เพราะธรรมะคือธรรมชาติ..โครงการ ‘วัดบันดาลใจ’ เปิดทางคนรุ่นใหม่ร่วมคืนจิตวิญญาณให้วัดอีกครั้ง

ในสถานการณ์ที่บทบาทของ ‘วัด’ ณ ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนแปลงจากการเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนมาสู่การเป็นที่จอดรถสำหรับทำกิจธุระต่างๆ ในโมงยามที่พลุกพล่าน นำมาสู่การเกิดขึ้นของโครงการพลิกฟื้น ‘จิตวิญญาณวัด’ โดยกลุ่มสถาปนิกอาสากลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันในนามอาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม (บนความร่วมมือกับ สสส.) จัดตั้งโครงการ ‘วัดบันดาลใจ ปักหมุดภารกิจที่จะทำให้วัด ต้นไม้ และที่จอดรถกลับมาหลอมรวมอยู่ด้วยกันอย่างพอดีๆ ผ่านการปรับโครงสร้างสภาพแวดล้อม สถาปัตยกรรม ระบบการจัดการ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ภายในวัด เพื่อที่ว่าในอนาคตข้างหน้าพื้นที่ที่เรายังเรียกขานกันว่าวัดจะได้กลับมาเป็น ‘ที่พึ่งพิง’ ของผู้คนอีกครั้งในมิติที่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ และเพื่อว่าคนไทยจะได้หันหน้าเข้าหาวัดกันมากขึ้น…เหมือนอย่างในอดีต

วัด 9 แห่งที่ได้เข้าร่วมโครงการเป็น ‘ต้นแบบวัดบันดาลใจ’ ประกอบไปด้วย วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม, วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่, วัดนางชี กรุงเทพฯ, วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จังหวัดนนทบุรี, วัดภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ, วัดศรีทวี จังหวัดนครศรีธรรมราช, วัดป่าโนนกุดหล่ม จังหวัดศรีสะเกษ และวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งทั้งหมดเป็นวัดที่เจ้าอาวาสมีวิสัยทัศน์สอดคล้องกับแนวคิดโครงการ และที่สำคัญคือแต่ละวัดเองยังมีจุดเด่นที่ไม่ซ้ำกัน เช่น เป็นวัดที่เน้นสอนธรรมะ, วัดที่เน้นการปฏิบัติธรรมเผยแพร่ศาสนา, วัดที่เป็นโบราณสถานและมีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยียนมาก ฯลฯ

เมื่อได้ 9 วัดนำร่องที่พร้อมจะทำงานบ่มเพาะแรงบันดาลใจร่วมกันแล้ว ทีมสถาปนิกและนักทำงานจิตอาสาในหลากหลายอาชีพก็ได้เริ่มลงพื้นที่ในแต่ละชุมชน โดยพูดคุยกับเจ้าอาวาสและเครือข่ายของทางวัดถึงปัญหาที่เผชิญอยู่ จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ สำหรับการออกแบบจัดสรรพื้นที่ การวางระบบจัดการ รวมถึงการออกแบบกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสนอกลับไปยังเจ้าอาวาสและชุมชนเพื่อพัฒนาแนวการทำงานร่วมกันอีกครั้ง

น่าดีใจว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา ความตั้งใจดีของทีมงานชุดนี้ได้ทำให้วัดหลายๆ แห่งเกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่สัมผัสได้จริง อาทิ มีการระดมแรงปลูกต้นไม้เพื่อนำธรรมชาติและความสงบร่มรื่นกลับคืนสู่วัด มีการปรับผังโซนนิ่งในวัดใหม่เพื่อให้เอื้อประโยชน์กับผู้คนมากขึ้น มีการออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้สอดรับกับธรรมชาติและสุขภาพของพุทธศาสนิกชน ต่อเนื่องไปจนถึงการสร้างระบบจัดการเชิงก้าวหน้า เช่นระบบการแยกขยะ ฯลฯ เพื่อให้วัดเป็นต้นแบบในการรักษาสิ่งแวดล้อม ใส่ใจธรรมชาติ และเป็นแหล่งภูมิปัญญาให้กับชุมชนอย่างแท้จริง

ตัวแทนจากอาศรมสถาปนิกชุมชนฯ กล่าวถึงกระบวนการเรียนรู้และทำงานร่วมกับวัดของโครงการนี้ว่า “ได้นำมาซึ่งความเข้าใจและมิตรภาพอันดีระหว่างทั้งทีมนักออกแบบ พระสงฆ์ พุทธบริษัท และชาวบ้านภายในชุมชน” จึงนับเป็นการเริ่มต้นปูทางที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับการพลิกฟื้นวัดไทยให้กลับมามีจิตวิญญาณดั้งเดิมอีกครั้ง

ล่าสุดโครงการนี้เริ่มขยายผลและส่งแรงบันดาลใจออกไปยังวัดอื่นๆ มากมาย โดยมีวัดที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการอีกหลายสิบแห่ง รวมทั้งมีนักทำงานจิตอาสาอีกไม่น้อยที่แสดงความตั้งใจอยากช่วย “ทำอะไรให้พุทธศาสนาดูบ้าง” เพียงแต่เป็นการให้ในรูปแบบที่ต่างออกไป…ไม่ใช่แค่การบริจาคหรือถวายปัจจัยเพียงอย่างเดียว

        

อ้างอิง: วัดบันดาลใจbia.or.th

Visa Sortrakul

บรรณาธิการ tcdcconnect.com และนักเขียนอิสระ สร้างแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเมือง งานสร้างสรรค์ท้องถิ่น และการเดินทางกลับสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันหลงใหลการประยุกต์อารยธรรมโบราณและองค์ความรู้ชาวบ้านสู่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ

See all articles