Winnie the Pooh ฉบับ Deforested Edition สุดเศร้าป่าร้อยเอเคอร์เหลือแต่ตอ!!

นอกจากช่วงช่วงกับหลินฮุ่ยแล้ว อีกหนึ่งหมีที่โด่งดังไม่แพ้กันก็คือ หมีพูห์ หรือ วินนี-เดอะ-พูห์ (Winnie-the-Pooh) ตัวละครหมีจากผลงานวรรณกรรมของ เอ. เอ. มิลน์ นั่นเอง ว่าด้วยเรื่องราวของหมีผู้ใสซื่อกับผองเพื่อนสุดน่ารัก โดยมีฉากหลังเป็นผืนป่าร้อยเอเคอร์ซึ่งทำให้เราได้เห็นภาพประกอบแสนสบายตาที่มีดอกไม้ พุ่มไม้ ต้นไม้ ท้องฟ้า และทุ่งหญ้า สอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเล่ม 

แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าต้นไม้พรรณไม้ต่างๆ ถูกตัดไปจนเหี้ยนเตียนเหลือแต่ตอ!?

นี่คือคำถามสุดท้าทายที่ถูกทำให้เห็นเป็นภาพชัดๆ ด้วยผลงาน Winnie the Pooh ฉบับ Deforested Edition หรือฉบับถูกตัดไม้ทำลายป่า เป็นแคมเปญพิเศษจากบริษัทผลิตกระดาษทิชชูรักษ์โลก ชื่อว่า Who Gives A Crap ซึ่งผลิตกระดาษทิชชูจากกระดาษรีไซเคิล และจากการใช้เยื่อกระดาษจากไผ่ ซึ่งเป็นไม้ที่เติบโตเร็วตามธรรมชาติและนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว 

เพราะในกระบวนการผลิตกระดาษทิชชูแบบดั้งเดิมนั้นจะใช้เยื่อกระดาษบริสุทธิ์ 100% ที่ทำมาจากต้นไม้ โดยทั่วไปต้นไม้ 1 ต้นจะผลิตทิชชูได้ประมาณ 50 กิโลกรัม ดังนั้นยิ่งเราใช้กระดาษทิชชูมากเท่าไรก็ยิ่งต้องตัดต้นไม้มากขึ้นเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการคิดค้นนวัตกรรมการใช้เยื่อกระดาษเวียนใหม่ (Recycle Pulp) ซึ่งได้มาจากการรีไซเคิลกระดาษเก่า ทำให้ลดการตัดต้นไม้ และทรัพยากรต่างๆ ในขั้นตอนการผลิตได้มากมาย นอกจากนี้ก็มีการใช้เยื่อกระดาษบริสุทธิ์จากต้นไม้ที่มาจากป่าปลูกเอง ซึ่งต้องได้รับการดูแลตามมาตรฐานสากล มีการควบคุมการปลูกต้นไม้ การใช้สารเคมี รวมไปถึงการดูแลดิน น้ำ สัตว์ป่า และชุมชนที่อยู่รอบๆ ด้วย 

โดย Winnie the Pooh ฉบับ Deforested Edition นี้มีเนื้อเรื่องเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่ปรับเปลี่ยนภาพประกอบใหม่ ให้ต้นไม้ทุกต้นในป่าร้อยเอเคอร์ถูกตัดจนเหลือแต่ตอทุกต้น! เป้าหมายหลักคือกระตุ้นให้ผู้อ่านตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้ป่าไม้ ที่มักจะถูกตัดทำลายไปด้วยหลากหลายเหตุผล หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมการผลิตกระดาษทิชชูนั่นเอง 

หนังสือชุดพิเศษนี้นอกจากมีฉบับดิจิทัลให้โหลดทางเว็บไซน์ได้แล้ว ก็มีฉบับตีพิมพ์เป็นเล่มในจำนวนจำกัด โดยใช้กระดาษรีไซเคิลและกระบวนการผลิตที่สร้างคาร์บอนฟุตพรินท์น้อยที่สุด (ตอนนี้ขายหมดเกลี้ยงไปเรียบร้อย) ต้องบอกก่อนว่างานนี้ไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของผลงาน แต่ไม่ถือเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพราะ(เราก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่า)ผลงานวรรณกรรมชิ้นนี้ได้กลายเป็นสาธารณสมบัติไปแล้วตั้งแต่ปี 2022 เพราะครบกำหนดอายุการคุ้มครองสิทธิซึ่งจะมีผลต่อไปอีก 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตแล้ว (แต่หมีพูห์เวอร์ชันของดิสนีย์ยังได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์อยู่)

จากนี้ไปภาพหมีพูห์ที่นั่งเคว้งคว้างอยู่บนตอไม้ คงช่วยเตือนใจให้เราหยิบกระดาษทิชชูมาใช้อย่างประหยัดและระมัดระวังมากขึ้นในทุกๆ ครั้ง

ป่าร้อยเอเคอร์เวอร์ชั่นต้นฉบับ

ป่าร้อยเอเคอร์เวอร์ชั่นถูกตัดไม้ทำลายป่า

 

อ้างอิง: winniethepooh.whogivesacrap.org

วนัทยา มงคล

อดีตกองบก.นิตยสาร GM Plus และ DDT ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ ชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อโลก

See all articles