พื้นที่ตรงกลางระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ มีสัดส่วนที่แตกต่างกันอย่างมาก การที่จะออกแบบสถาปัตยกรรมให้สามารถใช้เชื่อมกันระหว่างสองวัยได้จึงมีประเด็นที่ต้องให้คำนึงถึงหลายอย่าง เพราะมุมมองต่อพื้นที่เดียวกัน วัยผู้ใหญ่และเด็กไม่ได้มีการรับรู้ที่เท่ากัน แต่เมื่อปัญหามีไว้แก้ไข คำถามคือเราสามารถออกแบบเพื่อแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง
ณ Evergreen International Kindergarten โรงเรียนอนุบาลที่เช่อชาน ย่านชานเมืองของนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน มีคำตอบอีกแบบให้ จากฝีมือการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในจาก Elto Consultancy ที่ต้องการสร้างสถานที่ที่ให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน และเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดเล็กสำหรับเด็กในเวลาเดียวกัน นักออกแบบลงมือไปสำรวจเสภาพการใช้งานในท้องถิ่นว่านักเรียน ผู้ปกครอง และครูใช้พื้นที่อย่างไรกันบ้าง นักออกแบบเสนอพื้นที่ใช้ร่วมกันคือคาเฟ่ที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางของทุกฝ่าย ให้ผู้ปกครองสามารถมารอเด็กได้อย่างสบาย ไม่รู้สึกอึดอัด พร้อมกับพื้นที่ส่วนภายในของเด็ก ซึ่งเป็นส่วนหลัก การออกแบบบรรยากาศด้วยแนวคิดการสร้างความรู้สึกให้เหมือนกับอยู่บ้านและอบอุ่น นักออกแบบจงใจทำให้พื้นที่ทั้งหมดกลายเป็นของเล่นขนาดใหญ่โดยการวางสไลเดอร์โค้งไว้กลางของพื้นที่ส่วนกลาง ด้วยรูปทรงโค้งชวนเล่น มันส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ๆ ให้เข้าไปใช้งาน การออกแบบให้พื้นที่เล่นต่างไปจากโรงเรียนแบบเดิม ๆ เน้นให้เด็กเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ผ่านการเล่น ทั้งการเล่นกับเบาะสีฟ้า สีน้ำเงิน ที่ชวนจินตนาการได้หลายแบบ หรือเป็นการเข้าไปเล่นกับบ้านหลังเล็กที่มีสัดส่วนพอดีกับตัวเด็ก เป็นของเฉพาะเด็กจริง ๆ ซึ่งการคิดถึงความเฉพาะของเด็กได้เป็นสิ่งที่นักออกแบบได้คำนึงถึงในประเด็นอื่น ๆ ด้วย ทั้งการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับเด็ก การใช้สัดส่วนเฟอร์นิเจอร์ตามสเกลเด็ก ตำแหน่งของปลั๊ก สวิทซ์อยู่ในตำแหน่งที่เด็กยากจะเข้าไปแตะต้องเพื่อความปลอดภัย
จุดยากของงานนี้คือผนังและหน้าต่างที่เอียง แต่นักออกแบบทำให้มันส่วนหนึ่งของงานจากการเติมพื้นที่ป่ายปีนในระดับหลายความสูงของหน้าต่างที่เชื่อมไปยังภายนอก พร้อมไปกับ เน้นการใช้แสงธรรมชาติเข้ามาสร้างอบอุ่น และการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ แค่คิดเปลี่ยน งานก็เปลี่ยนแล้ว
อ้างอิง: www.eltoconsultancy.com, worldarchitecture.org, www.designboom.com