอบกิจกรรมอะไรคล้ายๆ กัน มันคือการใช้เวลาที่มีประโยชน์ร่วมกัน และเครื่องดนตรีที่พวกเขาจับพวกเขาเล่นก็กลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของเขาในช่วงเวลาว่าง สร้างเป้าหมายชีวิตให้กับพวกเขา ไม่ออกนอกลู่นอกทาง

ส่งเสริมอาชีพให้นักเรียนด้วยการยกหน้าที่ให้เป็นครู

ถึงวันนี้ พ่อแม่ในชุมชนเอง เขาได้เข้าใจแล้วนะครับว่าเรื่องของการเล่นดนตรี มันไปไกลกว่าที่เขาคิดหรือเขาตั้งเป้าไว้อีกด้วยซ้ำ แน่นอนที่ก็ยังมีพ่อแม่จำนวนหนึ่งคิดว่าการให้ลูกออกไปทำงานมันดีกว่าที่จะมาเสียเวลานั่งฝึกซ้อมดนตรี เราเองก็เลยแก้ปัญหาด้วยการนำเด็กเหล่านั้นมาสอนดนตรีขั้นพื้นฐานให้กับเด็กคนอื่น และเราก็ให้เงินค่าจ้างเขาด้วย เพราะไหนๆ ถ้าเด็กจะต้องไปทำงานข้างนอกเพื่อเงินอยู่แล้ว สู้ให้เด็กเหล่านั้นมาทำงานตรงนี้ดีกว่า พวกเขาจะได้อยู่กับดนตรีด้วย ได้ซ้อมด้วย โดยเด็กที่เราให้มาสอนจะเป็นเด็กโต อายุประมาณ 1516 เราให้อิสระกับเขาในการไปคิดกิจกรรมเพื่อเตรียมมาสอนรุ่นน้อง เขาก็ทำกันได้นะครับ ทำได้ดีด้วย เขาได้คิดว่าฉันจะต้องสอนยังไง ทำกิจกรรมแบบไหนเพื่อให้เด็กคนอื่นๆ สนุกกับการเรียนดนตรี ส่วนค้าจ้างที่ให้ มันอาจจะไม่มากหรอกครับ แต่ที่ผ่านๆ มา เด็กๆ เขาก็พอใจกันนะ ส่วนพ่อแม่ของนักเรียนที่มาเรียนดนตรีที่นี่ได้มีส่วนร่วมกับเราค่อนข้างเยอะ ผู้ปกครองจะเห็นผลการเรียนของลูกๆ ก็จากวันแสดงคอนเสิร์ตซึ่งเราถือว่าเป็นเวทีหนึ่งของการสอบ ในวันนั้น ผู้ปกครองทุกคนจะเป็นกรรมการในการสอบด้วย ทุกคนจะมีปากกาและกระดาษอยู่ในมือ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมันทำให้ผู้ปกครองรู้สึกถึงความมีส่วนร่วม มีหน้าที่ มีตัวตน และการได้เห็นพัฒนาการของลูกๆ ก็ตามมาด้วยความภูมิใจ และสิ่งเหล่านี้ก็จะไปส่งเสริมเรื่องของการแก้ไขปัญหาครอบครัวที่มาจากความกดดันอันเนื่องจากฐานะที่ไม่มั่นคง เพราะเมื่อเขาเห็นคุณค่าในสิ่งที่ลูกทำ เขาก็เกิดความภูมิใจในตัวเองในตัวลูก มันก็เกิดการมองโลกที่เป็นบวกขึ้นในการดำเนินชีวิต

ชุมชนแข็งแรงจากการพึ่งพา

ปัจจุบันเราไม่ได้แค่ทำในโซนที่เราอยู่นะครับ แต่เรายังขยายไปสู่มูลนิธิอื่นๆในคลองเตยด้วย เราพยายามที่จะกระจายข่าวไปยังทุกมูลนิธิในคลองเตย เพื่อให้เขาส่งเด็กมาเรียนที่นี่ ซึ่งที่ผ่านมาเขาก็ช่วยเราดีมาก ดำเนินการให้ ในข้อนี้มันเป็นหนึ่งสิ่งที่พิสูจน์ได้เลยว่าชุมชนดนตรีที่เราสร้างขึ้นมามันเกิดการขยายวง ปัจจุบันเรามีศูนย์ต่างๆ ในคลองเตยที่พยายามช่วยขยายเสียงให้เรา ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นคือตัวโครงการจะเรียกคนเข้ามา เด็กเดินเข้ามากันเอง โดยที่เราไม่ต้องไปตามเคาะตามฝาบ้านอีกแล้ว ทำให้เห็นว่าดนตรีคือตัวเชื่อมความสัมพันธ์ที่ทำให้ทุกองค์กรในคลองเตยมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น

ทำเพื่อตัวเองเลือกข้าง ทำเพื่อชุมชนเราอยู่ตรงกลาง

ปัจจุบันอิมมานูเอลสตริงออร์เครสตราอยู่ภายใต้มูลนิธิมิวสิกฟอร์ไลฟ์ โดยมีตัวผมเป็นประธานมูลนิธิ ผมว่ามันยิ่งใหญ่มากเลยนะครับสำหรับเด็กอายุ 26 แบบผมที่ต้องมาเป็นประธานมูลนิธิ ทุกวันนี้มีผมกับอาจารย์ดูแลที่นี่ ไม่มีองค์กรไหนเป็นเจ้าของเรา ทุกวันนี้วงการดนตรีเองก็จะมีประเภทถูกกันบ้าง ตีกันบ้าง กลุ่มไหนไม่ถูกกับใครก็ไม่ส่งเสริม ไม่ช่วยเหลือ และไม่รับการช่วยเหลือ แต่สำหรับเรา เราอยู่ตรงกลางครับ เรารับทุกที่ ใครสนับสนุนเรา เรารับหมด ไม่มีเลือกข้าง เพราะเราไม่ได้ทำงานเพื่อตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องมีฝั่ง เราทำงานเพื่อเด็กเพื่อชุมชนครับ

บนชั้นสองของอิมมานูเอลสตริงออร์เครสตรา เสียงการฝึกซ้อมไวโอลินของเด็กๆ เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งโดยมีครูต้นกล้วยเข้าประจำที่ตรงกลางวง เสียงซ้อมดนตรีที่คลองเตยนี่มันเพราะจัง

Pattrica Lipatapanlop

พัทริกา ลิปตพัลลภ (แพท) ทำงานอยู่ที่กองบก.นิตยสารเล่มหนึ่งแต่เธอไม่เคยเรียกตัวเองว่า ‘นักเขียน’ เธอเป็นแค่ ‘คนเล่าเรื่อง’ ที่สนุกกับการเดินทางลำบากเพราะไปสบายทีไรไม่เคยมีอะไรให้เขียน ดวงของเธอสมพงษ์มากกับกลุ่มคนทำงานศิลปะที่เธอเรียกว่า ‘ARTDERGROUND’ ซึ่งอาร์ตเด้อกราวด์คือพวก ‘คนมีของ’ ทำงานศิลปะจากเนื้อแท้ไม่ดัจริตเป็นอาหารจานเดียวในโลก เป็น ‘ของจริง’ ที่รอให้ใครสักคนไปขุดเจอซึ่งเธอดันชอบถือจอบด้วยสิ

See all articles