‘รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา’ การมีสุขภาวะดีคือการมีพื้นที่สาธารณะที่ดีมีคุณภาพ

บทสนทนาระหว่างเรากับ รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ผู้อำนวยการศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมืองและหัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้ ว่าด้วยเรื่องบทบาท กระบวนการทำงาน รวมทั้งโครงการต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินการของ ‘ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง’ อันเป็นหนึ่งในโครงการเสริมสร้างสุขภาวะในบริบทเมือง นอกจากหน้าที่ในการพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เมืองเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพกายและใจที่มีคุณภาพแล้ว องค์กรที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แห่งนี้ยังผลักดันกลยุทธ์ นโยบาย ไปจนถึงการออกแบบพื้นที่สุขภาวะเชิงสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เมืองเพื่อสุขภาพดีทั้งกายและใจ

“ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง หรือ Healthy Space Forum เริ่มต้นประมาณปี 2554 ช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ โดยช่วงเวลานั้น ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับทีมงานของทาง สสส. ทีมอัพโปรเจ็กต์ ‘รู้ทันน้ำ’ ขึ้นมา ด้วยความรู้ของภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ก็ได้เผยแพร่ออกไปว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความเสี่ยงในบริเวณใดบ้าง แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร จากตรงนั้น ก็มีการพูดคุยกันว่า การออกแบบและการวางแผนในเชิงพื้นมีผลต่อระบบสุขภาวะของคนที่อยู่ในเมือง หลังจากนั้นอีก 2 ปี เราจึงร่วมกับทาง สสส. ทำโครงการศูนย์นี้ขึ้นมา จนตอนนี้ก็ทำมาถึงเฟสที่ 3 แล้ว”

หาความรู้ ทดลอง และพัฒนา

“ในเฟสที่ 1 เป็นกระบวนการหาความรู้ ซึ่งอย่างแรกเราต้องมี know how ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาวะเมืองก่อน เราต้องทำความเข้าใจว่า เรื่องของสุขภาวะเมืองที่ดีในหัวของคนไทยมักจะมองในลักษณะของความเป็นอยู่ การกินดีอยู่ดี ซึ่งไม่ตรงกับแนวคิดของสากลนัก คนไทยยังคิดว่าการมีเรื่องสุขภาวะดีเป็นเรื่องของบุคคลที่แต่ละคนจะต้องไปหาทางที่จะมีสุขภาวะดีกันเอาเอง แต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว การสร้างสุขภาวะเมืองที่ดีเป็นหน้าที่สำคัญของหน่วยงานรัฐและหน่วยงานภาคประชาสังคมที่จะต้องจัดหาหรือพยายามส่งเสริมให้ประชาชนมีเรื่องของสุขภาวะที่ดี เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราพยายามจะผลักดันก็คือ ประเทศไทยยังขาดแคลนพื้นที่ที่นำมาซึ่งการมีสุขภาวะดี เราจึงพยายามจัดหาพื้นที่เหล่านั้นเพราะว่าสุดท้ายแล้ว ต่อให้ส่งเสริมสุขภาวะอย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถที่จะมีพื้นที่รองรับตรงนั้นได้

แนวคิดในช่วงเฟสแรกที่เราทำมาก็คือ การมาดูว่าองค์ความรู้ของการมีพื้นที่ที่มีสุขภาวะดีจะต้องเป็นอย่างไร เราเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ไปสู่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการออกบทความ ผลการศึกษาต่าง ๆ ว่าสถานการณ์ของประเทศไทยในเรื่องของสุขภาวะเป็นอย่างไรบ้าง ตัวอย่างเช่น การบริหารจัดการน้ำ ตรงไหนที่น้ำจะท่วม ตรงไหนที่น้ำจะไม่ท่วม รูปแบบของการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างไร คุณจะอยู่ที่ไหนที่น้ำไม่ท่วม เรามีพื้นที่สีเขียวมากเพียงพอหรือเปล่า”

“ในเฟสที่ 2 ที่เราพยายามผลักดันโดยนำความรู้เหล่านั้นมาทำลงพื้นที่ ซึ่งคาบเกี่ยวกันระหว่างเฟสแรกกับเฟสที่ 2 เฟสแรกเรามีสวนสาธารณะอยู่หลายแห่งที่เราเริ่มทำ ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะบริเวณข้างสถานีรถไฟฟ้าบางหว้า ซึ่งเป็นสวนที่กลับวิธีคิดของเราเกือบทั้งหมด เพราะเดิมพื้นที่นี้คือเศษที่ของกรมทางหลวงชนบทตอนที่สร้างถนนราชพฤกษ์ จะต้องเวนคืนพื้นที่ แล้วเวลาเวนคืนที่ก็จะมีเวนคืนโดนที่ดินแปลงนี้ไปอีกเยอะหน่อย เจ้าของเดิมเขาบอกผมไม่อยู่แล้วคุณต้องเอาไปทั้งหมด ก็จะเหลือเศษที่เหล่านี้ และเศษที่ก็ถูกขอมาใช้งานสวนสาธารณะซึ่งแต่เดิมเป็นสวนสาธารณะอยู่แล้ว ตอนที่เรารับมอบหมายเราก็งง ๆ ว่ามันก็เป็นสวนสาธารณอยู่แล้วนะ มีพื้นที่สีเขียว เป็นหญ้า เป็นเนินอะไรต่าง ๆ มากมาย แล้วก็มีลานปูนที่ทุกเย็นจะมีคนมาเต้นแอโรบิค เราคิดว่าสวนสาธารณะควรเป็นพื้นที่สีเขียว แต่พอผลงานออกแบบของเรามา เราเอาพื้นที่สีเขียวออกเกือบหมดเลย แล้วทำเป็นสนามฟุตบอลขนาดเล็ก สนามตะกร้อ สนามแบดมินตัน ซึ่งสามารถสลับการใช้งานกันได้ โดยใช้ม่านเหล็กรูดเปิดปิด จากเดิมที่คนมาเต้นแอโรบิคตอนเย็นเป็นคุณลุงคุณป้าแถวนั้น แค่นั้นแล้วก็จบ คนอื่นใช้ไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นลานเดียว กลายเป็นว่าตั้งแต่บ่าย 3 เด็กนักเรียนโรงเรียนแถวนั้นเลิกก็มาเตะฟุตบอลกัน แล้วขยายเวลาการใช้งานไปจนถึงประมาณ 2 ทุ่ม จากบทเรียนที่เราได้รับตรงนี้แสดงว่าคนไม่ได้ต้องการพื้นที่สีเขียวในฐานะที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่คนต้องการลานกิจกรรม ซึ่งเราจะทำอย่างไรที่จะมีพื้นที่แบบนี้ขึ้นมา เพราะพื้นที่ลักษณะนี้จะส่งเสริมให้คนมีสุขภาวะที่ดีตามไปด้วย”

‘ศิลปะ พา ข้าม’ กับแนวคิด ‘ศิลปสาธารณะ’ ที่ใช้ศิลปะเพื่อประโยชน์ต่อมวลชน

“นอกจากสวนสาธารณะแล้ว เราพบว่ายังมีพื้นที่สาธารณะอีกมากมาย เราจึงมุ่งไปที่พื้นที่อื่น ๆ ด้วย เช่น โครงการ ‘ศิลปะ พา ข้าม’ หรือ Art and Crossing หนึ่งในผลงานภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่มีความยืดหยุ่นต่อกิจกรรมที่หลากหลายภายในบริบทเมือง เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สสส., ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมืองเป็นผู้ดำเนินการออกแบบและจัดทำ โดยใช้แนวคิดศิลปะสาธารณะในการพัฒนาโครงการ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์รับรู้ถึงทางข้ามได้ชัดเจนขึ้น ช่วยชะลอการสัญจรให้ช้าลง ส่งเสริมการเดินข้ามถนนที่ปลอดภัย ไปจนถึงสร้างความเป็นมิตรระหว่างพาหนะและผู้ใช้ทางเท้า”

“การทำโครงการนี้ทำให้เราไปสำรวจบริเวณทางเท้าและพบว่า ทางเท้ารูปแบบเดิม คนมักเดินไม่อยากข้าม คนขับรถก็ไม่รับรู้ว่าอยู่ตรงไหน ฉะนั้น ทางเท้าในรูปแบบใหม่ที่มีงานศิลปะน่าจะสามารถทำให้เมืองดีขึ้นได้ ทั้งในแง่ความปลอดภัย การรับรู้ และความงามของเมือง โดยเราเริ่มต้นที่สยามสแควร์ มาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต บริเวณทางข้ามหลักและขยายไปสู่พื้นที่ซึ่งเป็นลานระหว่างหอพัก 2 หลัง เป็นลานที่เด็ก ๆ มาใช้งานกัน เราตั้งเป้าหมายว่าการขีดสีขีดเส้นลักษณะนี้ เราสามารถจะมีกิจกรรมได้มากกว่า 40 ประเภท บนพื้นที่เล็ก ๆ นี้ได้ด้วยการเล่นตามสีที่เราวางไว้”

https://www.facebook.com/HealthySpaceForum/videos/1145693425570866/

‘โต๊ะประชุมยืน’ ทางเลือกลดพฤติกรรมนั่งติดโต๊ะ ห่างไกลโรค NCDs

“โต๊ะประชุมยืนเกิดขึ้นจากการที่เราพบว่า โลกเขาใช้โต๊ะประชุมยืนด้วยเป้าหมายเพื่อให้สามารถจบประชุมได้เร็วขึ้น แต่สิ่งที่เราทำ นอกจากเพื่อให้การประชุมจบเร็วขึ้นแล้ว เราอยากออกแบบโต๊ะที่จะช่วยให้คนสามารถมี physical activity เพื่อลดพฤติกรรมเหนื่อยนิ่งได้ ดังนั้น โต๊ะประชุมยืนถูกออกแบบให้ใช้งานแบบอเนกประสงค์ โดยปรับระดับขึ้นลงได้ ใช้นั่งก็ได้ ใช้ยืนก็ได้ เราออกแบบให้ขนาดเหมาะสมกับการนำแล็บท็อป สมุด หนังสือ อุปกรณ์ในการทำงานต่าง ๆ มายืนทำงานได้”

“เพราะฉะนั้น มันจะถูกวางไว้ตามล็อบบี้ของตัวอาคารสำนักงาน หรือโคเวิร์กกิ้งสเปซต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถใช้สำหรับพักผ่อนในยามทำงาน ยืนจิบกาแฟ คุยกับเพื่อนในห้องพักผ่อนของหน่วยงานได้ด้วย ฉะนั้น แทนที่จะนั่งติดเก้าอี้อยู่ตลอดเวลา คุณก็เปลี่ยนที่นั่ง มีการเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นงานที่ไม่ต้องใช้งบประมาณขนาดใหญ่ ไม่ต้องลงทุนเยอะ ไม่ต้องเสียเวลารอการสร้างจนเสร็จ และเป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าทุกคนทำได้ ไม่จำเป็นจะต้องมีชุดวิ่งสวยๆ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่อะไรต่างๆ มากมาย แต่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ในการออกแบบโต๊ะดังกล่าว เราไม่ได้คิดว่าโต๊ะนี้จะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาของโรค แต่เราคิดว่านี่คือส่วนหนึ่งที่จะเป็นทางเลือกที่คุณสามารถเลือกเพื่อสุขภาวะของคุณได้”

สร้างสุขภาวะเมืองที่ดีด้วยการทดลองแบบ City Lab

“ในการเก็บข้อมูลจะมีอยู่ 2 เงื่อนไขที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตัวโครงการ ถ้าเป็นโครงการที่ทางทีมภาคีต้องการให้เราช่วยออกแบบ เขาจะเก็บข้อมูลมาอยู่แล้ว จะรู้ว่าคนในพื้นที่ใช้อะไรบ้าง ต้องการอะไร หน้าที่ของเราคือการมาร่วมออกแบบ กับอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นวิธีการพัฒนารูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการที่เราใช้กับย่านสีลม เราได้ไปร่วมกับกลุ่มภาคีคนรักสีลม ซึ่งประกอบด้วย 14 อาคารใหญ่บนถนนสีลมที่เขาพบว่าสีลมมีปัญหาเรื่องพื้นที่สาธารณะค่อนข้างมาก แต่ไม่สามารถจะสร้างอะไรได้ ฉะนั้น วิธีการของเราคือการเก็บข้อมูลก่อนว่ามีปัญหาอะไร จากนั้นจึงทำม็อคอัพ เช่น พื้นที่นี้ต้องการพื้นที่สีเขียว เราอาจจะเอาต้นไม้ที่เป็นกระถาง เก้าอี้ที่นั่งชั่วคราวไปตั้ง โดยขออนุญาตกรุงเทพมหานคร 2 อาทิตย์ ในการนำไปติดตั้ง หรือถ้าตรงนี้ขาดมุมนั่งพัก มุมนั่งอ่านหนังสือ เราก็นำตู้ใส่หนังสือแบบโมบายไปตั้งไว้ แล้วก็ใช้เวลา 2 อาทิตย์ ให้คนใช้เพื่องานเก็บข้อมูล โดยเราจะเป็นแกนทดลอง จากนั้นจึงรายงานผลไปยังกลุ่มภาคีเครือข่ายและกรุงเทพมหานครว่าการใช้แบบนี้มีผลดีผลเสียอย่างไรบ้าง ถ้าคนจะไปทำต่อก็ไปงอกเงยกันว่าจะเป็นใคร สิ่งที่เราทำอยู่คือการทดลองในรูปแบบที่โลกเรียกกันว่า City Lab นั่นคือการใช้เมืองเป็นพื้นที่ในการทดลองกับเป้าหมายของเรา ทดลองเพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดี”

ถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้อง สิ่งที่ขาดหายในสังคมไทย

สุขภาวะเมืองที่ดีจะมีเกณฑ์ซึ่งเป็นมาตรฐานโลกอยู่ นอกจากจะต้องมีพื้นที่สีเขียว คุณภาพอากาศ และคุณภาพน้ำตามข้อกำหนดแล้ว สิ่งที่จะต้องคิดมากกว่านั้นก็คือ ‘ตัวชี้วัด’ การเป็นเมืองสุขภาวะดีที่จะแปรผันไปตามลักษณะของแต่ละเมืองด้วย

สำหรับประเทศไทย จากที่เราทำงานมาสามารถบอกได้เลยว่า ประเทศไทยอาจเป็นผลไม้ที่สุกเร็วเกินไป เราเจอหลาย ๆ พื้นที่ ได้เห็นอะไรหลายอย่าง เอาจริง ๆ โครงสร้างพื้นฐานที่จะมีชีวิตได้อย่างตามเกณฑ์มาตรฐานเรายังไม่มีครบเลยนะ อีกอุปสรรคคือคนส่วนใหญ่คิดว่าการมีสุขภาวะดีเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนร่วม ดังนั้น วิธีคิดของคนไทยก็คือ คุณจะมีสุขภาวะดีได้ก็ด้วยตัวของคุณเองนะ ฉันทำงาน หาเงินเยอะ ๆ แล้วฉันมาซื้อสุขภาพดี ไม่ว่าจะซื้อด้วยการทำตัวเองให้มีสุขภาพดี การซ่อมบำรุงสุขภาพของตัวเอง คนไทยไม่เรียกร้องให้รัฐจัดหาให้ เมื่อไม่เรียกร้อง ก็กลายเป็นว่า ให้อะไรมาก็เอา แต่ถามว่าให้อะไรมาถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องหรือเปล่า ก็เปล่า”

“ตอนนี้เราจึงพยายามทำตัวแคมเปญเพื่อเสนอกรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าสวนสาธารณะที่เหมาะสมไม่ใช่สวนสาธารณะที่คุณทำอยู่ขณะนี้ สวนสาธารณะที่คุณทำกันอยู่จะทำสำหรับเฉพาะคนที่ร่างกายแข็งแรงและมนุษย์เท่านั้นใช้งานได้ ขณะที่สวนสาธารณะซึ่งอยู่ในโลกจะมีส่วนหนึ่งที่คนเลี้ยงสัตว์สามารถพาสัตว์เลี้ยงของเขาไปออกกำลังได้โดยไม่รบกวนกับคนอื่น เราจะมีพื้นที่ที่คนสามารถไปซ้อมและเล่นแซกโซโฟนได้ เพราะซ้อมที่บ้านจะไปรบกวนคนอื่น พื้นที่สามารถจัดปิ้งย่าง ทำบาร์บีคิวได้ มีสนามเด็กเล่นที่พ่อแม่พาลูกไปหัดเดินครั้งแรกได้โดยไม่ต้องกลัวรถจักรยานที่ขี่เร็ว ๆ ในสวนจะมาชน มีพื้นที่ที่ถ้าคุณอยากนอนอ่านหนังสือ นั่งสมาธิ เล่นโยคะ คุณจะสงบพอ แต่เราไม่เคยคิดแบบนั้น เรามีสวนสาธารณะแบบแค่จัดให้มีก็พอแล้ว อันนี้คือสิ่งที่เราคงต้องคิดว่าการมีสุขภาวะที่ดีคือการที่มีพื้นที่ตามอัธยาศัยของแต่ละคนโดยที่รัฐจัดหาให้อย่างเหมาะสม แบบไม่ต้องไปจ่ายเงินให้เอกชน แต่จ่ายเงินให้กับรัฐในนามภาษีอากร ทุกคนช่วยกันเฉลี่ยและได้รับบริการกลับมาอย่างเหมาะสม”

ชี้ถูก ชี้ผิด ชี้ทิศทางที่เหมาะให้สังคม

“นอกจากนี้ เรายังพบว่าการสร้างพื้นที่ดังกล่าวก็เพราะคนไทยคิดว่าอยากได้พื้นที่ใหญ่ ๆ ถามว่าคนกรุงเทพฯ ชื่นชมไหมกับการมีสวนลุมพินี สวนรถไฟ สวนจัตุจักร ที่มีขนาดใหญ่ ทุกคนชื่นชม แต่ถามว่าคุณได้ใช้ไหม มันอยู่ไกลเกินกว่าที่คุณจะใช้งานนะ เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องย้อนกลับมาคิดใหม่ว่าในการมีอยู่นั้น คนสามารถเข้าถึงการใช้งานได้จริงไหม อย่างหนึ่งที่เราพยายามจะผลักดันคือการชี้ถูก ชี้ผิด ชี้ทิศทางที่เหมาะสมให้กับคนในสังคม เราพยายามบอกว่าการส่งเสริมกีฬาของรัฐในประเทศไทยกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ผิด ส่งเสริมความเป็นเลิศทางกีฬา แต่มีคนน้อยมากที่จะเดินทางไปเล่นกีฬา เรานั่งชื่นชมกับคนที่เป็นเลิศทางกีฬาด้วยการดูทีวี เรานั่งเฉย ๆ ดื่มน้ำอัดลม กินป๊อบคอร์นไปเรื่อย ๆ เราอ้วนขึ้นเรื่อย ๆ แต่กลับไม่ได้รับการส่งเสริมให้ประชาชนได้ทำกิจกรรมด้วยตัวเอง เราพบว่าการที่รัฐส่งเสริมด้วยการถ่ายทอดกีฬา ผลที่ตามมากลับกลายเป็นว่าเรื่องการพนันและยาเสพติดที่เพิ่มขึ้น ประเทศที่ไม่ได้มีเงินเยอะอย่างเรา ควรจะผลักดันให้การเป็นเลิศทางกีฬาเป็นหน้าที่ของเอกชน ขณะที่รัฐมาทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีแทน”

สร้างสรรค์+สุขภาพ = พื้นที่แห่งอนาคต 

“ในฐานะคนวางผังเมือง พื้นที่ต่อไปในอนาคตจะต้องเป็นพื้นที่ที่ต้องมีความยืดหยุ่นสูง เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และสร้างสุขภาพที่ดีไปในตัว คุณจะเห็นว่าสำนักงานรูปแบบใหม่จะไม่ใช่ห้องสี่เหลี่ยมและมีโต๊ะทำงาน แต่จะเป็นพื้นที่ที่คนได้ขยับร่างกาย ได้ใช้ชีวิตในพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นและเกิดกิจกรรมต่าง ๆ ในฐานะคนที่เรียนทางด้านออกแบบ ทุกคนรู้อยู่เสมอว่าผลงานออกแบบไม่ได้เกิดจากการนั่งที่โต๊ะ แต่เกิดจากการคิดในพื้นที่ต่าง ๆ เกิดจากการได้เห็นแล้วเอามาประมวลผล ฉะนั้น ในสังคมที่เป็นสังคมสร้างสรรค์มันจะส่งเสริมพื้นที่ให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ปรับเปลี่ยนไปตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล แต่น่าเสียดายที่รัฐไม่เคยเห็นความสำคัญ แล้วยังผลักดันพื้นที่เหล่านี้ให้ภาคเอกชนไปทำโคเวิร์กกิ้งสเปซบ้าง ศูนย์การค้าบ้าง พื้นที่สวนสาธารณะกลับเป็นพื้นที่สำหรับคนที่ชอบออกกำลังกาย คนแก่ หรือเด็กเท่านั้นเอง ซึ่งแบบนี้เราจะพยายามแทรกเข้าไปในวิถีของมนุษย์ เราถึงพยายามผลักดันการออกแบบ Office in the Park และ Department Store in the Park เพื่อที่มันจะเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนได้ ให้พื้นที่เหล่านี้ถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า”

การทำงานคู่ขนานสู่สุขภาวะเมืองที่ดี

“การจะเกิดเมืองที่มีสุขภาวะดี เราต้องทำคู่กันนะ เช่นว่าเราเคยตั้งคำถามว่าทำไมคนไทยถึงไม่เดินหรือขี่จักรยานมาทำงาน คำตอบคือมันร้อนมาก ไม่ปลอดภัย วิถีชีวิตของคนไทยยังติดกับชุดสุภาพที่ผู้ชายใส่เนคไท เสื้อแขนยาว ผู้หญิงต้องใส่กระโปรง ใส่รองเท้าส้นสูง เพราะฉะนั้น ก็มีอยู่ 2 อย่างที่ต้องทำควบคู่กัน ในฟากหนึ่งคือการส่งเสริมทัศนคติของคน ส่งเสริมการใช้จักรยาน ส่งเสริมการเดิน แล้วคนไทยยังบูชาผู้หญิงผิวขาวสว่างโร่ มันจบตั้งแต่วิธีคิดแล้ว คงไม่มีผู้หญิงคนไทยยอมมาเดินตากแดดเพื่อให้ตัวเองสุขภาพแข็งแรง ขณะเดียวกัน งานของเราคือการคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีทางเดินที่มีร่มเงาอยู่ในระยะทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คน ปลอดภัย และใช้งานได้จริงออกมา”

ปรับทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรม

“ปัญหาส่วนใหญ่คือเรื่องของทัศนคติ เมื่อเราพูดถึงการมีเรื่องของสุขภาพที่ดี จุดหลักของเราคือเราจะต้องพลิกว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคน ทำให้เขามี physical activity ที่เหมาะสมในชีวิตการทำงาน เราไม่ได้หวังว่าเขาจะต้องออกกำลังกาย แต่เราหวังว่าเขาจะมีชีวิตประจำวันที่เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเหมาะสม เหมือนกับคนในสมัยโบราณที่ไม่ได้ออกกำลังกาย แต่ด้วยวิถีชีวิต เขาได้ใช้ร่างกายอย่างเหมาะสมอยู่แล้ว นี่คือสิ่งที่เราคงต้องคิดมากๆ

ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือว่าการขับเคลื่อนไม่ใช่เรื่องง่าย ข้างหนึ่งก็คือคนไม่ได้เห็นว่ามีความสำคัญ และอย่างที่บอกคือเขาคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ได้คิดว่าส่วนรวม เขาคิดว่ารัฐเตรียมแค่โครงสร้างพื้นฐานตามมีตามเกิดเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ เราไม่ได้ใส่เข้าไปในหัวของรัฐว่าประชาชนต้องมีสุขภาพดีด้วยการการบริการของรัฐ รัฐคิดแค่ว่าหน้าที่ของรัฐคือ เมื่อเจ็บป่วยมีบัตรทองรักษาโรคให้ แต่การส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี รัฐกลับคิดว่าการจะมีสุขภาพดีเป็นเรื่องส่วนบุคคล”

ผลิตผลของการทดลองคือการต่อยอดองค์ความรู้

“ในฐานะผู้สอนสถาบันการศึกษา สิ่งที่ผมได้คือองค์ความรู้ที่จะนำไปพัฒนาต่อ ไม่ว่าจะเป็นการสอนนักเรียน การเผยแพร่ความรู้นี้ต่อไป โดยความรู้ต่าง ๆ โดยหลักที่เราทำมาทั้งหมดคือการทำการประยุกต์แนวคิดของโลกเข้ามาสู่วิถีของคนไทย ทั้งความรู้ที่เป็นพื้นฐาน เช่น เราไปพบว่าคนในเมืองต่างๆ เป็นเสียชีวิตด้วยโรคติดต่อและอุบัติเหตุน้อยมาก ขณะที่เมืองไทยคนเสียชีวิตจากสาเหตุทั้งอย่างอย่างนี้เยอะมาก น่าจะเยอะที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ของโลก รวมถึงความรู้จากการทดลองจริง ๆ ด้วย”

https://www.facebook.com/HealthySpaceForum/videos/1057654304435397/

สุขภาพดีมาจากประชาชนออกแรง รัฐออกทุน

“เราเห็นต้นแบบอยู่หลายอันนะ เช่น กลุ่ม Mayday ที่ทำเรื่องของป้ายรถเมล์ กลุ่มของอาจารย์ปัทมา หรุ่นรักษวิทย์ ที่ทำเรื่องของพื้นที่พักอาศัย มีสถาปนิกหลายคนที่ออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มคนรายได้น้อย กลุ่มของ UDDC ที่ทำพื้นที่พัฒนาในย่านเมืองของประวัติศาสตร์ เราก็เห็นตรงนี้อยู่ แต่สิ่งที่เป็นความยากของการสร้างเรื่องของสุขภาวะ คือคนไทยยังมองว่านี่คือส่วนที่เป็นพิเศษ ต้องสวย ต้องดี ต้องฟรี ต้องอะไรต่าง ๆ มากมาย ซึ่งปัจจัยเหล่าคือความยากที่จะบอกว่าทำอย่างไรให้เขาใช้สะดวกและฟรีด้วย ฉะนั้น งานของพวกเราจะติดอยู่ตรงคำสุดท้ายว่าเขาจะใช้งานได้ฟรีได้อย่างไร นั่นจึงย้อนกลับมาว่าภาครัฐจะต้องเป็นคนสนับสนุน ด้วยภาษีอากรเพื่อทำให้ประชาชนได้รับการบริการฟรี มันจบลงที่จุดนี้แหละว่าการสร้างสุขภาวะเมือง ทำให้คนมีเรื่องของสุขภาพดี ประชาชนต้องออกแรง รัฐต้องออกทุน”

ทำวันนี้ให้ดีที่สุด

“โรงเรียนออกแบบสอนมาเสมอเลยว่า นักออกแบบจะต้องจบงานให้ได้ 100% นักออกแบบที่ดีจะต้องคิดว่าวันนี้เราทำได้จาก 100 อาจจะมีแค่ 10, 20, 30 แต่ชีวิตการออกแบบไม่ได้จบอยู่แค่วันนี้ อาจจะเป็นเราในวันต่อไปที่ทำเพิ่ม อีก 20 คนอื่น ๆ ทำเพิ่มอีก 5 คนอื่น ๆ ทำเพิ่มอีก 30 มันคือสิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้แค่ไหนในข้อจำกัดของเรา เราทำดีที่สุดในตัวข้อจำกัดที่เรามี”

สุขให้ง่าย ทุกข์ให้ยาก ข้อคิดสู่ความรื่นรมย์ในชีวิต  

“สำหรับผม ความสุขในการทำงานอยู่ที่ผลงาน การมีผลงานให้ชื่นใจกันบ้าง แล้วถ้าผลงานของเรา คนใช้งานแล้วเขามีความสุข เพียงแค่เล็ก ๆ เช่น เขาโพสต์ขึ้นมาว่า ทางเดินตรงนี้ดีนะ สวยดี แค่นี้เราก็แฮปปี้แล้วนะ คือผมรู้สึกว่าเราสามารถหาความสุขได้ง่าย ๆ และพยายามทุกข์ให้ยากเข้าไว้ ชีวิตจะมีความสุขเอง”

ปลายทางของการมีสุขภาวะดีคือการมีพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ

“เป้าหมายของผมไม่ได้อยู่ที่ตัวผลงานเป็นหลัก แต่สิ่งที่ผมหวังก็คือคนที่อยู่กับผมวันนี้ วันหนึ่งก็ต้องมาแทนผม เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่เขาจะต้องทำกันต่อไป ผมคงไม่ได้เป็นหัวหน้าศูนย์นี้ไปอีกนานสักเท่าไหร่หรอก แต่คนที่จะมาเป็นคนที่ทำงานต่อไป เขาจะได้รับเรื่องของประสบการณ์ แล้วก็พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เราได้คือคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนี้ วันนี้เราทำได้ไม่ถึงร้อยก็ไม่เป็นไร เพราะคนอื่น ๆ จะมาช่วยเติมเต็ม ในอนาคตเราไม่ได้หวังว่าผลงานของเราจะออกไปมากน้อยแค่ไหน แต่หวังว่าจะคนที่มีความคิดแบบเราจะช่วยกันผลักดันต่อไป โดยเราสนับสนุนเขาไปด้วย know how บางอย่างที่สามารถจะทำงานร่วมกันได้ แล้วก็สามารถที่จะเดินต่อไปได้ในหลักการที่ว่า ‘การมีสุขภาวะดี ต้องมีพื้นที่สาธารณะที่ดี’”

https://www.facebook.com/HealthySpaceForum/videos/226949428166171/

อนาคตของศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง

“เราคิดว่าสิ่งที่เราจะทำคือเรามีพื้นที่ แต่เราไม่ได้ถูกออกแบบพื้นที่เป็นอย่างดีที่จะส่งเสริมให้คนมีเรื่องของสุขภาวะที่ดีได้ ในปีนี้ เราจึงปรับวิธีคิดในการทำให้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง โดยเราจะทำให้มีเครื่องมือในการชี้วัดเรื่องของสุภาวะเมือง เริ่มไปจัดที่ภาคตะวันออกซึ่งมีปัญหาเรื่องของสุขภาวะ ทั้งสภาพอากาศ การอยู่อาศัยของคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นแรงงานอยู่จำนวนมาก เราต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะตรวจสุขภาพของเมืองได้ด้วยเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานโลก เราต้องการจะเผยแพร่ออกไปว่าเมืองของเรามีสุขภาพดีในมิติไหนบ้าง เช่น มิติของอากาศ คุณภาพชีวิต เรื่องของการเข้าถึงบริการของรัฐ และอื่น ๆ พยายามทำจุดนั้น เพื่อจะเป็นเครื่องมือต่อไปให้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชนมาเห็นว่า เมืองแต่ละเมืองมีปัญหาอะไรในเรื่องของสุขภาวะ สามารถประเมินงบประมาณได้ และใส่ความพยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องของสุขภาวะเมืองเข้าไปได้อย่างถูกต้อง”

ภาพ: Zuphachai Laokunrak, Facebook: HealthySpaceForum

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles