ทุกสิ่งมีความเสื่อมถอยตามกาลเวลา ไม่เว้นแม้แต่สถาปัตยกรรมที่มีเวลาหมดอายุ ทั้งโครงสร้าง เปลือก และการใช้สอยเดิมที่เหมาะกับยุคสมัยหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถาปัตยกรรมเดิมไม่สามารถรับใช้กับบริบทปัจจุบันได้อีกต่อไป ทางออกคือการปรับปรุงทั้งโครงสร้าง เปลือก ที่ว่างภายใน ให้สามารถตอบสนองการใช้งานใหม่ได้ จึงเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจในกรณีที่ไม่อยากทุบทำลายทิ้ง ทำให้เรื่องราวเก่าที่บอกเล่าถึงความเป็นไปของสถานที่หายไป การปรับปรุงอาคารเปรียบได้กับการศัลยกรรม หรือเป็นการศัลยสถาปัตย์ ซึ่งเป็นอีกวิธีที่ไล่เรียงทั้งโปรแกรม เปลือก โครงสร่าง ให้มีลมหายใจใหม่ด้วยความเหมาะสม
ในพื้นที่ฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา แม้จะไม่เท่าฝั่งพระนคร ดังเช่นที่ถนนเอกชัยในย่านบางขุนเทียนกับโปรเจ็กต์ WENG’s Factory (เว้งแฟคทอรี่) ที่มีการปรับปรุงโรงงานกลึงไม้เก่าในกิจการรุ่นพ่อ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนสถานที่แห่งนี้ตกมาถึงมือรุ่นลูก หลังจากที่ปิดการใช้งานเดิมไปนาน ความตั้งใจของลูกผู้มารับช่วงต่อ คือต้องการพัฒนาที่ดินให้มีมูลค่า ไม่ให้รกร้างขาดการใช้งาน และมีโจทย์ให้สถาปนิกไปขบคิดคือ ต้องการรักษาบรรยากาศโรงงานกลึงไม้เก่าไว้ แม้จะเปลี่ยนการใช้สอยภายในไปแล้วก็ตาม
จากโจทย์ได้รับ สถาปนิก Architect Nonsense ได้เข้าไปทำการสำรวจที่ตั้งเดิม และค้นพบศักยภาพที่จะใส่วิญญาณใหม่เข้าไปบนที่ดินนี้ การปรับปรุงโปรแกรมคือเปลี่ยนจากโรงงกลึงร้างให้กลายเป็นคาเฟ่ พื้นที่ประชุม พื้นที่ปฏิบัติงานไม้ พื้นที่รองรับกิจกรรมชุมชน ในภาพรวมคือเป็นโปรแกรมของ co-working space เมื่อรับโจทย์ วิเคราะห์พื้นที่หน้างานแล้ว สิ่งที่สถาปนิกมองเห็นความเป็นไปได้ในการปรับปรุงคือทำพื้นที่ภายในให้เป็นโถงสูงโล่ง 2 ชั้นแบบลอฟท์ ซึ่งมีการระบายอากาศด้วยการใช้ฝาไหลจากไม้เดิม เก็บโครงถักไม้ไว้ให้ทำหน้าที่เดิม เพื่อคงเรื่องราวเดิมไว้ จากนั้นนำไม้เดิมรื้อแล้วนำมาเป็นประกอบขึ้นใหม่อีกครั้ง นอกจากนี้ยังสร้างลูกเล่นด้วยการนำแบบชิ้นงานหล่อโลหะอุปกรณ์เครื่องกลึง ราวไฟลูกถ้วยแบบโบราณ ซึ่งเป็นของเดิมนำมาเป็นส่วนตกแต่ง ให้ทุกชิ้นส่วนได้นำกลับมาใช้อย่างมีคุณค่าอีกครั้ง
ณ ที่แห่งนี้จึงเป็นวิญญาณใหม่ในร่างเก่า ด้วยการใช้ทรัพยากรเก่าอย่างคุ้มค่าและมีคุณค่าของเรื่องราวเดิมสู่บริบทร่วมสมัย และช่วยตอบคำถามที่สำคัญคือ จะจัดการกับสังขารเดิมอย่างไรให้เหมาะสมกับเวลาปัจจุบัน
เรียบเรียงจาก: arch.nonsense
ที่มา: archdaily
Photographs: Kunakorn Teeratititham