สถาปัตยกรรมประเภทบ้านของจีนประกอบด้วยสิ่งที่เรียกว่าคอร์ต หรือลานที่ล้อมด้วยผนังอย่างเป็นเอกลักษณ์ แม้ว่าความเป็นอยู่สมัยใหม่ของจีนจะขาดพื้นที่ตรงนี้ไปตามการใช้สอยแบบวิถีชีวิตใหม่ แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรมอยู่เสมอ
ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน มีการปะทะกันของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยและบ้านจีนโบราณอายุกว่า 300 ปี มันคือการปะทะกันของ 2 กาลเวลา และในทางออกที่สถาปนิกนำเสนอคือการอยู่กับอดีตโดยไม่ต้องลอกเลียนอดีตกับงานโรงเรียนอนุบาลหยูเฉิง (YueCheng Courtyard Kindergarten) ออกแบบโดย MAD Architects ในปี พ.ศ. 2560 สถาปนิกนำเสนอความโหยหาของเด็กๆ ด้วยจินตนาการในวัยเด็กของเขาเองคือ อิสรภาพไร้ขีดจำกัดให้กับโรงเรียนนี้
บริบทเดิมที่น่าสนใจคือบ้านเก่ามีคอร์ต ที่เรียกในชื่อจีนว่า ‘ซื่อเหอหยวน’ หมายถึงลานกว้างที่ล้อมรอบด้วยอาคารทั้งสี่ด้าน และมีคอร์ตใหม่เพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง สถาปนิกเลือกที่จะลบคอร์ตใหม่ออก เก็บไว้แต่คอร์ตดั้งเดิม 3 แห่ง และเติมพื้นที่ให้เด็กเล่นด้วยการสร้างลานเล่นที่เป็นหลังคาลอยได้ ซึ่งถูกออกแบบให้เชื่อมกับทุกส่วนของโรงเรียนนี้
ที่ระดับชั้น 1 สถาปนิกออกแบบลานเป็น 3 แห่ง พร้อมกับเก็บต้นไม้เก่าไว้ และเลือกเจาะช่องสู่ท้องฟ้าเพื่อรับแสงธรรมชาติและทำให้เกิดการระบายอากาศที่ดีในห้องเรียน การออกแบบพื้นที่ห้องเรียน กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมสร้างสรรค์นอกหลักสูตรอื่นๆ ตัวโรงเรียนใหม่ออกแบบให้เกือบแตะบ้านเก่าเท่านั้น ทำให้ของเดิมยังคงอยู่และสิ่งใหม่ก็สามารถใช้งานไปพร้อมกันได้ พื้นที่ลานลอยฟ้าในแง่การใช้สอยมันคือหลังคาที่ปกคลุมอาคารที่อยู่ชั้น 1 เพื่อป้องกันทั้งแดดฝนลม และสิ่งที่ทำให้งานนี้น่าสนใจคือการใช้หลังคา ที่ไม่เพียงทำหน้าที่ครอบคลุมอาคาร แต่ยังเป็นพื้นที่เล่นของเด็กอย่างลื่นไหลและเสริมจินตนาการด้วยสีสันสดใสสอดรับกับช่วงวัยของเด็กอนุบาลที่สามารถเรียนรู้ได้เร็วถ้าใช้สีสันที่หลากหลายและชัดเจน
แม้รูปทรงของหลังคาใหม่นี้จะดูแปลกแยกออกจากภาพรวมของบริบทโดยรอบ แต่การจำกัดความสูงเมื่อมองจากภายนอกที่ทำให้มองเห็นว่ามันแปลกแยกจากสภาพแวดล้อมโดยรอบ ทำให้มี 2 มุมมองคือมุมมองจากการใช้งานภายในโรงเรียนก็จะพบกับความสนุกสนานจากทั้งพื้นผิวรูปทรงและสีสัน โดยอีกมุมมองคือถึงแม้จะเป็นสิ่งใหม่ที่ดูขัดแย้งกับสิ่งเก่าอย่างสิ้นเชิงแต่ก็อยู่ร่วมกันได้ด้วยการสร้างเงื่อนไขทางความสูงเพื่อรักษาผลกระทบทางสายตานั่นเอง
งานออกแบบชิ้นนี้จึงเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่สามารถตอบได้ทั้งประเด็นที่เก่าและใหม่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร และพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กวัยอนุบาลมีความเป็นไปได้ในรูปแบบไหนบ้าง
แปลและเรียบเรียงจาก: www.archdaily.com
ที่มา:www.dezeen.com, www.i-mad.com