เก่า-ใหม่ ก็ไปด้วยกันได้ ต้นไม้อายุกว่า 700 ปีกลางสถานีรถไฟฟ้าคะยะชิมะในญี่ปุ่น

เมื่อเกิดสถาปัตยกรรมขึ้น เราต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเข้ามาแปลงเป็นสิ่งก่อสร้างจากฝีมือมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายคำตอบได้ถูกเสนอให้เห็นแล้วว่าสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยทำลายธรรมชาติให้น้อยที่สุด อย่างในกรณีที่ตั้งมีต้นไม้อยู่เดิม แต่การที่ต้องออกแบบให้หลบหลีกต้นไม้นั้นเป็นไปได้ยาก การเลือกที่จะโค่นต้นไม้เพื่อหลีกทางให้สถาปัตยกรรมจึงเกิดขึ้นเสมอ คำถามต่อมาคือมันสามารถหลีกเลี่ยงได้หรือไม่

สำหรับสถานีรถไฟฟ้าคะยะชิมะ (Kayashima Station) โอซะกะ ประเทศญี่ปุ่น มีคำตอบของการปะทะกันระหว่างต้นไม้เก่าอายุกว่า 700 ปี และสถาปัตยกรรมที่มาภายหลังด้วยการออกแบบ ตัวสถานีคะยะชิมะนั้นเริ่มเปิดใช้งานเมื่อปี 1910 จบจวนเมื่อเมืองโอซะกะขยายตัว จึงมีโครงการที่ขยายสถานีออกไปยังพื้นที่ข้างเคียงในยุค 1970 ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบกับต้นไม้ประจำศาลเจ้าที่คาดว่าอายุกว่า 700 ปี ทางเลือกแรกที่เกิดขึ้นคือการย้ายต้นไม้ แต่ต้นไม้คือธรรมชาติ และพื้นฐานของญี่ปุ่นคือศาสนาชินโตที่มีความเชื่อมโยงกับคะมิ หรือเทพในธรรมชาติอยู่แล้ว การให้ความเคารพต่อธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่ผู้คนในชุมชนให้ความสำคัญยิ่ง

ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นคือการออกแบบให้ก่อสร้างสถานีโอบล้อมต้นไม้อายุเก่าแก่นี้ไว้ โดยตัดแต่งกิ่งก้านให้สอดทะลุรับกับช่องที่ออกแบบเตรียมไว้ โดยต้องออกแบบให้ยอดทะลุพ้นส่วนร่มเงาสถานี เพื่อให้ใบสามารถรับแสงแดดได้ ไม่อย่างนั้นเต้นไม้จะเฉาจนตาย เพราะต้นไม้ชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นที่ปลูกกลางแจ้ง ทำให้การปะทะกันของสิ่งเก่าทั้งต้นไม้ ศาลเจ้าคะชิวะจิมะ และสิ่งใหม่คือสถานีอยู่ร่วมกันเป็นเนื้อเดียวกัน โดยไม่จำเป็นให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำลายกัน

หลังจากที่สถานีคะยะชิมะสร้างเสร็จในปี 1980 ยังเปิดใช้งานจนปัจจุบันนี้ และพิสูจน์ว่าสถาปัตยกรรมที่เพิ่งเข้ามาใหม่ และธรรมชาติที่อยู่ก่อนมานาน จะสามารถอยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูลนั้น มันเป็นไปได้หรือไม่

อ้างอิง: mymodernmet.comwww.thisiscolossal.com

Tags

Tags: , ,

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles