ปัญหาประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากการเกิดน้อยลงดูจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายมุมโลกทั้งบ้านเราและญี่ปุ่นก็เช่นกัน ในแง่ของการออกแบบสถาปัตยกรรมจึงต้องมีการรองรับประเด็นปัญหาเหล่านี้ไว้ด้วย อีกหนึ่งคำตอบที่แก้ปัญหานี้ด้วยสถาปัตยกรรมคือโรงเรียนแห่งหนึ่งในสะงะมิฮะระ ไม่ไกลนักจากกรุงโตกียว
โรงเรียนอนุบาลสึคุอิกะโอกะ (Tsukuigaoka Kindergarten) เคยมีนักเรียนจำนวนมากสุดเมื่อปี 2000 แต่หลังจากนั้นอัตราการเกิดก็ยังคงลดลง ทางโรงเรียนเคยดำเนินงานภายใต้ความคิดที่ว่าให้นักเรียนเดินทางมาเอง แต่กลับกันที่ในเวลาปัจจุบันที่อัตราการเกิดลดลงทำให้การเดินทางเปลี่ยนไปเป็นรถบัสรับส่งนักเรียนแทน เนื่องจากเมืองที่มีขนาดใหญ่และนักเรียนอยู่กระจายไปตามที่ต่างๆ จากโรงเรียนหลังเก่าที่ทรุดโทรมไปตามเวลา ทำให้เกิดการออกแบบและสร้างโรงเรียนขึ้นมาใหม่ภายใต้การออกแบบโดยสถาปนิก Naf Architect & Design โจทย์ที่สถาปนิกต้องแก้คือหาวิธีที่ให้ผู้คนรวมตัวกันง่ายขึ้น การแก้ปัญหาแรกคือการออกแบบให้มีถนนด้านหน้าทำให้รถยนต์สามารถผ่านเข้าออกได้ 2 ทาง ถนนหน้าโรงเรียนนี้แม้ว่าจะเล็ก แต่ในขณะที่ความกว้าง 6 เมตรสามารถรองรับรถสวน 2 เลนได้ พื้นที่ตรงนี้เปรียบเหมือนกับลานหน้าบ้าน ทางเข้าคือจุดเด่นของโรงเรียนนี้ จากหลังคาแหลมโค้งที่ค่อยๆ เอียงโค้งขึ้นฟ้าไปอย่างนุ่มนวลคล้ายกับงานสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นแบบประเพณี แต่หยิบจับมาใช้บางส่วนเพื่อจะบอกว่าคือทางเข้าให้สังเกตได้โดยง่าย
โรงเรียนอนุบาลแห่งนี้แม้จะมีพื้นที่ไม่กว้างขวางมาก แต่ก็ใช้สอยพื้นที่อย่างคุ้มค่า ตัวอาคารแบ่งเป็น 2 ส่วนทั้งโถงเอนกประสงค์และห้องเรียน โดยจะมีลานด้านหลังทางทิศใต้ที่สามารถรับวิวภูเขาโดยรอบได้ชัดเจน พร้อมกับรับแสงแดดทำให้เอื้อต่อการเป็นสวนสำหรับการเล่นกลางแจ้งของนักเรียนอนุบาล ส่วนของห้องโถงนอกจากจะใช้ในกิจกรรมการเรียนการเล่นสำหรับเด็กแล้ว ยังสามารถปรับการใช้งานที่รองรับกิจกรรมของชุมชนในท้องถิ่นได้อีกด้วย หรือถ้าต้องการเพิ่มพื้นที่การใช้งานก็สามารถเปิดประตูบานเลื่อนแล้วขยายการใช้งานไปยังตึกเรียนข้างๆ วิธีคิดเหล่านี้ช่วยให้โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนด้วยการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันด้วยการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
แม้ว่าโรงเรียนนี้จะมีผนังกระจกเยอะแต่ก็มีการออกแบบที่คิดเผื่อไว้ โดยพื้นกระจกด้านล่างตั้งแต่เอวเป็นต้นไปจะมีลักษณะขุ่น และเหนือเอวจะเป็นกระจกใสทำให้เกิดภาวะการมีความเป็นส่วนตัว สร้างสมาธิให้แก่นักเรียนได้มากขึ้น พร้อมไปกับรับแสงจากธรรมชาติไปพร้อมกัน
คำตอบของการปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมให้เหมาะสมกับยุคสมัยและพฤติกรรมผู้คน ทำให้โรงเรียนเป็นมากกว่าแค่พื้นที่การเรียนรู้ แต่ยังเชื่อมชุมชนเข้าด้วยกัน ทำให้สถาปัตยกรรมยุคใหม่ไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานแบบโดดเดี่ยวอีกต่อไป
แปลและเรียบเรียงจาก: www.archdaily.com
ที่มา: www.naf-aad.com, www.japan-architects.com